วาสนานิสัยของพระอรหันต์

บางคนเป็นผู้ที่ได้ศึกษามาก็พูดได้มาก บางคนเป็นผู้ได้ศึกษาน้อยก็พูดได้น้อย แต่เมื่อเวลาเกิดปลงแล้วก็ในจุดเดียวกันนั้นแหละ คือ ความสำเร็จอันเดียวกันนั้นแหละ แม้จะพูดมากๆ หรือแสดงไปมากๆ อันนั้นเป็นอุบาย เป็นไปได้ที่จะกว้างขวาง สำหรับท่านผู้มีวาสนามาก ก็แสดงดังนั้น ผู้มีอุปนิสัยหรือวาสนาน้อยก็พูดน้อย แต่ความสำเร็จก็เป็นอันเดียวกัน เหมือนอย่างในสมัยพุทธกาล พระจูฬปันถกะ เรียนพระพุทธคุณ 3 เดือนไม่ได้ จำไม่ได้สักคำเดียว จนพี่ชายขับไล่ เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าของเราเห็นอย่างนั้น จึงบอกมหาปันถกะผู้เป็นพี่ชาย บอกว่าไม่ใช่หน้าที่ของพระมหาปันถกะ เป็นหน้าที่ของเราตถาคต ผลสุดท้ายพระพุทธเจ้าของเราจึงแนะนำจูฬปันถกะ ให้เรียนคาถาเจริญภาวนา รโช หรณัง รชัง หรติ พอแนะนำให้ พระจูฬปันถกะก็เลยปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เมื่อเวลาที่ปฏิบัติตาม พระพุทธเจ้าก็แนะนำให้เอาผ้าสีขาวมา บอกให้เอามือคลำ ลูบไปลูบมา บริกรรม รโช หรณัง รชัง หรติ บริกรรมอยู่อย่างนั้น ลูบคลำผ้าขาวๆ ก็เริ่มดำเข้าๆ พอเมื่อเริ่มดำเข้า จูฬปันถกะก็น้อมเข้าพิจารณาใจของตนเอง ใจของเราก็คล้ำดำเข้าเหมือนอย่างเราเอามือลูบคลำผ้าขาว ใจของเราก็จะเหมือนกัน ถ้าล่วงไปในทางที่ก็จะเศร้าหมองคล้ำดำเข้า พอเมื่อพิจารณาอย่างนี้ ท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ไม่จำเป็นต้องท่องบ่นหรือสาธยายให้มาก หรือบางท่าน่บางคนก็สามารถที่จะท่องบ่นให้พิสดารกว้างขวาง แล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคล อุปนิสัยของแต่ละคน เมื่อเวลาสรุปแล้ว ก็สู่ใจเหมือนกัน ทุกสิ่งทุกอย่างก็สู่ใจ