การปฏิบัติไม่เป็นไปตามหนทางแห่งอริยมรรค หลวงปู่เล่าว่า พอได้บวชเป็นสามเณรแล้วก็ตั้งใจสำรวมระมัดระวังในสิกขาบท 10 ประการ ซึ่งเป็นศีลของสามเณรจะพึงศึกษาและงดเว้นจากข้อห้ามทั้ง 10 อย่างนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกโยมชาวบ้านนิมนต์ครูบาเข้าไปสวดมนต์ในบ้านหมด เหลือแต่สามเณรอยู่วัดด้วยกัน เพื่อนสามเณรด้วยกันเอาไข่ไก่มาต้มสุก แล้วมาเรียกหลวงปู่ไปกินข้าวกับไข่ต้มนั้นในเวลากลางคืน หลวงปู่ไม่ได้ไปกินด้วย กลัวว่าศีลจะขาดเพราะผิดศีลข้อวิกาลโภชนา เมื่อไม่กินด้วย หมู่สามเณรเหล่านั้นจึงอายัดคำขาดว่าไม่ให้บอกครูบา ถ้าขืนบอกครูบาจะต้องมีเรื่องกัน หลวงปู่ก็รับว่าจะไม่บอกครูบา คือถ้าครูบารู้ว่าเณรกินข้าวเย็น จะจับเณรมาแล้วเฆี่ยนด้วยไม้เรียวเพื่อให้ศีลจับใหม่ หมายความว่าอย่างนั้น บางวันโยมมาข้อร้องเจ้าอาวาสให้เอาพระเณรไปช่วยเกี่ยวข้าวบ้าง ไปช่วยขุดดินทำฝายกั้นน้ำบ้าง เจ้าอาวาสก็พาไปทำ พอเวลาเลิกทำงานตอนเย็น โยมก็เอาข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงพระเณรที่ไปช่วยทำงาน สำหรับตัวหลวงปู่เองเมื่อเวลาโยมเขาจะเลี้ยงข้าวเย็นก็ทำทีเป็นปวดถ่ายหนีเข้าป่าไป ไม่ยอมกินกับหมู่เพื่อนเพราะกลัวว่าศีลจะขาด พอหมู่กินเสร็จแล้วจึงออกมาแล้วก็กลับวัด เมื่อเห็นการปฏิบัติของหมู่พระเณรเป็นไปในทางที่ไม่ถูกตามธรรมวินัยจึงเกิดความวิตก เห็นว่าการกระทำที่ไม่ถูกตามหนทางอริยมรรคย่อมจะนำไปสู่ทุคติคือนรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเป็นภพภูมิที่ต่ำและหาความสุขมิได้โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย
เมื่อเห็นว่าหมู่เพื่อนปฏิบัติไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งได้ หลวงปู่จึงสำรวมระมัดระวังเอาเฉพาะตนเอง พยายามไม่ให้ด่างพร้อยในศีล และปฏิบัติสมาธิภาวนาไปโดยลำพังตนเอง ความดีและความชั่วเป็นเรื่องเฉพาะตัว ทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว เหมือนกับหว่านพืชลงไปในดิน หว่านพืชเช่นไรก็ได้รับผลเช่นนั้น
ครั้นอยู่มาถึงเดือน 5 คือ เดือนเมษายน พ.ศ. 2473 ขณะนั้นอายุ 14 ปี เกิดล้มป่วยด้วยโรคไข้รากสาด (ไข้หมากไม้ใหญ่) อยู่ที่วัดบ้านท่าเดื่อนั้นเอง อยู่มาวันหนึ่งไข้กำเริบหนัก จึงได้สลบไป ในขณะที่สลบไปอยู่นั้นได้ปรากฏนิมิตเห็นกองเพลิงใหญ่อยู่กองหนึ่งแดงโร่อยู่ เมื่อมองดูในกองเพลิงนั้นเห็นมีฆ้องใหญ่อยู่ลูกหนึ่ง และเงินสตางค์แดงอยู่ตรงกลางกองเพลิง มองดูกองเพลิงน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก เมื่อรู้สึกตัวขึ้นมาพิจารณาถึงนิมิตที่เกิดขึ้น จึงได้ความว่าเป็นเรื่องศีลวิบัติคือ ในขณะที่ป่วยไม่สบายอยู่นั้น เพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินสตางค์แดงที่โยมเขาถวายเวลาไปสวดมนต์ในบ้านตอนที่ยังไม่ป่วย เมื่อแบ่งกันแล้วนำมาใส่มือให้ จึงเกิดนิมิตเช่นนั้น คือผิดศีลข้อ 10 ของสามเณร เพราะสามเณรศีลข้อที่ 10 นั้น ท่านห้ามไม่ให้รับเงินและทองที่เขาสมมติซื้อขายกันได้ในประเทศนั้นๆ เมื่อเพื่อนสามเณรด้วยกันนำเงินมาใส่มือให้จึงเป็นศีลวิบัติ ในขณะที่ป่วยอยู่นั้น ผู้เป็นมารดาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะความรักและเป็นห่วงในบุตรของตน ได้หาหมอยาที่ชาวบ้านถือกันว่าเก่งสามารถในการรักษา มารักษาด้วยยารากไม้ฝนให้กิน อาการป่วยก็ไม่หายเพียงแต่ทุเลาลงบ้างเล็กน้อย ต่อมาอาการป่วยก็ได้กำเริบขึ้นอีกจึงทรุดหนักลง สลบตายไป ในขณะนั้นปรากฏว่ามีคน 4 คน รูปร่างใหญ่กำยำหามเอาไป ในขณะที่เขาหามไปนั้นรู้สึกว่ามีความกลัวเป็นกำลัง พอหามไปถึงพุ่มดอกพุดใหญ่พุ่มหนึ่ง เขาก็โยนเข้าไปในพุ่มดอกไม้นั้น ลุกขึ้นได้ก็วิ่งหนีกลับพอดีไปสะดุดตอไม้หยิกบ่อถอง (พืชชนิดหนึ่ง) จึงรู้สึกตัวขึ้นเห็นมารดานั่งร้องไห้อยู่ข้างๆ จึงถามมารดาว่า "ร้องไห้ทำไม" มารดาว่า "เมื่อกี้นี้ลูกได้ตายหยุดหายใจไป แม่รักลูกห่วงลูกจึงได้ร้องไห้" พอแม่บอกอย่างนั้นก็ได้สติดีขึ้นมาจึงกำหนดจิตนึกพุทโธเป็นคำบริกรรมไว้ในใจ การนึกถึงพุทโธเป็นคำบริกรรมนั้นได้ทำมาเป็นประจำตั้งแต่บวชมา และมีนิสัยนึกอย่างนั้นมาก่อน เพราะเคยได้ยินจากผู้เฒ่าผู้แก่พูดบ้าง และอุปัชฌาย์อาจารย์สอนให้ฟังบ้าง ในตอนบวชใหม่ๆจึงได้ทำมาเป็นประจำ หลวงปู่เล่าว่าถึงป่วยหนักขนาดนั้นก็ไม่ได้ประมาท ในขณะที่ได้สติขึ้นมานั้น อยากจะลุกขึ้นนั่งภาวนา พวกที่เฝ้าไข้ถึงประคองลุกขึ้นนั่งภาวนา ในขณะนั้นได้บริกรรมพุทโธจนออกเสียงเต็มแรงเพราะเวทนายังกล้าอยู่ ในขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนได้มองเห็นเงาตัวเองก็เกิดความกลัวขึ้น เขาจึงให้นอนลง เมื่อนอนลงแล้วก็ยังบริกรรมพุทโธออกเสียงเต็มแรง พวกคนที่ดูทั้งหลายเขาก็ห้ามไม่ให้บริกรรมพุทโธเพราะกลัวว่าจะผิดผีและของรักษาต่างๆ ในระยะนั้นคนทั้งหลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือผีไท้ ผีแถน ผีฟ้า เทวดาเป็นของรักษา กลัวว่าเสียงพุทโธนั้นเมื่อผีได้ยินแล้วผีจะโกรธให้ แม้พระพุทธเจ้าจะสอนให้เอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่ระลึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันเกษม เป็นที่พึ่งอันอุดม แต่คนทั้งหลายก็ยังเห็นผิดกันอยู่มาก ในขณะที่ป่วยอยู่นั้นไม่รู้ว่าญาติพี่น้องให้สึกแต่เมื่อไหร่ ต่อมามารดาได้นำหมอจากบ้านท่าแก ชื่อทิดหวด มารักษา อาการป่วยในครั้งนี้จึงหายขาดไป มารดาจึงยกวัวให้หมอตัวหนึ่งเป็นค่าคาย (ค่ารักษา) หลวงปู่เล่าว่าเมื่อหายป่วยในครั้งนี้แล้วระลึกทบทวนดูว่า ตัวเองเคยบวชแล้วป่วยหนักและก็ได้สึกโดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ว่าตนเองสึกแล้วอย่างนั้นก็ยังมีความตั้งใจไว้ว่าจะบวชอีก เพราะมีความพอใจในการประพฤติพรหมจรรย์
เมื่อหายป่วยพักฟื้นพอได้กำลัง ย่างเข้าเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2473 มารดาจึงได้พาอพยพครอบครัวจากบ้านบึงเป่ง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น กลับคืนไปบ้านคำพระ (กุดโอ) อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ดซึ่งเป็นบ้านเดิม การเดินทางก็ใช้เกวียนเทียมวัวเป็นพาหนะขนส่งสิ่งของ คนก็เดินตาม เมื่อเดินทางกลับถึงบ้านคำพระแล้ว ได้ทำเพิงเป็นที่หลบแดดหลบฝน เพราะตอนที่อพยพไปอยู่ที่บ้านบึงเป่งนั้น ได้ขายบ้าน แต่นายังไม่ขายให้ผู้อื่น พอกลับถึงบ้านเดิมแล้วก็เป็นฤดูทำนาพอดี ประกอบกับร่างกายที่หายจากป่วยไข้ก็มีเรี่ยวมีแรงขึ้น จึงได้ช่วยมารดาและพี่ชายทำนาหว่านกล้าปักดำจนเสร็จ ย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยว ข้างเหลืองเต็มท้องทุ่ง จึงได้ช่วยกันเก็บเกี่ยวข้างตามหน้าที่ของชาวนาผู้ที่พึ่งพากำลังของตัวเอง วันหนึ่งขณะที่เกี่ยวข้าวอยู่นั้น จิตได้นึกขึ้นมาว่า "เราได้บวชเป็นสามเณรครั้งหนึ่ง ที่เราได้สึกก็เพราะเราป่วยหนักจนไม่รู้สึกตัว จึงระลึกถึงความตายที่จะมาถึงตัวเอง ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรเพราะเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนนั่นคือ เราจะต้องตายเป็นแน่แท้ หาทางหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย จึงคิดว่าจะออกบวชอีก" แต่แล้วก็มาคิดถึงผู้ที่เป็นมารดาว่า บ้านเรือนที่อาศัยของมารดาก็ไม่แน่นหนาแข็งแรงเพราะเป็นบ้านชั่วคราว จึงคิดจะสร้างบ้านให้มารดาเสียก่อนจึงจะออกบวช พอเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จย่างเข้าฤดูแล้ง จึงได้ชวนพรรคพวกพากันไปเลื่อยไม้ที่บ้านแสนขุมเงิน เพราะสมัยนั้นบ้านแสนขุมเงินมีต้นไม้ใหญ่ๆมากมาย
|