รู้กายรู้ใจได้ชื่อว่ารู้ธรรม

ณ วัดป่าแม่เมืองหลวง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน
3 มีนาคม 2529

พวกเราเลิกกันเสียนะ ตัดผีกันทิ้งเสีย ไม่ให้มี ไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เท่านี้แหละจะเจริญรุ่งเรืองต่อไป นี้แหละ พวกเรานานๆมีครูบาอาจารย์มาโปรดพวกเรา ครูบาอาจารย์ของเราท่านสอนสืบเนื่องกันมาให้พิจารณาอะไร? พิจารณากาย สำคัญอยู่ตรงนี้ พิจารณากายให้ได้ ดูกายให้เป็นความเป็นจริงของกาย เพราะว่าธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า รวบรวมอยู่ที่กายของเราทั้งหมด ที่ใจของเราทั้งหมด สำคัญอยู่ที่นี้ แต่ส่วนอื่นๆมันเป็นปลีกย่อยออกไป เป็นส่วนของปัญญาที่เราจะหยั่งรู้หยั่งเห็น หรือตามรู้ตามเห็น เวลาความจริงแล้ว ต้นของมันจริงๆ อยู่ที่กายของเรา ใจของเรา เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้พิจารณาจุดนี้ให้มาก ให้มันเห็นความเป็นจริง มันสงบหรือไม่สงบ มันก็อยู่ที่ใจของเรา

เราต้องอาศัยความอดทนด้วย ขันติ อดทน เวทนามันเกิดมันเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา แต่ว่าเราสู้เอาทนเอา เอามันเลย ตายเลย เราคิดอย่างนั้น ตายก็ให้มันตายไปจริงๆ ขอมอบกายถวายชีวิตตลอดทั้งจิตใจของเราในพระรัตนตรัย เราไม่จำเป็นที่จะรีบกระเสือกกระสนอยากรู้อันนั้นอันนี้ ไม่จำเป็น ดูที่นี้ อยากรู้ก็รู้อยู่ที่นี้ รู้กายรู้ใจของเรา เห็นกายเห็นใจของเรา ทั้งรู้ทั้งเห็น ว่ามันเป็นธาตุอยู่อย่างนั้น เราจะมายึดเหนี่ยวเอาธาตุอันนี้ไว้ไม่ได้ มันไม่ได้เป็นสมบัติของเรา ธาตุอันนี้มันเป็นสมบัติของแผ่นดิน ของดินฟ้าอากาศ ไม่ใช่ตัวใช่ตนของเรา สมบัติของเราอันแท้จริง มันอยู่ที่กายที่ใจนี่แหละ ถ้าพิจารณากายเห็นกายแล้วก็รู้จักธรรมเห็นธรรม นี้เรียกว่ารู้ธรรม ถ้าพิจารณารู้เห็นใจของตนแล้วได้ชื่อว่ารู้ธรรม รู้นามธรรมหรือจะเรียกว่าอมตธรรมก็ดี

เพราะฉะนั้นธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า 84,000 พระธรรมขันธ์ สรุปลงที่กาย วาจา ใจ นี่ท่านให้พิจารณาจุดนี้ให้มากๆ มันหลงมาเกิดมาแก่มาเจ็บมาตายอยู่ ก็เพราะไม่รู้เรื่องของกายนั้น ไม่รู้เรื่องของใจนั้น เพราะเหตุนั้นเป็นเหตุให้ก่อชาติก่อภพอยู่ไม่ได้หยุดได้หย่อน เป็นนิสัยเป็นปัจจัยอยู่ตลอดมา ทำให้เสียเวลาอยู่ นี้ท่านจึงจัดชื่อว่าเป็นวัฏฏะ มันหมุนเวียนอยู่อย่างนี้ แต่ว่าขันธ์อันนี้น่ะมันทุกข์เหลือเกิน จะว่าทุกข์ก็ได้ จะว่าไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าใจของเราไปยึดถือเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์อยู่เมื่อนั้น ถ้าใจของเราไม่ไปยึดถือเรื่องของกายมันก็ไม่ทุกข์ ปล่อยวางกัน มันเป็นคนละอย่าง กายก็ต่างหาก ใจของเราก็ต่างหาก ไม่ใช่ของอันเดียวกัน ถ้าหากว่ามันเป็นของอันเดียวกัน มันก็คงจะไม่ทอดทิ้งไว้ในโลกนี้ มันก็คงจะติดตามไปจนตลอดสุคติสวรรค์นิพพานโน้น คงจะไม่มีค้างอยู่นี้ ที่มันไม่พ้นทุกข์ก็เพราะว่ามันแก้กายไม่ได้ ไม่รู้จักกายไม่รู้จักใจนั้น

เมื่อเวลารู้จักกายซึ่งเป็นสภาพความเป็นจริงแล้ว เห็นความแตกดับทำลายอยู่แล้วนั้น มันก็ปล่อยวางอันนั้น เรื่องของใจของเรา มันก็ไม่ไปเชื่อจิตสังขาร คือความปรุงแต่งอยู่ในสังขารนั้น ไม่เชื่อมัน ไม่ปล่อยไม่ไปตาม ฝึกฝนอบรมขัดเกลาหรือหล่อหลอมให้มันเป็นแท่งเดียวกัน เป็นใจดวงเดียว ให้เป็นอมตธรรม คือเป็นของไม่ตาย เอาในจุดนี้ ที่มันคิดมันปรุงนั้น มันเป็นเรื่องของจิตสังขารต่างหาก เรามันวิ่งไปตามสิ่งเหล่านั้น มันหลอกลวงเราอยู่นับชาตินับภพไม่ได้ ก็ล้วนแล้วแต่มันเป็นอยู่อย่างนั้นแต่ไหนแต่ไรมา เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ตัดเสียซึ่งกงกรรมอันนี้ ที่เรียกว่าจิตสังขาร มันหมุนอยู่ หรือวัฏฏะ มันก็เหมือนๆกัน เป็นอันเดียวกัน มันหมุนอยู่อย่างนี้ หมุนไม่รู้หยุด สิ่งที่หมุนไม่รู้หยุดนั้นเรียกว่าวัฏฏะ หรือจิตสังขาร ถ้ามันหยุดหมุนแล้ว มันรวมลงอยู่เป็นเอกัคคตาจิตแล้ว อยู่ในอมตธรรมแล้ว เป็นธรรมอันล้วนๆแล้วก็ไม่มีอะไรอื่น ไม่มีสมมติสัตว์บุคคล เป็นธรรมอันบริสุทธิ์หาที่จะเสมอเหมือนไม่มี

เราต้องการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น เราจึงอุตส่าห์พยายามฝ่าฟัน ละบ้านช่องของตนออกมา ละบิดามารดาออกมาเพื่อปฏิบัติ เพื่อต้องการอยากจะรู้สิ่งเหล่านี้ หรือรู้ธรรมอันเป็นจริงที่มีอยู่ในตัวของเรา ธรรมมีอยู่แต่ว่าเรามองข้ามไปซะ มันก็เลยไม่เห็นธรรม เราพยายามดูสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา รู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิต รู้ใจเห็นใจ เห็นอยู่ในที่นี้ รู้ความเป็นจริงอยู่ที่นี้ กายมันเป็นอย่างนั้น จิตมันเป็นอย่างนั้น ใจมันเป็นอย่างนั้น กายมันก็แตกดับทำลายอยู่อย่างนั้น เห็นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น ทั้งเราทั้งเขา ของผู้อื่นก็เห็นอยู่ เราก็เหมือนกันกับเขา ทำลายอยู่เหมือนกัน แต่ว่าไม่ทันถึงกาลถึงเวลามันก็ยังอยู่ มันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าถึงกาลถึงเวลามันแล้ว มันก็ไปเหมือนกันทั้งหมด มันเป็นอยู่อย่างนี้

เมื่อเวลาเห็นความเป็นจริงของกายอย่างนี้ มันก็เกิดนิพพิทา ความเบื่อหน่ายในกาย ไม่ได้ยึดกาย ไม่ถือกาย ละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา ความสงสัยดั้งเดิมในกายของเรา ไม่ได้ยึดไม่ถืออีก เพราะว่ามันหายความสงสัยแล้ว มันไม่มีความสงสัยในกายอีก เห็นความเป็นจริงอยู่อย่างนั้น นี้เรียกว่าเห็นธรรม รูปธรรมคือกาย นามธรรม ก็คือใจนั้นเอง นามธรรมอันนั้นมันมีอยู่ 2 นัย ที่เรียกว่าจิตสังขาร มันหมุนเวียนปรุงแต่งอยู่อย่างนั้น นี่ท่านสมมติขึ้นมา เรียกว่า จิตสังขาร ปรุงไม่ได้หยุดได้หย่อน เรียกว่าจิตสังขาร หรือจะเรียกว่า วัฏฏะ ก็ได้ เห็นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น มันหมุนอยู่อย่างนั้นตลอด นับชาตินับภพไม่ได้ที่เราเป็นมา ไม่ใช่ว่าแต่เฉพาะฆราวาสของเรา ตลอดทั้งผู้ที่พูดอยู่นี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันจึงมาเกิดแก่เจ็บตาย ยังไม่หลุดไม่พ้น ถ้ามันหลุดพ้นไปแล้วมันก็ไม่ได้มาพูดกันอย่างนี้ มันเป็นอยู่อย่างนี้ เมื่อเวลาเห็นความจริงอยู่อย่างนี้ เราก็จะเบื่อหน่าย

แต่ทีนี้เรามาพิจารณาใจของเรา ใจของเราเป็นของที่รู้ความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา รู้อยู่ตลอด ไม่ได้อ้างกาลอ้างเวลา รู้อยู่อย่างนี้ ทั้งหลับทั้งตื่น ตื่นก็รู้ หลับก็รู้อยู่อย่างนั้น นี้เป็นของจริงอยู่ เป็นสัจธรรม เรามาพิจารณาอย่างนี้ จึงจะเห็นความจริงของตัวของตัวเอง พระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้าของเราก็เหมือนกัน ท่านก็มารู้อยู่เห็นอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ติดไม่ข้องอยู่ ท่านเบื่อหน่ายในสิ่งเหล่านี้ เห็นทุกข์เห็นภัยในวัฏสงสาร ไม่ไยดีที่จะอยู่ ไม่ไยดีที่จะเกิดแก่เจ็บตายอยู่ ท่านเบื่ออย่างนั้น เมื่อเวลาเราพิจารณาเห็นสภาพความเป็นจริง มันเบื่อเอง มันปล่อยวางเอง ขอแต่ว่า พิจารณาให้ติดต่อกันเรื่อยๆไป นี้ถึงจะมีคุณค่าที่เราเกิดมาเพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์ เอาอย่างนี้

ถึงแม้ว่าเราไม่มีปัญญามาก ขอแต่ว่ารู้กายรู้ใจของเราเท่านั้นก็พอ เราไม่ได้ปฏิสัมภิทา คือความแตกฉานในอรรถธรรม เราไม่ได้ อันนั้นมันไม่เป็นอุปนิสัยหรือวาสนาของเรา แล้วแต่ท่านผู้ใดที่จะเคยปฏิบัติเอาไว้หรือเคยบำเพ็ญไว้ก่อนที่จะดับ แม้ไม่ได้ปฏิสัมภิทา ก็พ้นทุกข์ไปได้เหมือนกัน ขอแต่ว่ารู้ความจริงเท่านี้ก็พอ เห็นกายเห็นใจ เห็นความจริงอยู่อย่างนี้ ก็พอที่จะพ้นทุกข์ไปได้ ขอแต่ว่าอย่าประมาทเท่านั้น ถ้าหากว่าเราประมาทเมื่อใดก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป มาเกิดแก่เจ็บตายอยู่นี้แหละ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ประมาท ให้พิจารณาอยู่เรื่อยๆ

เหมือนอย่างที่เคยแสดงไว้ พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ พิจารณาความตายวันละกี่หน" พระอานนท์เถรเจ้าท่านก็ตอบว่า "วันละ 100 หน" "โอ้ อานนท์ยังประมาทอยู่ เราตถาคตพิจารณาความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก" นี้เราต้องพิจารณาให้มาก ลมหายใจเข้าออก พิจารณาอยู่อย่างนั้น เห็นความตายอยู่อย่างนั้น เห็นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น เห็นด้วยทัศนะทางใจ เห็นความเป็นจริง นี้แหละจึงจะเป็นหนทางที่จะนำตนให้พ้นทุกข์ได้ นอกเหนือจากนี้ไป มันก็เป็นความรู้รอบตัวสำหรับผู้มีสติปัญญามาก เพราะท่านได้บำเพ็ญเอาไว้ แต่ว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายก็ไม่เหมือนกัน บางท่านบางองค์ก็มีสติปัญญาเฉียบแหลม บางท่านบางองค์ก็มีสติปัญญาพอปานกลาง บางท่านบางองค์ก็ไม่มีปัญญา สอนคนอื่นก็ไม่ได้ เช่นตัวอย่าง สุกขวิปัสสโก เป็นต้น ท่านไม่สอนใครทั้งนั้น สอนตัวเองนั้นท่านก็พ้นจากทุกข์ได้เหมือนกัน

ผู้ที่ไม่มีปัญญาเพราะว่าท่านไม่ได้บำเพ็ญเอาไว้ เช่นตัวอย่าง พระจูฬปันถกะ ท่านไม่ได้บำเพ็ญเอาไว้ ท่านก็ไม่รู้อะไร แต่ว่าความพ้นทุกข์ของท่านก็มี สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ แต่ในครั้งพุทธกาล มีพระเถระเรียนพระไตรปิฎกจบทั้ง 3 ไตรปิฎก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พ้นทุกข์ได้ มีปัญญาขนาดไหนมีแต่ความรู้ในพระปริยัติธรรม มันก็ไม่สำเร็จ เรียนพระไตรปิฎกจบ ก็ยังไม่พ้นจากนรก ยังไปตกนรกได้ จูฬปันถกะไม่ได้เรียนจบพระไตรปิฎก ท่านดับขันธ์แล้ว เข้าสู่พระปรินิพพานได้ มันเป็นอย่างนั้น เราจะเข้าใจว่าท่านเทศน์แตกฉานในปฏิสัมภิทา หรือแสดงธรรมให้กว้างขวางได้ นึกว่าจะสำเร็จหรือพ้นจากทุกข์ อย่างนั้นก็ยังไม่ถูก ที่พ้นทุกข์ก็มี ที่ไม่พ้นทุกข์ก็มี มันเป็นอย่างนั้น ความรู้ในพระปริยัติ ความรู้ในพระปรมัตถ์นั้นก็อีกประเภทหนึ่ง ท่านได้สำเร็จไปเลยทีเดียว

พวกเราจะไปน้อยอกน้อยใจ ว่าเราไม่มีปัญญาแตกฉานอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปนึก ขอแต่ว่าขอพิจารณากาย วาจา ใจ ให้มันมากๆ ให้มันเห็นความเป็นจริงนี้เป็นต้นตอของสิ่งทั้งปวง หรือเป็นต้นตอของวัฏฏะอยู่ในตัวของเรา มันยึดมันถืออยู่ มันไม่อยากเจ็บไม่อยากป่วย เมื่อเวลามันเจ็บมันปวดขึ้นมาก็อยากหาทางหลบหลีก ไม่ต่อสู้ เช่นตัวอย่าง การนั่งภาวนา เมื่อเวลานั่งไปๆ เราตั้งสัตย์ไว้แท้ๆ ก็ยังให้เสียสัตย์ของเรา เป็นอย่างนั้น เราตั้งสัตย์ว่าเราจะนั่งเท่านั้นชั่วโมงเท่านี้นาที อย่างนี้ บางทีเวทนามันกล้าขึ้นมา สติของเรามันอ่อน ขันติความอดทนของเรามันก็อ่อน สู้ไม่ไหว ผลสุดท้ายก็เลยถอยออก เมื่อเวลาตนของตนตั้งสัตย์เอาไว้แล้ว ก็ต้องทำให้มันได้ตามสัตย์ที่ตั้งเอาไว้ ให้มันได้เสียก่อน ถึงแม้ว่าไม่ได้อย่างใดก็ตาม ขอให้มันได้ตามสัตย์ที่ตั้งเอาไว้ ยังเป็นการดี ยังเป็นการชำระความชั่วออกประเภทหนึ่งได้เหมือนกัน นี่เราอย่าไปหลงเชื่อ ถ้าหากว่าเราตั้งสัตย์ไว้แล้ว ถึงแม้ว่าใจมันจะไปจดจ่อว่า ถึงสัตย์แล้ว มันจะถึงก็ช่างมัน แต่ว่าเราอุตส่าห์อดทนมาฝ่าฟันได้เท่านี้ก็พอ ให้มันจริงอยู่อย่างนั้น นี้เรียกว่า สัจจะ-ความจริง มันมีอยู่อย่างนั้น เราทำเอาไว้แล้วก็ต้องให้มันจริง ถึงแม้ว่าไม่สำเร็จไม่เป็นอะไรก็ช่าง ขอให้ได้ตามความสัตย์ของเราเท่านี้ก็ยังเป็นการดี ต่อไปมันก็จะเป็นความสัตย์ความจริงของเราโดยตรง นี้เอาอย่างนี้

ไปอยู่ที่ไหน กลับไปบ้านไปช่องของเราก็พิจารณาอันเดียวนี้แหละ มาอยู่มาบำเพ็ญก็พิจารณาอันเดียวนี้แหละ สิ่งที่เราเคยพิจารณา มันจะวิตกวิจารไปค้นคว้าไปก็ให้มันไป เมื่อเวลาค้นคว้าออกข้างนอกก็พยายามย้อนกลับเข้ามาค้นคว้าข้างใน ดูกายดูจิต ดูข้างนอกดูข้างใน เห็นข้างนอกก็น้อมเข้ามาสู่ข้างใน เช่นตัวอย่าง มันเห็นอยู่ข้างนอก สมมติว่าเห็นซากศพคนตายอยู่ข้างนอก ก็น้อมเข้ามาสู่ตัวของเราเอง ตัวของเราก็เหมือนกันอย่างนี้ เป็นจริงอยู่อย่างนี้ ให้เห็นเป็นจริงอยู่อย่างนี้ ท่านจึงเรียกว่า โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามาสู่ตัว ให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา ให้เห็นเป็นจริงจนตลอด มันคลี่คลายออกให้เห็นชัดเจนในตัวของเราเอง ลืมตาก็เห็น หลับตาอยู่ก็เห็นอยู่ อย่างนั้น เมื่อเวลาตาเราเห็นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น ลืมตาขึ้นก็เห็นอยู่อย่างนั้น เมื่อเวลาเห็นความเป็นจริงอยู่ เราก็แยกออกไปอีก พิจารณาเอาปัญญาของเราแยกออกไป อนุมานเอาเสียก่อน

กายของเรามันประกอบด้วยอะไร ประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เหล่านี้ แยกออกไปเป็นส่วนๆ ลมมันก็ไปเป็นลม ดินก็ไปเป็นดิน ไฟก็ไปเป็นไฟ ให้มันเป็นจริง แยกออกไปอยู่อย่างนั้น พอเมื่อเวลาเราแยกออกจากกายของเรา แยกกายออกไปเป็นธาตุแล้ว ยังอะไรเหลืออยู่ ยังมีอะไร อะไรเป็นสิ่งที่แยกออกไป อะไรเป็นคนรู้ อะไรเป็นคนเห็น เราต้องน้อมเข้ามาหาผู้รู้ผู้เห็นนั้นนะ มันเป็นธาตุไปหมดแล้ว ยังเหลือแต่ใจของเราอย่างเดียว ใจอันบริสุทธิ์นั้นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น รู้ความเป็นจริงอยู่อย่างนั้น เห็นอยู่อย่างนั้น กลั่นกรองให้เป็นของที่บริสุทธิ์ ให้เป็นรูปเป็นก้อนขึ้นมา ถ้าหากว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของสมมติมาพูดเฉยๆ คำที่ว่า เป็นก้อนเป็นแท่งขึ้นมา มันเป็นเรื่องของสมมติกันเฉยๆ แต่ว่าความรู้อันนี้มันไม่มีอยู่ในสมมติ ใครสมมติก็จริงอยู่อย่างนั้น ใครไม่สมมติมันก็จริงอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้นท่านจึงว่าเป็นของจริง ใครสมมติก็จริง ไม่สมมติก็จริง มันเป็นจริงอยู่อย่างนั้น นี้ได้ชื่อว่าสัจธรรม เป็นของจริงอยู่อย่างนั้น

เราอย่าเพิ่งไปมองดูที่อื่น พยายามจดจ่ออยู่ในจุดนี้อย่างเดียว รู้อยู่ในที่นี้อย่างเดียว นี้จึงจะเป็นนักปฏิบัติหาความพ้นทุกข์ จะได้เรียกว่าเป็นผู้อุชุปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ญายปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม สามีจิปฏิปันโน เป็นผู้ปฏิบัติสมควร บุคคลผู้ปฏิบัติจะพึงรู้เฉพาะตัวนั้น เป็นเรื่องของปัจจัตตัง รู้เฉพาะตัว เห็นเฉพาะตัว เราจะหยิบเอาอวดอ้างคนอื่นไม่ได้ ไม่ใช่จะหยิบยกอวดอ้างด้วยวัตถุอะไร หยิบยกอวดอ้างได้ทางทัศนะภายในต่างหาก เราจะไม่น้อยใจ เราจะไม่เสียใจ ไม่ดีใจ มันภูมิใจอยู่อย่างนั้น เพราะว่าเราเห็นความจริงแล้วในตัวของเรา เวลามีความจริงอยู่ในตัวของเรา ของคนอื่นก็มีจริงอยู่อย่างนั้น แต่ว่าผู้ไม่ปฏิบัติเขาก็ไม่รู้ความเป็นจริงของเขา มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครจะรู้ก็เป็นเรื่องของผู้ปฏิบัติต่างหาก ไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้ไม่ปฏิบัติจะรู้ มันรู้เฉพาะผู้ปฏิบัติ

นี้เพราะฉะนั้น ขอเราอย่าประมาท พากันตั้งอกตั้งใจ หลายวันก็จะได้แยกย้ายกันไปอยู่คนละทิศละทาง ถึงแม้ว่าอยู่คนละทิศละทางก็เหมือนอย่างใกล้ชิดกัน เหมือนอย่างครั้งพุทธกาลหรือครั้งสมัยของครูบาอาจารย์ของเราปฏิบัตินั้นน่ะ ท่านก็แยกย้ายกันอยู่คนละทิศละทาง แต่ว่าไม่ประมาท ตั้งใจประพฤติปฏิบัติกันอยู่อย่างนั้น เคยพิจารณาอย่างไร อยู่ที่ไหนก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น จนให้มันเห็นความเป็นจริง

เราจะนั่งสงบอยู่สักครู่ก็เอา ในวันนี้เป็นวันพระ สักชั่วโมงก็เอาหรือสามสิบนาที ชั่วโมงหนึ่งก็ได้ เราจะนั่งท่าไหน สบายก็เอา มันจะเห็นทุกข์ไหม นั่งดูทุกข์นะ อย่าส่งจิตไปหากัน ต่างคนต่างสำรวมจิตของตน อย่าส่งจิตไปหาคนโน้นคนนี้ คนนั้นจะเป็นอย่างไร อย่าเพิ่งนึกเพิ่งคิด อย่าเพิ่งส่งไป สำรวมระมัดระวัง อย่าให้มันมีอาการออก ให้รู้อยู่กับคำบริกรรมนั้น ถ้าส่งจิตออกไปมันจะเป็นการกระทบกัน

(อมรเดช กิจทรัพย์ทวี - ถอดเทป)