ขันธ์ 5 เป็นภาระอันหนัก
28 กันยายน 2528
ในขณะนี้จิตของเราติดอยู่ในอารมณ์สิ่งไหน เราต้องตรวจดู ถ้าหากว่าจิตของเราติดอยู่ในอารมณ์ที่น่ารัก ให้พึงทำความรู้เท่าว่าจิตของเราลำเอียงไปเพราะความรัก ก็ให้ถอนจิตของเราออกจากอารมณ์ที่น่ารักนั้น หรือจิตของเราติดอยู่ในอารมณ์ที่น่าชัง ก็พึงทำความรู้เท่า ว่าจิตของเราลำเอียงไปเพราะความชัง ก็ให้ถอนจิตของเราออกจากอารมณ์ที่น่าชังนั้นเสีย ไม่ให้จิตจดจ่ออยู่ที่นั้น เมื่อหากว่าจิตของเราจดจ่ออยู่ในสิ่งนั้นแล้วเราต้องรู้จัก พึงนึกว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ เมื่อเวลาเรานึกอย่างนี้แล้ว เราต้องสังเกตดูใจของเรา เชื่อมั่นหรือไม่ว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่นี้หรือเปล่า เราต้องดูใจของเรา เชื่อไหม ตกลงใจหรือเปล่า เมื่อหากเราตกลงว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจจริงๆแล้ว ตั้งสติกำหนดดูอยู่ที่นั้นเลย ไม่ต้องส่งไปที่อื่น ไม่ต้องส่งไปในสัญญาอารมณ์อะไรอีก ให้จดจ่ออยู่ที่นั่น เมื่อหากว่าเรามีสติจดจ่อบริกรรมอยู่ในจุดนั้นแล้ว เราก็ประคับประคองอยู่ จนกว่าใจของเรานั้นจะตกลงสงบลงได้
เมื่อหากว่าใจของเราขาดจากสัญญาอารมณ์แล้ว มันจะรวมลงไป มีอาการต่างๆกัน บางคนก็มีอาการเย็นสบายลงไปก็มี แล้วแต่จริตนิสัยของคนเรา เมื่อหากว่าบางคนนั้นก็มีอาการร้อนวูบลงไปเลย อย่างนี้ก็มี พอเมื่อเวลาร้อนวูบลงไปก็มีอาการสบายขึ้นอย่างนั้น บางคนก็มีอาการวับแวบเข้ามา ก็รู้สึกว่าสบายไปเป็นขณะ เรียกว่าขณิกสมาธิ แล้วถอนออกมา อันนี้เพราะเหตุที่ว่าสติของเราตามไม่ทัน จิตของเราก็ถอนออก ถ้าหากว่าสติของเราตามทันแล้วตามลงไป จิตของเราก็ไม่ถอน รวมลงไปเลย อยู่ในจุดเดียว คืออยู่ที่ตรงหน้าอกของเรานั้นแหละ หรือจะอยู่ในที่ไหนก็แล้วแต่ แต่ว่าให้เรารู้จักจุดที่อยู่เท่านั้นแหละ แล้วแต่เราจะหมายเอา จะหมายที่ตรงลิ้นปี่ของเราก็ได้ ลิ้นปี่ คือที่หน้าอกที่อกร่องของเรานั้น บางทีก็อยู่ที่นั่นแหละ เอาจุดนั้น เมื่อหากว่าอยู่ในจุดเดียวกันนั้น ไม่ให้เคลื่อนจากฐานที่นั้น จนกว่าว่าใจของเรานั้นจะรวมลงสนิท ไม่มีอารมณ์อะไรที่มาผ่าน ที่มาเกิดขึ้นภายในใจของเรา มีแต่ความสุขล้วนๆ หรืออีกอย่างหนึ่ง เมื่อเวลารวมลงไปแล้ว เกิดแสงสว่างขึ้นมาแล้ว เราอย่าเพิ่งลืมตาดู ถ้าหากว่าเราลืมตาดูจิตของเราก็ถอนจากสมาธิเพราะขาดสตินั่นเอง ให้พึงทำความรู้เท่าว่า ในขณะนี้จิตของเรารวมเป็นสมาธิ เราจะรักษาอยู่ในที่นี้ ในความสงบอันนี้ ไม่ให้ถอนจากที่นี่ รักษาอยู่อย่างนั้นตลอดไปเสียก่อน
เมื่อเวลาสงบได้อย่างนี้แล้ว เราไม่ต้องนึกต้องคิดอะไรอีก ให้รู้อยู่เฉยๆ ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น มันจะเกิดอะไรขึ้นมา เมื่อหากว่ามันรวมลงไปแล้ว บางทีก็เกิดอสุภกรรมฐานก็มี อสุภกรรมฐาน เกิดเป็นสัตว์ตายที่ขวางหน้าเราอยู่ก็มี หรือเป็นคนตายที่ขวางหน้าเราอยู่ เมื่อเวลาเกิดขึ้นมาอย่างนี้ เราก็กำหนดดูอยู่เฉยๆไม่ต้องคิดอะไร กำหนดจิตรู้อยู่เฉยๆ อันนี้เป็นเรื่องของคนตาย เราก็ดูอยู่เฉยๆ เมื่อยังไม่หาย จิตของเราก็รวมสงบดี ไม่ฟุ้งซ่านอย่างนี้เราก็วิตก ถามลองดู อะไรที่ขวางหน้าของเราอยู่นี้เป็นซากศพ เมื่อหากว่าซากศพนั้นยังไม่เปื่อยเน่า เราต้องวิตกถามลองดูว่า เอ้า มันจะเปื่อยเน่าเป็นไหม เราต้องนึกอยู่เฉพาะใจของเรา พอนึกแล้วก็ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปคิดอย่างอื่น ถ้าหากว่าสติของเรามีกำลัง สมาธิของเรามีกำลังเพียงพอแล้ว อย่างนี้ อสุภกรรมฐานซากศพนั้นก็จะเปื่อยออก เนื้อหนังเหล่านั้นก็จะเปื่อยออกจากร่างกายของเรา จะเหลือแต่โครงกระดูก อย่างนี้ก็มี เมื่อหากว่าเป็นเช่นนี้ เราอย่าเพิ่งไปหลง อย่าเพิ่งไปลืม อย่าเพิ่งไปกลัว ให้รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปตกประหม่าว่า จะเป็นผีหลอก อย่างนั้น อย่างนี้ อย่าไปคิด อย่าไปนึก อันนี้เรียกว่า สังขารมันไม่เที่ยง กายของเรานั้นน่ะมันไม่เที่ยง มันแปรปรวน ล้วนแล้วแต่จะแตกดับทำลายทั้งนั้น เรามาทำความรู้เท่าเรื่องของกายของเราอย่างนี้อยู่ตลอดและทีนี้ ส่วนเหล่านั้นมันหายไป ยังเหลือแต่ความรู้อย่างเดียว คือดวงนามธรรมนั่นเอง คือดวงใจอันบริสุทธิ์นั่นแหละ
ดวงใจอันบริสุทธิ์ล้วนๆจะใสบริสุทธิ์อยู่อย่างนั้น สว่างไสวอยู่อย่างนั้น และทีนี้เราค่อยรักษาประคับประคองอยู่ อย่าให้หายไป แต่ว่าก่อนที่จะรวมเป็นสมาธิได้ เราต้องผ่านเวทนาไปเสียก่อน ต่อสู้เวทนา อย่าให้สติของเราเผลอได้ เมื่อเวลามันเจ็บ เมื่อเวลามันปวดขึ้นมา ปวดหลังปวดเอวมันก็เกิดขึ้นมา เราก็อดทนเอา เมื่อเวลาอดทนไปได้ ผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้แล้ว ความสงบอันนั้นสงบลงไปอีก ส่วนเวทนามันก็หายไปเลย ไม่มีปรากฏอยู่ในตัวของเรา มีแต่ความสบายล้วนๆนั่นแหละ แต่ทีนี้เราต้องรักษาอยู่เสียก่อน ต่อแต่นั้นไป ส่วนปัญญาของเราจะเกิดขึ้นมา พิจารณาสิ่งเหล่านี้ให้เห็นแจ้งประจักษ์อยู่ภายในใจของเรานั้นเอง นี่ให้รักษา อย่าปล่อยสติของตน เอ้า ต่อแต่นี้ไปก็ให้สงบ นึกถึงอยู่แต่คำบริกรรม จนกว่าจะถึงเวลาที่จะหยุด ถ้าหากว่าเราจะพลิก ก็อย่าไปเผลอสติ คอยระมัดระวัง อย่าให้เสียงกระทบกระเทือนกัน เดี๋ยวก็กุ๊กกิ๊ก เสียงไม่ค่อยสงบ มันก็กระทบกระเทือนกัน จิตก็ไม่สงบได้ เอาตั้งใจกันทุกคน เพราะว่าเราเป็นผู้มีความหวังดี เมื่อหากว่าเรารักษาได้ดี มีสติเพียงพอแล้วก็จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
(ตอนนี้ให้ทุกคนนั่งภาวนา)
ทุกขสัจจ์ ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่อื่น อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อเวลาทุกข์ มันเกิดขึ้น เขาจึงว่าทุกข์อยู่ในเบญจขันธ์ สมุทัย คือ ความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่น เรียกว่า สมุทัย เมื่อเวลายึดมั่นถือมั่น มันก็เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา นิโรธะ คือ ความดับทุกข์ ดับไม่ให้มันเกิด ไม่ให้มันมี ไม่ให้ปรากฏอยู่ที่ใจ มีแต่ความสุขล้วนๆอยู่ที่ใจ นี่ท่านเรียกว่า นิโรธะ คือความดับทุกข์ เมื่อเวลาดับทุกข์ได้ มรรค เกิดขึ้น คือความพอใจ ความเต็มใจ หาสิ่งใดที่จะเปรียบเสมอเหมือนไม่มี นี่เรียกว่า มรรค คือความถึงพร้อม ถึงพร้อมด้วยความพอใจ ด้วยความเต็มใจ ไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกล ค้นคว้าอยู่ที่ใจของตัว ที่กายของตัว ให้เห็นจริงแจ้งประจักษ์อยู่ในที่นี้ เพราะเหตุนี้ จึงฝึกจึงหัดกัน เพื่อให้รู้ ให้เป็น ถ้ายังหึงหวงยังยึดถืออยู่ เรียกว่าสักกายทิฏฐิ คือความถือมั่น ถือมั่นในกาย ไม่อยากให้เจ็บ ไม่อยากให้มันปวด มันก็เป็นธรรมดาอยู่แล้ว ถ้ามีชาติ ความเกิด ต้องมีชรา พยาธิ มรณะ ถ้าความเกิดเป็นทุกข์ พยาธิคือความเจ็บไข้ ก็เป็นทุกข์ มรณะ ความตายก็เป็นทุกข์ เป็นทุกข์อยู่ที่ใจ รวมอยู่ที่ใจทั้งนั้น ขันธ์ทั้ง 5 มารวมกัน รวมเป็นทุกข์อยู่ที่ใจแห่งเดียว เป็นภาระหนัก ภารา หเว ปัญจักขันธา ภารา หโร จ ปุคคโล ขันธ์ทั้ง 5 เป็นภาระอันหนัก หนักจนถึงตาย
เพราะเหตุนี้ เราจึงยังมีความรักกายอยู่มานานแล้ว กายมันเป็นอสรพิษกัด ตอด ทำลาย อยู่เสมอ เมื่อเวลามันกัด ตอด แล้วมันก็ทุกข์ไปถึงใจ ทำลายจนถึงใจ เมื่อเวลาจะทำสิ่งใดก็ทำไม่ได้ จะให้คนอื่นทำให้ก็ไม่ได้ จะให้ลูกให้หลานทำให้ก็ไม่ได้ จะให้สามีภรรยาทำให้ก็ไม่ได้ มันต้องทำโดยเฉพาะตัว เพราะเหตุนั้น ท่านจึงว่าเป็นของเฉพาะตัว เป็นเรื่องปัจจัตตัง คนอื่นแก้ไขไม่ได้ เราเองตัวเองเป็นผู้แก้ไขเอง จะเรียกร้องให้คนอื่นมาแก้ไขไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัยจะเรียกร้อยคนอื่นมาช่วย ในขณะที่เราจะตาย ในเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ จะเรียกร้องลูกหลานมาช่วยก็ไม่ได้ จะเรียกภริยามาช่วยก็ไม่ได้ จำเป็นเราเองเป็นผู้ต่อสู้เสวยทุกขเวทนาอยู่อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงมาพิจารณาเห็นสภาพของความเป็นจริงของกายอย่างนี้ พระองค์จึงเบื่อหน่าย ไม่อาลัย พวกเรายังไม่เบื่อ ยังไม่หน่ายทุกข์ในเบญจขันธ์อันนั้น ยังยินดีอยู่เรื่อยไป เพราะเหตุนั้น เราจึงไม่หาทางบำเพ็ญตนเพราะความโง่ ความเขลา ความหลง ไม่รู้จักหาหนทางที่จะแก้ไข ไม่รู้จักหนทางที่จะหนีจากทุกข์ ปล่อยให้ทุกข์บีบบังคับหรือขี่คอเราอยู่ตลอดวันตาย
พระพุทธเจ้าของเราท่านรู้จัก ท่านจึงปล่อย จึงวาง จึงทอดอาลัย ไม่ไยดีในสังขารนั้น ในเบญจขันธ์อันนี้ เมื่อเวลาท่านปล่อยวางได้แล้ว ท่านไม่อาลัย ท่านไม่วกเวียน กลับมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย ดับเสียซึ่งนิสรทุกข์ทั้งปวง พ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ยึดถือ ไม่ได้ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวง เมื่อเวลาบุคคลใดไปยึดถือในสิ่งใด ย่อมเป็นทุกข์ในสิ่งนั้น ทุกข์ที่กายของตนแล้วก็ยังไม่พอ ทุกข์เข้าไปตลอดจนถึงใจจนเงยคอไม่ขึ้น ของตัวมีเบญจขันธ์ 5 ก็หนักอยู่พอแรง มิหนำซ้ำยังหาเอามาเพิ่มอีก เอาของภรรยามาเพิ่มเข้าอีก ก็เลยเป็นขันธ์ 10 ลูกเกิดขึ้นมาอีกคนหนึ่ง ก็เลยเป็นขันธ์ 15 รวมกันเข้าได้หลายคน ก็ยิ่งหลายขันธ์เข้า เลยกลายเป็นทุกข์แบกหามอยู่ตลอด แต่ถึงอย่างนั้นพวกเราก็ยังหลง ไม่รู้ตัวว่าเป็นทุกข์ ยังยินดีนั่น จัดได้ชื่อว่า เป็นความหลงของตัว เคยเสวยอยู่อย่างใด ก็เสวยอยู่อย่างนั้น แบกทุกข์อยู่อย่างนั้น ได้รับผลเสวยทุกข์อยู่อย่างนั้น
ใช้ปัญญาพิจารณาค้นคิดในเบญจขันธ์นั้น ให้รู้จักความเป็นจริงของกาย อาการ หรือกิริยาของจิต ที่มันแสดงอยู่ตลอดเวลา ไม่เลือกว่ากลางวัน ไม่เลือกว่ากลางคืน แสดงอยู่อย่างนั้น ส่วนธรรมะของพระพุทธเจ้า ก็แสดงอยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้ เราไม่เข้าใจสัจธรรมความจริงที่แสดงอยู่ ทุกข์ก็แสดงอยู่อย่างนั้น อริยสัจ 4 แสดงให้เห็นอยู่อย่างนั้น นั่งก็นั่งทับอริยสัจ นอนก็นอนทับอริยสัจ เดินก็เดินเหยียบอริยสัจ ยืนก็ยืนเหยียบอริยสัจทั้งนั้น ล้วนแล้วแต่ทุกข์ทั้งหมดนั่น เราต้องเห็นอยู่ในที่นี้ เวลาเห็นความเป็นจริงมันเกิดเบื่อเอง ให้เห็นด้วยทัศนะทางใจ ไม่เห็นด้วยการคาดหมายหรือวาดมโนภาพ การวาดมโนภาพเอาเฉยๆ นี่มันไม่เบื่อ ให้มันเห็นด้วยทัศนะทางใจ ทัศนะด้วยปัญญา ใจที่ขาดจากสัญญาอารมณ์แล้ว มันเห็นความเป็นจริงจนเบื่อหน่าย จนเกิดน้ำตาไหล เห็นว่าเกิดมาเป็นทุกข์ เอาถึงขนาดนั้นมันจึงเบื่อ ถึงอย่างนั้นมันก็ยังอยากจะหลงอีก ถ้าหากว่าเราเผลอเมื่อใดมันก็ต้องเข้าครอบงำจิตใจของเรา เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้เผลอ ให้มีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอ
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พุทธบริษัทฝึกหัด เผื่อผู้มีอุปนิสัยวาสนา ก็จะได้พบได้เห็นความพ้นทุกข์ ถ้าผู้ที่ยังไม่มีอุปนิสัยหรือวาสนาน้อย นั้นก็พอที่จะมีทางที่จะได้ผ่านให้พ้นไปเหมือนกัน เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ให้ประมาท ให้พยายามทำอยู่เสมอ ปฏิบัติอยู่เสมอ จะเกิดเป็นนิสัย เป็นปัจจัย เป็นแนวทางของพระโยคาวจรเจ้าที่จะดำเนินไปสู่สุคติ น่าสังเวช สลดใจ เกิดขึ้นมาด้วยความทุกข์ ความยาก นับแต่อยู่ในครรภ์ของมารดา ทุกข์มาจนตลอด คลอดออกมาก็ยังมาเป็นทุกข์อยู่อีก ก่อนที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาได้เป็นเวลาตั้งนานหลายปี จึงจะพึ่งตนเองได้ แต่ถึงอย่างนั้นบางคนก็ยังมีปัญญาน้อยหรือวาสนาน้อย ก็จำเป็นต้องอาศัยผู้เป็นบิดามารดา นี่พูดถึงภายนอก ผู้ที่มีอุปนิสัยวาสนา ก็พอที่จะพึ่งตัวเองได้ นี่มันยุ่ง มันยากถึงขนาดนั้น แต่ว่าเราไม่มีสติและก็ดูเหมือนมันไม่ทุกข์ไม่ยากอะไรกัน ถ้าเราตั้งสติเมื่อใด มันก็เห็นทุกข์เมื่อนั้น เหมือนอย่างเรานั่งสมาธิในวันนี้ ถ้าอยู่ปกติธรรมดาก็ไม่รู้ว่า เป็นทุกข์เป็นร้อน ไม่มีเจ็บ ไม่มีปวด เมื่อเวลานั่งสมาธิเข้าก็รู้สึกล่ะ มีสติขึ้นมา เมื่อเวลามีสติขึ้นมาก็เห็นทุกข์ ทุกข์เกิดขึ้นพร้อมกัน นี่ถ้าเราไม่มีสติแล้วก็ไม่เห็นทุกข์อะไร ถึงแม้ว่าทุกข์ก็เปลี่ยนอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน หรือนั่งก็เหยียดไป เปลี่ยนอิริยาบถไป ทุกข์ก็หายไป เดี๋ยวก็เกิดขึ้นมาอีก ไม่ได้หยุดไม่ได้หย่อน มันไม่หายจากเราได้สักที เชิญเถิดพวกเราทั้งหลาย จงปฏิบัติเอาเถิด เป็นโอกาสที่ดี ที่พวกเราจะบำเพ็ญคุณงามความดี สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาดี
เอ้า ผู้ที่ไม่มีความปรารถนาดี ก็สู้ทุกข์ ทำบาป ปาปะธรรม ใจตัวได้รับความเร่าร้อนตลอด เกิดขึ้นมาก็เป็นคนยากจนเข็ญใจ เป็นคนที่มีโรคเบียดเบียนร่างกายมาก...สำหรับคนที่ทำปาณาติบาต คนที่มีเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่มีโรคเบียดเบียนร่างกาย อุตส่าห์พยายามทำให้ได้ อย่านิ่งนอนใจ ทำแค่เพียงชั่วโมงเท่านี้ก็ยังดี เท่านี้มันก็เห็นทุกข์อยู่แล้ว ยังถือว่าเป็นทุกข์ เอากายบูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระธรรม บูชาพระอริยสงฆ์ บูชาอย่างที่พวกเราบูชา รักษาศีล เจริญภาวนา ปูชา จ ปูชนียานัง เอตัมมังคลมุตมัง นี่แปลว่า การบูชาเป็นมงคลอันประเสริฐ การบูชาด้วยอามิสบูชา นี่เป็นอย่างหนึ่ง การปฏิบัติบูชา ก็เป็นอย่างหนึ่ง อามิสบูชา ได้แก่ การบูชาด้วยข้าว น้ำ โภชนา อาหาร ผ้าท่อนท่อนสไบ หรือดอกไม้ธูปเทียน นี่เรียกว่าอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา หมายถึง การปฏิบัติอย่างที่พวกเราพากันกระทำอยู่อย่างนี้ การนั่งสมาธินี้ เรียกว่า ปฏิบัติบูชา เป็นปรมัตถะ เอากายบูชาเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอามิส อามิสนั้นเป็นของภายนอก ปฏิบัติบูชานั้นเป็นของภายใน พร้อมทั้งกาย วาจา และใจ เวลาเราลงมือทำไปแล้ว ย่อมเป็นผลที่เราได้ ไม่เสียหาย ไม่มีใครที่จะทำลายหรือลบล้างได้ เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของเราโดยเฉพาะ ให้เราเข้าใจอย่างนี้
กิจฺโฉ มนุสฺส ปฏิลาโภ การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นลาภอันยิ่งใหญ่ กิจฺฉํ ธมฺมสฺสวนํ การที่จะได้ยิน ได้ฟังธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นั่นก็เป็นของยาก จึงถือว่าเป็นลาภอันหนึ่ง เมื่อเวลาเราได้ยินได้ฟังก็เป็นลาภอันสำคัญ หรือเป็นโชคอันหนึ่ง หรืออีกนัยหนึ่งท่านว่า ยากที่จะได้ยิน ได้ฟัง กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺปาโท การที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะหน้านั้นก็เป็นของยาก นี่นับแต่เราเกิดขึ้นมา ไม่ว่าแต่ยุคนี้เลย ก็ไม่เห็นใครเห็นพระพุทธเจ้า เห็นแต่รูปที่ถ่ายออกมา เหมือนหรือไม่เหมือน ก็ว่ากันไปเลย แต่ว่าตัวจริงนั้นจะเป็นอย่างไร เรายังไม่ทราบ นี่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นของยาก แต่ว่าพวกเราได้มาพบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า หรือศาสนาของพระพุทธเจ้าก็เป็นลาภของพวกเราอยู่แล้ว
ให้พวกเราภูมิใจ ดีใจ เราได้ประพฤติปฏิบัติ ได้ยิน ได้ฟัง คำสอนของพระพุทธเจ้า ถึงแม้ว่าเราไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าบุญวาสนาของเรามี เราประพฤติปฏิบัติศีลธรรมอยู่แล้ว เราก็จะได้ไปร่วมศาสนาของพระศรีอาริยะในชาติหน้าในภพหน้า หรือจะได้เป็นพุทธบริษัทของพระศรีอาริยะ นี่เราปฏิบัติเพื่อต้องการอยากไปร่วมศาสนาของพระศรีอาริยะ แต่ว่าคนในสมัยนั้นน่ะ อายุยืน 80,000 ปี อายุของคนเท่ากับศาสนาของพระศรีอาริยะ คนเราเหมือนกันทั้งหมด ไม่มีใครสวย ใครขี้ร้ายขี้เหร่ ดูคนเดียวก็เหมือนกันไปทั้งหมด คนยุคนั้น ในศาสนาของพระศรีอาริยะ ก็น่าปรารถนาเหมือนกัน หรือถ้าหากว่า เราประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ถ้าไม่พ้นทุกข์ในชาตินี้ ก็จะได้ไปพบพระไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยะ ในอนาคตที่จะมาข้างหน้า ขอแต่ว่าเรารักษาคุณงามความดีเอาไว้ อย่าให้เสื่อม เมื่อหากว่า เราทำเอาไว้แล้ว เราก็จะระลึกได้ เกิดชาติใด ภพใด ถ้ายังมีการเกิดอยู่ เราก็จะได้ประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อไป นี่น่าภูมิใจ ทำเอาเถิด ดีกว่าที่พวกเราจะไปตกนรกน่ะ แต่ไฟในมนุษย์ก็ยังร้อนอยู่แล้ว ไฟในนรกนั้นมันร้อนเหลือเกิน หาที่เปรียบไม่ได้ หรือใครอยากลองดู อยากไปตกนรกลองดู ตกนรกในปัจจุบันนี้ลองดูเสียก่อนว่า มันจะร้อนแค่ไหน ลองดู เอาหม้อ กระทะใหญ่ๆมาต้มน้ำร้อนให้มันเดือดขึ้นมา ลองกระโดดลงไป ลองดูมันจะเป็นยังไง มันจะร้อนแค่ไหน อันนี้ท่านยังว่ายังไม่ร้อนเท่าเหมือนไฟในนรก
ในสมัยครั้งหนึ่งยังมีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ไปบำเพ็ญอยู่ในป่า แล้วก็มีทายกปลูกกุฎีให้ ท่านก็บำเพ็ญอยู่ในที่นั้น พอเมื่อเวลาบำเพ็ญอยู่ ในขณะนั้น ท่านก็เดินจงกรม นั่งภาวนา เป็นประจำมิได้ขาด อยู่มาวันหนึ่ง มีนายพรานคนหนึ่งหาล่าเนื้อ หรือทำลายสัตว์อยู่ในป่านั้น เมื่อเวลาทำลายสัตว์ มีการยิงนกบ้าง ทำเป็นบ่วงรัดขาก็มี รัดคอก็มี ครั้นอยู่ต่อมาในวันหนึ่ง พระมหาเถระท่านเดินจงกรมเหนื่อยแล้ว ท่านก็หยุด พอเมื่อเวลาท่านหยุดแล้ว ก็มาสรงน้ำ เมื่อเวลาท่านสรงน้ำเสร็จแล้วน้ำก็หมดตุ่ม ท่านก็เลยตักน้ำมาใส่ตุ่มไว้ให้เต็มเหมือนเดิม แล้วท่านก็เดินขึ้นไปบนกุฎี ไปนั่งพิจารณาทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อยู่ พอเมื่อเวลาท่านไปนั่งพิจารณาทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อยู่แล้ว นายพรานคนนั้นก็เดินออกมาจากในป่า ในขณะนั้นนายพรานกระหายน้ำมาก พอเดินออกมาหาน้ำที่จะดื่มจะทาน พอเดินไปดูที่ตุ่ม น้ำที่เต็มเปี่ยมอยู่นั้น ยังมองไม่เห็นน้ำเลย ก็เลยเปล่งวาจาออกมาว่า "สมณะขี้เกียจ สมณะขี้คร้าน น้ำก็ไม่ตักมาใส่ตุ่ม" พอเมื่อเวลาท่านได้ยินเสียงนายพรานบ่นขึ้นมาว่าไม่มีน้ำ ท่านก็ลุกขึ้นมาจากอาสนะนั้น มามองดูน้ำที่ตุ่มนั้น พอเมื่อเวลาท่านมองลงไปก็เห็นน้ำเต็มเปี่ยมอยู่ แต่ว่านายพรานนั้นมองไม่เห็น ท่านก็บอกว่า "อ้าว...นายพรานทำไมล่ะ น้ำเต็มตุ่มอยู่ ท่านจึงไม่เห็น" พอเมื่อเวลาท่านพูดอย่างนั้น นายพรานจึงมองเห็นน้ำในตุ่มเต็มเปี่ยมอยู่ นายพรานจึงได้ไปตักน้ำดื่ม
เมื่อนายพรานดื่มน้ำอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็เลยเอาน้ำล้างเท้า เช็ดเท้าเสร็จแล้วก็เดินขึ้นไปบนกุฎีไปกราบพระมหาเถระ เมื่อเวลากราบพระมหาเถระแล้ว ก็เรียนถามท่านว่า "ภันเต ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐ พระผู้เป็นเจ้าตักน้ำมาใส่ตุ่มไว้เต็มเปี่ยม ทำไมข้าพเจ้าจึงมองไม่เห็น จะเป็นด้วยผลกรรมอะไรของข้าพเจ้า" "โอ้...ดูก่อนนายพราน" พระมหาเถระท่านว่า "ก็บาปกรรมของนายพรานที่เคยทำมา มีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ทำลายสัตว์ ด้วยกรรมเหล่านี้แหละดลบันดาล ไม่ให้นายพรานมองเห็นน้ำได้ และอีกนัยหนึ่ง นายพรานก็ไม่เคยได้ทำทาน ไม่ได้ให้ทานน้ำสักที เพราะเหตุนั้นนายพรานจึงมองไม่เห็นน้ำในตุ่ม" นายพรานก็เลยกราบเรียนต่อไปว่า "ทำอย่างไรข้าพเจ้าจึงจะพ้นจากบาปกรรมเหล่านี้" "อ้อ...ดูก่อนนายพราน ถ้าหากว่านายพรานอยากจะพ้นจากบาปกรรมเหล่านี้ ก็รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา จึงจะพ้นจากบาปกรรม ถ้าเราไม่รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา จะทำให้ตกนรก ซึ่งไฟในนรกนั้นมันร้อนยิ่งกว่าไฟในเมืองมนุษย์หลายเท่าพันทวีคูณ และนายพรานอยากรู้ไหมว่าไฟในเมืองนรกมันร้อนขนาดไหน"
พระมหาเถระจึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นให้นายพรานไปตัดไม้มะเดื่อสด มากองขึ้นให้สูงเพียงตา" ว่าอย่างนั้น พอเมื่อเวลานายพรานไปตัดเอาไม้มะเดื่อสดมากองขึ้นให้สูงเพียงตาแล้ว นายพรานก็เลยไปกราบเรียนท่านว่า "ข้าพเจ้าไปตัดเอาไม้มะเดื่อสดมากองไว้แล้ว" "ถ้าอย่างนั้นให้นายพรานเอาไฟไปจุดดูสิ" นายพรานก็เลยเอาไฟนั้นไปจุด พอเมื่อเวลาเอาไฟไปจุด จุดอย่างไรมันก็ไม่ไหม้ พอเมื่อเวลาจุดไฟขึ้นมาแล้ว น้ำมะเดื่อสดก็ไหลออกมาไฟก็ดับหมด จุดอยู่อย่างนั้นจนหมดความสามารถที่จะจุดให้ไหม้ได้ ก็เลยมากราบเรียนพระมหาเถระว่า "ข้าพเจ้าไปจุดไม้มะเดื่อสดไม่ไหม้เลย" "เอ้า...ถ้าอย่างนั้นเราจะไปเอาไฟในเมืองนรกไปจุดให้ดู" พอเมื่อเวลาท่านไปเอาไฟในเมืองนรกมาเท่าแสงหิ่งห้อย มาปล่อยใส่กองไม้มะเดื่อสดนั้น พอปล่อยไฟใส่ ไฟก็ลุกขึ้นพรึบเลยทีเดียวไม่เหลือ ไม่มีฝุ่น เถ้าถ่านก็ไม่มี "นี่แหละนายพราน ไฟในเมืองนรกมันร้อนขนาดนี้แหละ สำหรับไฟในเมืองมนุษย์นั้นน่ะ นายพรานจุดก็ยังไม่ไหม้ ไฟในเมืองนรกนี้ก็จุดเท่านี้แหละ เท่าแสงหิ่งห้อยก็ยังไหม้จนเกลี้ยง ไม่มีเถ้าถ่านเลย"
นายพรานก็เกิดมีความกลัวมาก "ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะขอบวชในสำนักของพระผู้เป็นเจ้านี้จะได้ไหม" พระมหาเถระตอบว่า "ก็ได้เหมือนกัน" "ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะขอบวชในสำนักของพระมหาเถระนี้" พระมหาเถระท่านก็เลยอนุญาตบวชให้ เมื่อเวลาบวชให้แล้ว ท่านก็เลยแนะนำให้ไปเดินจงกรม นั่งภาวนา พอเมื่อเวลาไปเดินจงกรม ลืมตาก็มองเห็นแต่หัวนกหรือขานก เมื่อเวลาไปนั่งภาวนา หลับตาอยู่ก็มองเห็นแต่หัวนก ขานก ก็เกิดความเดือดร้อนภายในใจ กระวนกระวายไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จึงไปกราบเรียนพระมหาเถระ "ข้าแต่พระมหาเถระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเดินจงกรมก็เห็นแต่ขาสัตว์เห็นแต่หัวสัตว์ แล้วใจของข้าพเจ้าก็เลยเดือดร้อนไม่สบายใจ" พระมหาเถระก็แนะนำให้ "ท่านอย่าได้เอาใจไปยึดถือสิ่งเหล่านั้น เมื่อหากว่ามันเกิดขึ้นมาอย่างนี้ อย่าเอาใจไปยึดถือ" ท่านว่าอย่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา ก็เลยตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ มันเกิดขึ้นมาก็ไม่เอาใจไปยึดถือ เร่งความเพียรเข้า เดินจงกรมเข้า จนได้สำเร็จเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา จนตลอดสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็เลยพ้นจากบาปกรรมที่ตนทำไว้ คือ ฆ่าสัตว์ ทำลายสัตว์ กรรมเหล่านี้ก็ติดตามไม่ทันพอเมื่อเวลาดับขันธ์แล้ว ก็เข้าสู่พระปรินิพพาน ไม่ได้มาเวียนเกิด เวียนตาย อยู่ในโลกสงสารอย่างนี้
นี่ท่านปฏิบัติจริง ทำจริง ก็ได้รับผลอย่างความพอใจ นี่สำหรับพวกเราทำจริง ปฏิบัติจริง ก็ได้เหมือนกัน ฉะนั้นแหละ มันอยู่ที่เรา ถ้าเราทำจริง ปฏิบัติจริง มันก็ได้รับผลจริง พ้นจากทุกข์จริง นี่เราฝึกหัดกันอย่างนี้ อย่างที่พวกเราพากันกระทำนี้ มิใช่ว่าจะฝึกครั้งเดียว หนเดียวแล้วสำเร็จ จะให้มันเป็น มันพ้นจากทุกข์ไปได้ เราต้องอาศัยการฝึกไปเรื่อยๆจนตลอด เราได้รู้ธรรมเห็นธรรมนั่นแหละ ได้สำเร็จพ้นจากทุกข์ ถ้าหากว่ายังไม่พ้นทุกข์ในชาตินี้ ก็เอาชาติหน้าอีกไปอย่างนั้น แต่ว่าความเป็นจริง เอาให้พ้นในชาตินี้ล่ะยิ่งดี ตั้งใจให้ปฏิบัติให้มันจริง ทำจริง เอาอย่างภูมิใจเลย อย่าสงสัยว่ามรรคผลไม่มี มรรคผลมีอยู่ แต่ว่าคนเรานั้นไม่ปฏิบัติให้มรรคผลมันเกิดขึ้นนั่นแหละ มรรคผลไม่ได้เสื่อมสูญไปที่ไหน พระพุทธเจ้าของเราก็ไม่ได้เอามรรคผลไปด้วย พระองค์เอาวางไว้ในโลกเรานี่แหละ ไม่ได้เอาไปด้วย ถ้าหากว่า บุคคลผู้ใดประพฤติปฏิบัติกันจริงๆแล้ว บุคคลผู้นั้นจะเห็นมรรคเห็นผล ไม่ได้เสื่อมเสียไปที่อื่น ต้องค้นคว้าอยู่ที่ตัวของเรานี่แหละ เราจะเห็นอยู่ที่นี่ เกิดมรรคเกิดผลอยู่ที่นี่ ไม่ต้องสงสัย ถ้าปฏิบัติจริงทำจริงแล้ว มันเห็นจริงทั้งนั้นแหละ อ้าว...ถ้าหากใจของเรายังมีอยู่แล้ว มรรคผลจะไปที่ไหน ถ้ามีมนุษย์เกิดอยู่ในโลกนี้ มรรคผลก็ต้องมี เกิดที่นี่แหละไม่ได้เสื่อมสูญ เว้นเสียแต่คนที่จะไม่ประพฤติปฏิบัติเอาเท่านั้นแหละ
เหมือนอย่างแร่ธาตุ ที่มีอยู่ในโลกเรานี่น่ะ แร่ธาตุต่างๆ มีแร่น้ำมัน หรือแร่ดีบุก แร่ทองคำ แร่ตะกั่ว หรือแร่เพชรพลอยเหล่านี้ มีอยู่ในโลกนี้ ถ้าคนไม่มีปัญญาก็หาไม่ได้ ถ้าคนมีปัญญาแล้วก็หาได้ ทองคำเขาได้มาแขวนคออยู่น่ะ มีเยอะเลยทีเดียว ถ้าหากคนไม่มีปัญญาน่ะก็คงจะหาไม่เจอ ไม่มีโอกาสได้แขวนคอเหมือนคนมีปัญญา นี่ก็ฉันใด เรื่องมรรคผลนิพพาน ก็ต้องมีอยู่ในที่นี้ฉันนั้น ถ้าหากว่าคนฉลาดคนมีปัญญา ค้นคว้าหรือปฏิบัติแล้ว ก็จะได้พบได้เห็นมรรคผล ไม่ได้อยู่นอกจากมนุษย์เรา ความดีทุกประเภทเราไม่ได้มาแต่กำเนิด เรามาหาเอาใหม่ทั้งนั้น ความรู้ ความฉลาด เราต้องมาหาเอาใหม่ ล้วนแต่เป็นการฝึกหรือการหัด หรือการเสาะแสวงหา อันนี้ก็เนื่องจากบุญหรือกรรมนั่นเอง เราทำดี เราก็ได้ของดี เราทำชั่วก็ได้ของชั่ว เราทำของประณีต ก็ได้ของประณีต เราทำของหยาบๆ ก็ได้ของหยาบ นี่แล้วแต่ปัญญาของเราจะทำเอา ไม่ต้องสงสัยที่เขาว่ากัน "เอ้า...มรรคผลนิพพานไม่มีแล้วในสมัยนี้ พระอรหัต พระอรหันต์ไม่มีแล้ว" มันก็ไม่มีถ้าเราไม่ทำให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตนแล้ว มันก็ไม่มี ถ้าทำให้เกิดให้มีขึ้นแก่ตนแล้ว มันก็ต้องมีมรรคผล พระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว มรรคผลหมดไปตามพระพุทธเจ้า ไม่เป็นตามอย่างนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้เอาไปด้วย วางไว้ที่โลกของเรานี้ มรรคผล นิพพาน ใครอยากพ้นทุกข์ ก็ค้นคว้าหาเอา หาอยู่ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของตนนั่นแหละ
อย่าไปหลงเชื่อคนอื่นที่พูดอย่างงมงาย เขาว่ามรรคผลไม่มี สวรรค์นิพพานไม่มี...คนโง่ว่า เราจะไปเชื่อคนโง่ไม่ได้ นักปราชญ์ท่านกล่าวว่า สวรรค์มี นิพพานมี มรรคผลมี ท่านไม่ปฏิเสธ ถ้าไม่เชื่อลองดู นั่งภาวนา ฝ่าฟันเวทนา ให้ผ่านพ้นไป ลองดู เราจะได้รับความเยือกเย็นสบายอย่างไร นี่อุตส่าห์ทำลองดู จะเห็นในปัจจุบัน อย่าไปทำอย่างงมงาย ทำอย่างเชื่อมั่นจริงๆ อุตส่าห์ทำเอา มอบกายถวายตัวแก่พระรัตนตรัย ลองดู ถ้าหากว่าไม่เป็นจริง ครูบาอาจารย์คงจะไม่สอน นำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสอนพวกเรา และท่านก็ทำเป็นด้วย ท่านก็เห็นด้วย ท่านก็ทำมา ท่านฝ่าฟันมา ต่อสู้ทุกข์มา ล้มลุกคลุกคลานมาจนตลอด ท่านจึงเอาคำสอนอันนี้มาอบรมหรือแนะแนวทางให้พวกเราปฏิบัติ ไม่ได้โกหกกัน เป็นจริงๆ คำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้โกหกเลย เป็นจริง คำสอนที่เป็นสัจธรรม เป็นของจริง ขอแต่ว่า พวกเราทำให้มันจริงเท่านั้นแหละ ถ้าหากว่าเราทำจริง มันก็เป็นจริงและเห็นจริง
ลิงติดตัง ขี่หนังนารี ศาลาโลงผี อีลุ่มตุ้มป่อง
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
(สัตว์โลกทั้งหลายติดอยู่ในกามคุณห้า จิตเกิดมีร่างกายสืบพันธุ์กันไปมา สุดท้ายก็ตายกลายเป็นผี)
|