พ.ศ. 2498 พรรษาที่ 20 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

พรรษาที่ 20

ในพรรษา หลวงปู่ได้อบรมพระภิกษุสามเณร และนำพาปฏิบัติเร่งทำความเพียรเป็นพิเศษ จนตลอดไตรมาส 3 เดือน ฉันน้อย นอนน้อย ไม่คลุกคลีซึ่งกันและกัน ต่างองค์ต่างให้อยู่ด้วยความเพียร มีสติระลึกรู้อยู่กับกายใจของตัวเอง

 

ไปเที่ยววิเวกดงโค่โล่

เมื่อออกพรรษาปีพ.ศ. 2498 แล้ว เข้าฤดูแล้วปี พ.ศ. 2499 หลวงปู่ได้ทราบว่าพระอาจารย์สวด เขมิโย ซึ่งเคยเป็นครูบาอาจารย์ ได้พักวิเวกอยู่ที่ยอดบุญทันดงโค่โล่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี (ปัจจุบันเป็นอ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู) หลวงปู่จึงได้เดินทางไปกับหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต และมีโยมติดตามไปด้วย เดินด้วยเท้าจากวัดป่าสันติกาวาส ไปขึ้นรถที่ปากทางแยกบ้านต้องไปลงอุดร พักที่วัดโพธิสมภรณ์ กราบนมัสการท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ วันรุ่งขึ้นฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าต่อไปที่บ้านหนองบัวบาน กราบนมัสการท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม พักค้างคืนฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์อ่อน รุ่งเช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วกราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน เดินทางด้วยเท้าต่อไปพักที่บ้านทุ่งตาลเรียน แล้วเดินทางต่อไปถึงดงโค่โล่ บ้านโคกตังแตน

 

แวะเยี่ยมผู้เป็นอาจารย์เก่า

เมื่อหลวงปู่เดินทางถึงบ้านโคกตังแตน ได้ทราบว่าพระอาจารย์คำดี ผู้เป็นอาจารย์แต่ครั้งหลวงปู่ออกบวชเป็นสามเณร ท่านได้ลาสิกขาแล้วมามีครอบครัวอยู่ที่บ้านโคกตังแตนนี้ หลวงปู่ก็ดีใจที่จะได้พบผู้เป็นครูบาอาจารย์เก่า ถือว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณด้วย จึงหยุดพักที่บ้านโคกตังแตนอยู่หลายคืน ได้พบปะผู้เป็นอาจารย์เก่า หลวงปู่ไม่ลืมบุญคุณที่ท่านเคยอบรมและนำไปบวชเป็นสามเณรครั้งแรก ได้ถามสารทุกข์สุขดิบ หลวงปู่เล่าให้ฟังว่า "เมื่อได้เจอผู้เป็นอาจารย์เก่า เราก็สงสารผู้เฒ่า แต่ก็ไม่มีสมบัติอะไรจะสงเคราะห์ มีปัจจัยอยู่ที่โยมติดตามไปด้วยไม่กี่บาท จึงได้เอาสงเคราะห์ผู้เฒ่าไป ผู้เฒ่าก็ดีใจว่าเรายังอยู่ในเพศพรหมจรรย์ นับแต่จากกันก็ไม่เคยเจอกันเลย พึ่งมาเจอกันก็เป็นครั้งสุดท้าย"

 

พบพระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร


พระอาจารย์มหาบุญมี สิริธโร

หลวงปู่เดินทางต่อไปที่ยอดบุญทัน ซึ่งท่านพระอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่นั้น และได้พบกับท่านอาจารย์พระมหาบุญมี สิริธโร ด้วย ที่ยอดบุญทัน ดงโค่โล่นี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด มีพวกช้าง เสือ เป็นต้น ตกกลางคืนเสือโคร่งร้องตามประสาสัตว์ป่า พวกโยมที่ติดตามไปด้วยกลัวเสือ ต้องก่อกองไฟไว้ ต่างคนต่างพากันตั้งใจภาวนาเอาพุทโธเป็นที่พึ่ง ภาวนาเหนื่อยแล้วล้มลงนอน ก็หลับๆตื่นๆเพราะกลัวเสือ

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทันนี้ ไม้ไผ่ป่าก็ลำใหญ่ เอามาตัดทำเป็นกระโถนใช้ในเวลาฉันเช้า ใช้ทำเป็นครกสำหรับตำอะไรก็ได้ นอกจากนั้นยังใช้เป็นสับเป็นฟากสำหรับปูพื้น และมุงกุฏิ กันแดด กันฝนก็ได้ หลวงปู่เล่าว่าที่ยอดบุญทันนี้ มันเป็นต้นห้วยบุญทัน ต้นห้วยโค่โล่ และต้นห้วยบักอึ สามห้วยนี้รวมกันเรียกว่ายอดบุญทัน คือต้นน้ำลำธารนั้นเอง

 

ความเป็นมาของนามห้วยบักอึ (ฟักทอง)

หลวงปู่เล่าว่า ที่ยอดบุญทัน ยอดโค่โล่ ยอดบักอึนี้ มันมีแร่ทองคำอยู่ตามลำธาร สาเหตุที่จะได้เรียกห้วยบักอึนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ในครั้งหนึ่งพอถึงฤดูแล้งได้มีพวกคนกลุ่มหนึ่งชวนกันไปร่อนทอง ไปตั้งทับอยู่ที่ยอดบุญทันนี้แหละ แล้วก็พากันร่อนทองตามลำธาร ร่อนกันไปได้หลายวัน จวนจะถึงวันกลับ มีผู้ชายหมอหนึ่ง (มีผู้ชายคนหนึ่ง) ร่อนทองกับหมู่เพื่อน ไม่ได้ทองกับเขาเลย คนอื่นเขาได้คนละหุน 2 หุน บางคนก็ได้หนึ่งสลึงก็มี ก่อนจะถึงวันกลับ ตกกลางคืนมา แกก็คิดน้อยอกน้อยใจ ว่าร่อนทองก็ไม่ได้กับเขาสักนิดเลย พอแกเคลิ้มหลับไปก็ฝันว่า มีคนมาบอกให้ไปเอาทองคำ อยู่ที่ริมห้วยนั้น อยู่ใต้ก้อนหิน จะเอาฟดไม้กิ่งไม้ปักเป็นเครื่องหมายไว้ให้ แล้วแกก็สะดุ้งตื่นขึ้น ใจคอไม่ปกติ อยากจะไปดุ แต่ยังไม่สว่างก็กลัวเสือ จึงคอยให้สว่างแล้วแกก็เดินไปดูตามที่ฝันโดยไม่บอกให้ใครรู้

พอเดินไปตามที่ฝันก็เห็นฟดไม้เป็นเครื่องหมาย อยู่ที่หินก้อนหนึ่งไม่โตเท่าไร แกจึงงัดหินก้องนั้นออก มองเห็นทองคำเหลืองอร่ามอยู่เท่าลูกบักอึ (ฟักทอง) แกดีใจมากพูดได้คำเดียวว่า "อึๆ" แล้วก็เมบเต็ง (นอนคว่ำทับ) ก้อนทองคำนั้นไว้ ปากก็พูดว่า "อึๆ" พอสายมา หมู่เพื่อนก็รวมกันกินข้าวแล้วก็จะเดินทางกลับ นับดูคนที่ไปด้วยกันขาดไปคนหนึ่ง หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่า "เอ้า คนหนึ่งหายไปไหน ไม่ใช่เสือเอาไปกินแล้วหรือ" แล้วจึงพากันตามหา ร้องเรียกหา ได้ยินแต่เสียงว่าอึๆ หมู่จึงมองเห็นหมอบอยู่ เดินเข้าไปใกล้เรียกให้มากินข้าวก็ยัง "อึๆ" อยู่ ไม่ได้หน้าหลังอะไร หมู่จึงไปจับลุกขึ้น จึงมองเห็นก้อนทองคำเท่าบักอึ หมู่จึงช่วยเอามา มาดึงผู้เป็นหัวหน้าปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ผู้เป็นหัวหน้าจึงว่า "มันเป็นบุญของแก พวกเราก็ไม่ควรแบ่งเอากับแก ยกให้แกเสียหมด เพราะมันเป็นบุญของแกแล้ว" หมู่เพื่อนก็พร้อมกันยกให้แกคนเดียว

หลวงปู่ว่านี้เรื่องบุญกุศล ถึงคราวได้มันก็ได้ ถึงคราวเป็นมันก็เป็น นับแต่นั้นเขาจึงเรียกลำธารนั้นว่า ห้วยบักอึ แล้วหลวงปู่ก็จบลงด้วยคำว่า "คนเราแสวงหาทรัพย์ ถ้าบุญกุศลของตนไม่สั่งสมไว้ ถึงแม้จะอยากได้ แสวงหาเท่าไรก็ไม่ได้ดอก ถ้าบุญกุศลมีแล้ว หาไม่พอได้ก็ได้ หาไม่พอมีก็มี บุญกุศลจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเจริญให้มาก กระทำให้มาก แล้วเราจะได้อาศัยบุญกุศลนั้นต่อไป"

 

เดินทางกลับจากยอดบุญทันดงโค่โล่

หลวงปู่พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวด และท่านอาจารย์พระมหาบุญมี เป็นเวลาครึ่งเดือนแล้ว จึงได้กราบลาท่านกลับออกมาทางบ้านาดีนาไก่ ส่วนหลวงพ่อคำสิงห์ไม่กลับด้วย ยังพักอยู่กับท่านอาจารย์ทั้งสอง แล้วท่านพาเที่ยววิเวกต่อไปทางอำเภอท่าบ่อแล้วข้ามไปทางนครเวียงจันทน์

 

พักวิเวกที่ถ้ำผาด้วง

หลวงปู่เดินทางกับโยมที่ติดตามไปด้วย ออกจากยอดบุญทันมาถึงบ้านนาดีนาไก่ ท่านจึงแวะพักวิเวกอยู่ที่ถ้ำผาด้วงเป็นเวลา 6 วัน อาศัยบิณฑบาตที่บ้านนาดี ได้มีพ่อเป่าแม่เป่าเป็นผู้อุปัฏฐาก หลวงปู่เล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ภาวนาอยู่ ได้นิมิตเห็นนายทหารยศนายพัน มานอนตายอยู่ในถ้ำนั้น และมีผู้มาบอกว่า ร้านที่ท่านนอนนั้น มีหีบไม้ประดู่ฝังอยู่ใต้นั้น หลวงปู่จึงพิจารณาได้ความว่า พวกทหารจะไปรบ เลยมาตายอยู่ที่ถ้ำนั้น ส่วนหีบไม้ประดู่นั้น คงจะเป็นหีบสมบัติของนายทหารนั้นเอง แต่หลวงปู่ท่านไม่ได้สนใจอะไร อยู่ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่ท่านเดินจงกรมภาวนาอยู่ ได้มีงูใหญ่ตัวหนึ่ง ไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเลื้อยขนานตามทางจงกรมที่ท่านกำลังเดินอยู่ ท่านว่าตัวใหญ่มหาใหญ่ ท่านเปรียบให้ฟังว่าใหญ่เท่ากลองเพล เมื่อมันเลื้อยขนานไปกับทางจงกรมแล้วก็หายไป ที่ถ้ำผาด้วงนี้เป็นถ้ำดี แต่น้ำเป็นน้ำหินปูน หลวงปู่จึงไม่พักอยู่นาน แล้วท่านก็เดินทางกลับ ค่ำที่ไหนก็พัก จนมาถึงอุดร แล้วก็นั่งรถจากอุดรมาถึงบ้านต้อง แล้วเดินต่อกลับวัดป่าสันติกาวาส บ้านไชยวาน

ย้อนกลับ ต่อไป