พ.ศ. 2528 พรรษาที่ 50 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
ในระยะเข้าพรรษาปี พ.ศ. 2528 นี้ ตอนใกล้จะออกพรรษา หลวงปู่ได้เดินทางไปทำวัตรคารวะหลวงปู่ชอบ ที่วัดป่าโคกมน บ้านโคกมน อ.วังสะพุง จ.เลย พอไปถึงวัดป่าโคกมนเป็นเวลาเที่ยง ถามพระเณรในวัดทราบว่าหลวงปู่ชอบไม่อยู่ ท่านขึ้นไปพักอยู่ที่วัดป่าบ้านม่วงไข่ บนภูเขาทางไปอำเภอภูเรือ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์ขับรถขึ้นเขาตามไปหาหลวงปู่ชอบ ถนนเข้าไปบ้านม่วงไข่ลำบาก เป็นถนนลงหินขรุขระ ไปถึงวัดป่าม่วงไข่เป็นเวลาบ่าย 3 โมง จึงได้พบหลวงปู่ชอบ หลวงปู่ชอบได้ถามสุขทุกข์กับหลวงปู่ แล้วหลวงปู่จึงพาลูกศิษย์ที่ติดตามไป ขอขมาคารวะหลวงปู่ชอบ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาหลวงปู่ชอบ เดินทางไปวัดถ้ำผาปู่ เพื่อกราบคารวะศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ถึงถ้ำผาปู่เป็นเวลาเกือบมืดแล้ว หลวงปู่ได้พาคณะศิษย์กราบคารวะศพหลวงปู่คำดี เสร็จแล้วได้อยู่ร่วมฟังสวดอภิธรรม จบแล้วจึงได้เดินทางกลับถึงวัดป่าสันติกาวาสเป็นเวลา 23.00 น.
ร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หลวงปู่เดินทางไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโส ที่วัดถ้ำผาปู่ จังหวัดเลย ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาสักการะต่อครูบาอาจารย์เป็นครั้งสุดท้าย หลวงปู่มีความเคารพในหลวงปู่คำดีมาก ในฐานะที่หลวงปู่คำดีเป็นครูบาอาจารย์ ซึ่งหลวงปู่ได้เคยอยู่ปฏิบัติธรรมร่วมกับหลวงปู่คำดีในคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำกวาง อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
เดินทางลงกรุงเทพฯให้หมอตรวจตาข้างขวา เมื่อเสร็จจากไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่คำดี ปภาโสแล้ว คณะศิษย์ทางกรุงเทพฯได้กราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่ไปตรวจตาที่กรุงเทพฯ เพราะหลวงปู่มีอาการตาข้างขวามัว หลวงปู่รับนิมนต์แล้วเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยทางรถไฟ ได้เข้ารับการตรวจตาที่ไทยจักษุคลินิก โดยมีนายแพทย์สวัสดิ์ โพธิกำจร เป็นผู้ตรวจอาการ พบว่าตาข้างขวาของหลวงปู่เป็นต้อกระจก แต่ยังไม่แก่ดี หมอจึงให้ยาหยอดรักษาไปก่อน
เดินทางไปเชียงใหม่เป็นครั้งแรก
หลวงปู่เดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เป็นครั้งแรก เพื่อกราบคารวะศพของหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ได้เดินทางโดยเครื่องบินจากท่าอากาศยานกรุงเทพฯไปลงที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แล้วนั่งรถตู้ต่อไปที่ดอยแม่ปั๋ง มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วยเป็นพระ 2 รูป คือ ผู้เขียนองค์หนึ่ง และพระอึ่งองค์หนึ่ง ฆราวาสอีก 5 ท่าน คือคุณหมออุรพล บุญประกอบ, คุณหมอวันเพ็ญ บุญประกอบ, คุณญาณี-คุณนิดา ชิตานนท์, คุณหมออมรา มลิลา เดินทางถึงวัดดอยแม่ปั๋งเป็นเวลาเย็น หลวงปู่พาลูกศิษย์ที่เดินทางไปด้วย ทำพิธีคารวะศพหลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ และทอดผ้าบังสุกุลถวายบูชาเป็นธัมมสักการะในองค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ หลวงปู่พักค้างคืนที่วัดดอยแม่ปั๋ง 1 คืน
เช้าวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันภัตตาหารเช้าที่วัดดอยแม่ปั๋ง เสร็จแล้วได้เดินทางไปแวะเยี่ยมท่านอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป ที่วัดอรัญวิเวก บ้านปง อำเภอแม่แตง แต่ไม่พบ ท่านอาจารย์เปลี่ยนเดินทางเข้ากรุงเทพฯ หลวงปู่เดินทางต่อไปวัดถ้ำปากเปียง อ.เชียงดาว เพื่อเยี่ยมพระอาจารย์เจริญ ญาณวุฑโฒ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่เอง ท่านอาจารย์เจริญได้จัดกุฏิไม้สักซึ่งอยู่ติดหน้าผาถวายให้หลวงปู่พำนัก อากาศเย็นมาก
วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2528 หลวงปู่ขึ้นถ้ำผาปล่อง เพื่อกราบนมัสการหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร แต่ไม่พบ หลวงปู่สิมเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ลงจากถ้ำผาปล่อง หลวงปู่เข้าชมถ้ำเชียงดาวแล้วกลับไปพักที่วัดถ้ำปากเปียง
วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2528 ฉันเช้าเสร็จที่ถ้ำปากเปียง แล้วเตรียมบริขารขึ้นรถตู้ เดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ หลวงปู่และคณะศิษย์ที่ติดตามแวะมนัสการเจดีย์หลวง วัดเจดีย์หลวง แล้วเดินทางต่อไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน จากนั้นไปนมัสการพระพุทธบาทตากผ้าที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน และได้กราบนมัสการศพพระสุพรหมญาณเถระ (หลวงปู่วัดพระพุทธบาทตากผ้า)ด้วย แล้วเดินทางกลับเชียงใหม่ แวะโปรดคุณพ่อวิจิตรและแม่สายบัวที่บ้านพักเพื่อรอเวลาเครื่องบินเวลา 20.00 น. เดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินเชียงใหม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯไม่นานก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 คุณนิดา ชิตานนท์ ได้กราบอาราธนาให้หลวงปู่เดินทางลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาข้างขวาของหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ว่าต้อกระจกที่เป็นอยู่แก่หรือยัง สมควรที่จะผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ใหม่ได้หรือยัง หลวงปู่รับอาราธนาเดินทางลงกรุงเทพฯ โดยรถไฟปรับอากาศชั้นหนึ่ง โดยมีข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทเป็นผู้ติดตามไปด้วย เมื่อถึงกรุงเทพฯ ได้พักที่รถราง ซึ่งคุณนิดาได้จัดถวายให้เป็นที่พักของหลวงปู่และพระติดตามต่างหาก ซึ่งอยู่ในบริเวณบ้านส่วนตัว คุณนิดาได้รับหลวงปู่ไปที่ไทยจักษุคลินิก ให้คุณหมอสวัสดิ์ตรวจตาหลวงปู่อีกครั้งหนึ่ง ผลปรากฏว่าต้อยังไม่แก่เต็มที่ หมอจึงให้รอไปก่อน คุณนิดาจึงได้นิมนต์ให้หลวงปู่ไปพักวิเวกที่บ้านแม่เมืองหลวง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 หลวงปู่ออกจากที่พักบ้านคุณนิดาไปสนามบินดอนเมืองเพื่อขึ้นเครื่องบินไปเชียงใหม่ เวลา 7.00 น. เครื่องบินจะออกจากสนามบินดอนเมืองกรุงเทพฯ เมื่อถึงสนามบินดอนเมือง หลวงปู่และผู้ติดตาม คือข้าพเจ้าผู้เขียนและท่านสนิทกับโยมติดตามอีก 2 คน คือคุณนิดาและคุณลำพูน ได้ขึ้นนั่งบนเครื่องบินโดยสารจัมโบ้ขนาดใหญ่ พร้อมผู้โดยสารอีกเต็มลำ หลวงปู่นั่งที่นั่งติดกับผู้เขียน หลวงปู่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาทตลอดเวลา เมื่อนั่งเก้าอี้รัดเข็มขัดเรียบร้อยแล้ว ท่านจะหลับตาเข้าที่สงบอยู่เมื่อถึงเวลาตามกำหนดที่เครื่องจะออก ได้ยินเสียงประกาศว่า "ขออภัยผู้โดยสาร มีความติดขัดทางเทคนิคบางประการ ขอให้รอเวลาอีก 15 นาที" เมื่อรอถึง 15 นาทีแล้วก็ได้ยินเสียงประกาศอีกว่า "ยังแก้ไขไม่ได้ ขอให้รออีก 15 นาที" จนสุดท้ายรอไปถึง 45 นาที เครื่องบินจึงพาขึ้นจากสนามบินดอนเมือง ในวันนั้นแม่บัวผายได้ให้คุณนิดานิมนต์หลวงปู่และพระติดตาม ให้ไปฉันภัตตาหารเช้าที่บ้านที่เชียงใหม่ด้วย โดยได้เตรียมภัตตาหารเช้าไว้คอย
เมื่อเครื่องบินบินไปจะถึงเชียงใหม่แล้ว ได้ยินเสียงประกาศว่า "เครื่องบินไม่สามารถจะลงเชียงใหม่ได้ เพราะเครื่องติดขัดเทคนิคบางประการ จะต้องกลับไปลงที่สนามบินกรุงเทพฯ" ในขณะนั้นพวกฝรั่งที่กำลังเล่นไพ่กันอย่างสนุกสนานอยู่ พากันตาเหลือกตาลานเพราะความกลัวตาย หยุดเล่นกันเงียบเลย สำหรับหลวงปู่ท่านนั่งเข้าที่สงบตั้งแต่เครื่องบินขึ้นจากดอนเมือง จนเครื่องกลับไปลงที่ดอนเมืองอีก ท่านจึงลืมตาขึ้น เมื่อเครื่องลงถึงสนามบินดอนเมืองแล้วได้ยินเสียงประกาศว่า "เที่ยวบินจะไปเชียงใหม่เปลี่ยนเป็นเวลาบ่าย 1 โมง" ตกลงในวันนั้นหลวงปู่และพระติดตามต้องกลับมาฉันภัตตาหารเช้าที่ดอนเมือง โดยคุณนิดาเป็นผู้จัดถวายเวลา 4 โมงเช้า เมื่อฉันเสร็จแล้วก็รอเครื่องเที่ยวบ่าย 1 โมง อยู่ที่สนามบินดอนเมือง ส่วนพวกแม่บัวผายที่รออยู่ทางเชียงใหม่ เห็นเครื่องบินไม่ลงตามเวลาก็เกิดความกระวนกระวายใจ คิดว่าเครื่องบินตกหรือเป็นอะไรกัน รอจนถึง 5 โมงเช้า จึงได้ยินประกาศที่สนามบินเชียงใหม่ว่า เครื่องบินติดขัดไม่สามารถลงได้ จึงกลับไปลงที่กรุงเทพฯ จะมาใหม่เวลาบ่าย 2 โมง เป็นอันว่าอาหารที่จัดรอไว้ถวายหลวงปู่และพระติดตาม ญาติโยมทางเชียงใหม่ต้องรับประทานกันเอง
หลวงปู่และผู้ติดตามคอยเวลาเครื่องไปเชียงใหม่เที่ยวที่ 2 อยู่ที่สนามบินดอนเมือง จนได้เวลาใกล้บ่าย 1 โมง เจ้าหน้าที่เรียกขึ้นเครื่อง หลวงปู่และผู้ติดตามขึ้นนั่งบนเครื่องบิน พร้อมกับผู้โดยสารอื่นในเที่ยวบินเดียวกัน ได้เวลาเครื่องทะยานขึ้นสู่ฟ้า นำพาไปถึงสนามบินเชียงใหม่ เวลาบ่าย 2 โมง ลงจากเครื่องบินเรียบร้อย พ่อวิจิตรนำรถมารับหลวงปู่และผู้ติดตามจากสนามบินเชียงใหม่ แวะไปพักที่บ้านพ่อวิจิตรแม่บัวผายก่อน ถวายน้ำดื่มน้ำเย็นหลวงปู่และพระติดตาม พักผ่อนพอหายเหนื่อยแล้วพ่อวิจิตรได้จัดรถรับหลวงปู่และผู้ติดตาม รวมทั้งพ่อวิจิตรและแม่บัวผายด้วย ออกจากเชียงใหม่ไปแวะพักที่บ้านป่าแป๋ครู่หนึ่ง จากนั้นรถได้นำขึ้นเขาคดเคี้ยวเลี้ยวไปตามไหล่เขา ถึงวัดป่าบ้านแม่เมืองหลวง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเวลาเย็น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 อากาศหนาวเยือกเย็นมาก ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีพระอยู่ 2 รูป มีท่านทองน้อยเป็นหัวหน้า และสามเณรอีก 1 องค์ พระเณรในวัดให้การต้อนรับและเคารพหลวงปู่เป็นอย่างดี เมื่อรถส่งหลวงปู่และผู้ติดตามถึงวัดป่าแม่เมืองหลวงแล้วเขาก็กลับไป
ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่นั้น มีหลวงปู่ ผู้เขียน ท่านสนิทและพระประจำอยู่ที่วัด 2 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็นพระ 5 รูป สามเณร 1 รูป สำหรับโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรมและทำอาหารบิณฑบาตถวายหลวงปู่นั้น มีคุณนิดา, แม่บัวผาย, คุณพูลและคุณปิ๊ก ทั้ง 4 คน ได้พักอยู่ที่พักสำหรับโยมในวัด ที่วัดป่าแม่เมืองหลวงมีต้นไม้เขียว น้ำสะดวก มีความเงียบสงบวิเวกวังเวง อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร พระภิกษุสามเณรอาศัยบิณฑบาตที่บ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยง บ้านใต้อยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลครึ่ง บ้านแม่เมืองหลวงอยู่ห่างวัดประมาณ 1 กิโลเมตร หลวงปู่รับบิณฑบาตที่หน้าโรงครัวในวัด เพราะท่านเดินไม่ค่อยสะดวก
เป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติ หลวงปู่เป็นผู้ไม่ประมาทไม่หละหลวมในพระธรรมวินัยและข้อวัตรปฏิบัติแม้เล็กๆน้อยๆ เช่น การทำกัปปิยะโวหารพีชคาม ของที่จะปลูกให้เกิดได้ด้วยลำด้วยใบ หรือที่มีรากติดอยู่ก่อน เรียกว่า "วินัยกรรม" หรือเมื่อเวลามีโยมผู้หญิงเข้ามากราบเรียนถามเรื่องขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติด้านจิตตภาวนา หรือจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายมาด้วย ท่านจะให้เรียกพระเณรหรือลูกศิษย์ผู้ชายมานั่งอยู่เป็นเพื่อน ถ้ามีแต่ผู้หญิงถึงแม้จะหลายคนก็ตาม ถ้าไม่มีผู้ชายอยู่ด้วยถือว่าผิดพระวินัย การบิณฑบาตเป็นกิจประจำของพระ ถ้าหลวงปู่ท่านยังเดินได้ท่านจะบิณฑบาตก่อน หลวงปู่ท่านสอนว่า "ของใหญ่ๆท่อนซุง ท่อนยาง มันไม่เข้าตาของคนหรอก ของเล็กๆน้อยๆ หยากเยื่อนั้นแหละมันเข้าตาคน" การที่ท่านปฏิบัติก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์ลูกหาต่อไป กิจประจำวันในขณะที่หลวงปู่พักอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวงคือ เช้ารับบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จแล้วสนทนาให้ธรรมะแก่ญาติโยม หลังจากนั้นก็เข้าที่ในความสงบในที่พัก ตอนบ่ายบางวันท่านก็เดินเที่ยวตามป่า ดูต้นไม้อันไหนเป็นยารักษาโรคได้ ท่านก็ให้เก็บเอา บ่าย 4 โมงเย็น ศิษย์พระเณรนำน้ำอุ่นไปถวายสรงน้ำหลวงปู่ ตอนหัวค่ำอบรมพระเณรและโยมที่ติดตามไปปฏิบัติธรรม
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 เป็นวันมาฆบูชา ในขณะที่หลวงปู่พักวิเวกอยู่วัดป่าแม่เมืองหลวง ในตอนเช้าหลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรรับบิณฑบาต โปรดชาวกะเหรี่ยงที่มารวมกันใส่บาตรในบริเวณวัด ตอนค่ำหลวงปู่นำทำพิธีกล่าวคำถวายบูชาดอกไม้ธูปเทียนเนื่องในวันมาฆบูชาและนำเวียนเทียน เสร็จแล้วนำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วอบรมศีลธรรมแก่ญาติโยมที่มาร่วมทำพิธีมาฆบูชา ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้ใหญ่จากบ้านแม่เมืองหลวงและบ้านใต้ และที่อยู่ไกลคือบ้านขุนห้วยเดื่อ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดแม่เมืองหลวงขึ้นเขาลงเขาไป 6 กิโลเมตร
หลังจากวันมาฆบูชาไม่กี่วัน ได้มีโยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อมานิมนต์หลวงปู่ไปตัดผีให้ หลวงปู่ไม่สามารถจะเดินถึงบ้านขุนห้วยเดื่อได้เพราะขาท่านไม่ดี หลวงปู่จึงให้ผู้เขียนและพระอีก 2 รูป ไปทำพิธีตัดผีให้โยมกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อ เดินจากวัดป่าแม่เมืองหลวง ขึ้นเขาลงห้วย และไปตามลำธารและนาของพวกกะเหรี่ยงซึ่งทำนาตามที่ราบในหุบเขา เดินไปตามทางพวกกะเหรี่ยงเดินไปมาหากินระหว่างหมู่บ้าน บางแห่งก็มีกองอิฐพังกระจัดกระจาย ดูแล้วเป็นสถูปเจดีย์สมัยโบราณ เดินไปประมาณชั่วโมงครึ่งถึงลำธารมีน้ำใสเย็นดี ข้ามลำธารไปมองเห็นหมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงอยู่เชิงเขา ปลูกบ้านอยู่ที่สูงบ้างต่ำบ้างลดหลั่นกันไป บ้านหลังเล็กๆพอเดินไปถึงหมู่บ้าน ทีแรกเห็นมีโรงยาวประมาณ 8 เมตร มุงด้วยใบตองตึงมีเสาธงชาติปักอยู่ ถามโยมกะเหรี่ยงที่พาเดินทางไป ได้ความว่าเป็นโรงเรียนบ้านขุนห้วยเดื่อ แต่ไม่มีนักเรียน เขาบอกว่าวันนี้นักเรียนไม่มาเรียน คือวันไหนนักเรียนมาครูก็สอน วันไหนนักเรียนไม่มาครูก็ไม่สอน เพราะยังบังคับไม่ได้ เมื่อเดินไปถึงบ้านโยมที่ต้องการตัดผี เขาก็นิมนต์ให้ขึ้นบนบ้าน บ้านพวกกะเหรี่ยงหลักเล็ก เสาไม้ก่อ หลังคามุงด้วยใบตองตึง แอ้มด้วยฝาฟากไม้ไผ่ บางหลังก็แอ้มด้วยฝาใบตองตึง ปูด้วยฟากไม้ไผ่ เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว เจ้าของบ้านก็นำน้ำร้อนต้มรากไม้ และกระบอกเกลือหมากเม็ดพร้อมถ้วยสำหรับกินน้ำร้อนเข้ามาถวาย รับประเคนด้วยความเอื้อเฟื้อแล้ววางไว้ แล้วผู้เขียนก็ถามไถ่กับเจ้าของบ้านว่า "ทำไมจึงอยากตัดผี" เขาบอกว่า "ถือผีอยู่กับผีลำบากยุ่งยากหลายอย่าง คีไฟ (ที่ก่อไฟ) ก็เอาไว้กลางเรือน ทำให้ดำสกปรกไปหมด ทำอะไรก็คอยแต่จะผิดผี อย่างลูกสาวแต่งงานกับสามีออกเรือนไปแล้ว พอพ่อแม่เหลืออยู่บ้านคนเดียว จะกลับเข้ามาอยู่ด้วยก็ไม่ได้ ผิดผี ผีของชาวกะเหรี่ยงมีมาก มีอยู่ที่บันไดขึ้นบ้าน อยู่ที่ตุ่มน้ำกิน อยู่ที่เล้าหมูเล้าไก่ อยู่ที่หม้อต้มแกง อยู่ที่ประตูเรือน อยู่ที่คีไฟกลางเรือน ลำบากกับการเลี้ยงบวงสรวงผี และปฏิบัติตามกฎของผี ฉะนั้นเขาจึงอยากตัดผีทิ้งไป" เมื่อได้ฟังอย่างนั้นผู้เขียนจึงกล่าวนำให้เจ้าของบ้านไหว้พระ แล้วประกาศตนถึงพระรัตนตรัยและสมาทานศีลห้า เสร็จแล้วสวดมนต์ทำน้ำพระพุทธมนต์พรมให้ทั้งบ้านทั้งคน แล้วก็ถอนก้อนเส้าที่อยู่คีไฟกลางเรือนสำหรับหุงข้าวต้มแกงออก เพื่อให้ทำเรือนไฟต่างหาก เสร็จแล้วก็สอนเขาให้สวดมนต์ไหว้พระและเจริญเมตตาภาวนา ระลึกถึงพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ประจำใจ ให้เคารพพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามแบบที่หลวงปู่เคยสอนมา เสร็จบ้านหนึ่งก็ไปอีกบ้านหนึ่ง ในวันนั้นมี 5 หลังคาเรือนที่ให้ทำพิธีตัดผีให้
มีบ้านหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านเป็นยายแก่ตัวดำขะมุกขะมอม อาศัยใต้ยุ้งข้าวเล็กๆ ต่อเพิงหลังคาใบตองตึงรอบยุ้งข้าว ยายอาศัยอยู่คนเดียว ยายมีลูกสาวคนหนึ่ง แต่งงานแล้วมีลูกออกเรือนอยู่กับสามี ต่อมาสามีหย่าทิ้งให้อยู่กับลูกชายเล็กๆคนหนึ่ง ลูกสาวนั้นจะกลับมาอยู่กับยายก็ไม่ได้ ถ้ากลับมาก็ผิดผี ยายจึงต้องการตัดผีเพื่อจะให้ลูกสาวกลับมาอยู่ด้วย เมื่อผู้เขียนพร้อมพระอีก 2 รูป และพ่อโป๊กวา ซึ่งเป็นโยมผู้ชายชาวกะเหรี่ยงที่ติดตามไปด้วย ไปถึงบ้านยายแก่ มันเป็นใต้ถุนยุ้งข้าว หมอบเข้าไปนั่งพื้นยุ้งข้าวพอพ้นศีรษะ ในเรือนดำไปด้วยเขม่าเพราะคีไฟ (ที่ก่อไฟหุงต้ม) อยู่กลางเรือน จีวรมอมแมมไปด้วยเขม่าไฟ ทำพิธีตัดผีด้วยการนำยายไหว้พระ สมาทานศีลห้า แล้วสวดมนต์พรมน้ำมนต์ให้ สอนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือ เว้นจากการทำบาป ตั้งอยู่ในการทำความดี มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง เสร็จแล้วยายได้นำน้ำอ้อยก้อนหนึ่งขนาดเท่าสองนิ้วมือเข้ามาถวาย เพราะปัจจัยไทยทานอย่างอื่นของยายไม่มี ยายมีอยู่เพียงน้ำอ้อยก้อนเดียวเท่านั้น ในขณะนั้นทำให้ผู้เขียนเกิดความซาบซึ้งในน้ำใจเสียสละของยายหาสิ่งจะเปรียบมิได้ และได้รับให้ยายด้วยความตื้นตันใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้สงเคราะห์ชาวกะเหรี่ยงบ้านขุนห้วยเดื่อทั้ง 5 หลังคาเรือนให้ตั้งอยู่ในพระรัตนตรัยแล้ว จึงเดินทางกลับวัดป่าแม่เมืองหลวง ถึงวัดเป็นเวลาเย็นมาก จึงได้กราบเรียนให้หลวงปู่ทราบด้วยความเอิบอิ่มใจ
หลวงปู่พาพักวิเวกอยู่ที่วัดป่าแม่เมืองหลวง จนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2529 จึงเดินทางกลับ เช้าวันที่ 5 หลังจากฉันบิณฑบาตเช้าแล้วรถเข้าไปรับ อำลาญาติโยมชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่เมืองหลวงแล้ว หลวงปู่และผู้ติดตามลาพระเณรในวัด กล่าวมอบเสนาสนะแล้วขึ้นรถกลับ พอมาถึงหลังเขาลูกศิษย์ขอถ่ายรูปหลวงปู่เป็นอนุสรณ์ ออกมาถึงบ้านป่าแป๋ แม่บัวผายนิมนต์ให้หลวงปู่แวะฉันน้ำที่ร้านบ้านป่าแป๋ด้วย ต่อจากนั้นจึงเดินทางเข้าเชียงใหม่
เมื่อมาถึงเชียงใหม่โยมพ่อวิจิตร ได้พาหลวงปู่ขึ้นไปไหว้พระธาตุดอยสุเทพ รถนำหลวงปู่และผู้ติดตามวิ่งตามถนนคดเคี้ยวขึ้นสู่ยอดดอยสุเทพถึงลานจอดรถ หลวงปู่และผู้ติดตามลงจากรถแล้วท่านพยายามเดินขึ้นไปสู่พระธาตุด้วยตัวท่านเอง คณะศิษย์เป็นห่วงหลวงปู่เพราะขาของท่านไม่ดี หลวงปู่พาผู้ติดตามกราบนมัสการพระธาตุและพระประธานในพระวิหาร เสร็จแล้วเดินทางกลับเข้าเชียงใหม่ แวะพักที่บ้านโยมพ่อวิจิตร เวลา 20.00 น. โยมพ่อวิจิตรและแม่บัวผาย ไปส่งหลวงปู่และผู้ติดตามที่สนามบินเชียงใหม่ เมื่อได้เวลาเครื่องบินพาทะยานขึ้นสู่อากาศ เดินทางถึงกรุงเทพฯ เวลา 22.00 น. หลวงปู่พักที่กรุงเทพฯ ไม่กี่วันก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส อุดรธานี
ย้อนกลับ ต่อไป
|