พ.ศ. 2534 พรรษาที่ 56 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส
ในพรรษานี้หลวงปู่ยังคงเมตตาต้อนรับลูกศิษย์ลูกหาซึ่งมาจากที่ต่างๆ ซึ่งใกล้และไกล นับวันเพิ่มมากขึ้น บางวันทั้งตอนเช้า กลางวัน และตอนเย็น หลวงปู่ท่านให้ทั้งวัตถุธรรม ให้ทั้งธรรมะ บางคนมาหาท่านแล้วบอกว่าไม่สบายมีอาการอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้ายาที่ท่านมี ท่านก็ให้ไป ถ้าไม่มีท่านก็บอกให้เอาต้นไม้ชนิดนั้นชนิดนี้มาต้มกิน ฝนกิน เพราะหลวงปู่ท่านชำนาญทางสมุนไพร บางคนก็บอกว่ากินไม่ได้นอนไม่หลับ อยากได้น้ำมนต์ อยากได้ด้ายผูกข้อมือ ท่านก็ทำให้ บางวันท่านนั่งทำน้ำมนต์ทำฝ้ายผูกข้อมือ ตั้งแต่ฉันเช้าเสร็จจนถึงบ่ายโมง ผู้เขียนเคยกราบเรียนท่านว่า "หลวงปู่ บางวันฝ้ายผูกข้อมือมันมาก หลวงปู่จับทำทีละเส้นมันไม่เสร็จเร็ว หลวงปู่จับรวมกันเป่าแล้วก็เอาให้ไปเลย จะได้เสร็จเร็วๆ" หลวงปู่ท่านตอบว่า "ถ้าทำไม่ดีแล้วจะทำไปทำไม ถ้าทำก็ต้องทำให้ดี" แล้วหลวงปู่ก็ทำต่อไปอย่างเยือกเย็น คนที่อยากได้ก็นั่งคอยรับอย่างเยือกเย็น ใครรีบร้อนไม่มีหวังได้จากหลวงปู่ บางทีเมื่อท่านให้สิ่งที่เป็นวัตถุแล้วท่านก็สอนธรรมะต่อ "ดีชั่วก็ตัวเรา จงทำเอาอยู่ที่ใจ"
หลังจากออกพรรษาแล้ว วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายของหลวงปู่ ได้อาพาธกะทันหันมีไข้สูง ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลอำเภอไชยวาน หมอตรวจพบว่ามีน้ำในปอดมาก จึงได้นำท่านส่งต่อโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี หมอตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งในปอด หมอทำการรักษาแต่อาการมีแต่ทรงกับทรุดลงเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 หลวงปู่ท่านพูดแย้มๆว่า "หลวงพ่อสิงห์ เห็นท่าจะไม่ไหวเสียแล้ว" ท่านจึงไปขออนุญาตหมอนำหลวงปู่คำสิงห์กลับวัดตอนเย็น วันที่ 16 พอเช้าวันที่ 17 พฤศจิกายน 2534 เวลา 7.00 น. หลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ได้ละสังขารจากโลกไปอย่างไม่มีอาลัยในวัฏฏสงสาร เมื่ออายุของท่านได้ 84 ปี หลวงปู่เป็นประธานพาศิษยานุศิษย์บำเพ็ญกุศลกุศลศพหลวงปู่คำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายอยู่ 15 วัน จึงได้ประชุมเพลิงศพเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เวลา 17.00 น.
เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่)
เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่เป็นประธานวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำ (พิพิธภัณฑ์บริขารหลวงปู่) ท่ามกลางศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก วิหารหลังนี้สร้างอยู่กลางบ่อน้ำสี่เหลี่ยม เดิมทีสถานที่นี้เป็นหนองน้ำธรรมชาติกลางป่าดง น้ำไม่เคยแห้งตลอดฤดูแล้ง ชาวบ้านเรียกหนองน้ำนี้ว่า "หนองทุ่ม" (เพราะมีต้นกระทุ่มอยู่ริมหนองน้ำ) เมื่อหลวงปู่มาสร้างวัดได้ 1 ปีผ่านไป ปีที่ 2 ท่านจึงให้ญาติโยมสร้างกุฏิในหนองน้ำเรียกว่า "กุฏิกลางน้ำเล็ก" ทำด้วยไม้ เมื่อทำเสร็จแล้วหลวงปู่ได้มาพำนักอยู่ จนถึงปีพ.ศ. 2503 เมื่อได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา หลวงปู่จึงให้ปักเขตคร่อมบริเวณหนองน้ำนี้ และได้พาพวกญาติโยมสร้างวิหารไม้หลังใหญ่ สิ้นค่าก่อสร้าง 9,000 บาท ใช้เป็นที่ทำสังฆกรรมบวชพระเณร และลงอุโบสถสวดปาฏิโมกข์ด้วย และหลวงปู่ได้ย้ายจากกุฏิกลางน้ำเล็กขึ้นมาพำนักอยู่ที่วิหารกลางน้ำไม้หลังใหญ่ จนถึง พ.ศ. 2516 ท่านจึงย้ายลงไปพำนักที่อื่น เพราะวิหารไม้หลังใหญ่ชำรุด ปีพ.ศ. 2521 จึงได้ย้ายเขตวิสุงคามสีมาไปปักเขตที่ศาลาการเปรียญ เมื่อปลายปีพ.ศ. 2534 โครงการอีสานเขียวนำโดยคณะนายทหาร ได้มาขุดลอกหนองทุ่มให้เป็นสระสี่เหลี่ยม หลวงปู่ให้รื้อวิหารไม้ออก และวางศิลามงคลสร้างวิหารคอนกรีตขึ้นแทน
หลวงปู่พูดแย้มๆให้ศิษย์ฟังว่า "ในชาติหนึ่งเคยเป็นฟาน (อีเก้ง) มาอาศัยกินน้ำที่หนองทุ่มนี้และตายที่นี่ ที่เคยเกิดเคยตายมันก็วนเวียนอยู่นั้นแหละ ในชาตินี้ก็คงจะตายที่นี้อีก"
เดือนมกราคมหลังจากเสร็จพิธีวางศิลามงคลสร้างวิหารกลางน้ำแล้ว หลวงปู่มีอาการไอ และมีเลือดปนออกมากับน้ำลายที่บ้วนลงกระโถน สีแดงเหมือนน้ำหมาก ลูกศิษย์พยายามถามอาการก็ถูกท่านว่าเอา "วุ่นวายอะไรกับสังขาร ทำอย่างไรก็ไม่พ้นตายหรอก" หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2535 หลวงปู่ไปเป็นประธานในพิธีฉลองศาลาการเปรียญวัดป่าภูวังงาม บ้านคำเลาะ คุณสุดใจ สุขุมารจันทร์ เห็นสุขภาพหลวงปู่อิดโรย จึงได้กราบขอนิมนต์หลวงปู่ให้ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรามคำแหง กรุงเทพฯ คุณสุดใจมีสามีเป็นนายแพทย์อยู่ที่นั้น คือคุณหมอยศวี สุขุมารจันทร์ จะได้ถวายการดูแลรักษาหลวงปู่ หลวงปู่ได้แต่ขออนุโมทนา ในที่สุดก็ไม่รับนิมนต์ จนเวลาล่วงเลยมาถึงเดือนพฤษภาคม อาการของหลวงปู่ได้กำเริบมาก มีอาการสะอึก บางทีจนแทบหายใจไม่ได้ และมีอาการคันและเบื่ออาหารมาก คณะศิษย์จึงอ้อนวอนขอให้หลวงปู่ไปตรวจคอมพิวเตอร์ที่คลินิกหมออุดม อ.สว่างแดนดิน หลวงปู่ยอมไป คุณหมออุดมได้ถวายการตรวจ พบว่าในปอดมีจุดใหญ่ คุณหมอแนะนำว่าควรจะนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น คณะศิษย์ขอกราบนิมนต์หลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่ไม่ยอมรับ ท่านได้แต่บอกว่า "วุ่นวายอะไร" แล้วท่านก็นิ่งเฉย ต่อมาไม่กี่วันอาการได้กำเริบหนักขึ้น หลวงปู่สะอึกแล้วหายใจไม่ออก พอดีวันนั้นมีลูกศิษย์หลายคนมาเยี่ยมดูอาการหลวงปู่ จึงได้ช่วยกันอ้อนวอนหลวงปู่ให้เมตตาลูกศิษย์ลูกหา อย่าเพิ่งด่วนปล่อยทิ้งเลย ในที่สุดท่านเมตตายอมรับนิมนต์ไปรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น จึงได้โทรศัพท์ถึงคุณหมอสุนทร ศรีโพธิ์ ที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงปู่ท่านหนึ่งที่หลวงปู่เมตตามาก ให้ติดต่อกับคณะศิษย์ที่เป็นหมอในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ แล้วจึงได้นำหลวงปู่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ พักห้องพิเศษ การรักษาพยาบาลหลวงปู่นั้นมีปัญหาอยู่ว่า ท่านไม่ยอมให้หมอและพยาบาลผู้หญิงตรวจรักษาและฉีดยา ด้วยเหตุนี้ ผศ.นพ. วิสุทธิ์ สุขีไพศาลเจริญ จึงรับเป็นภาระในการดูแลรักษาหลวงปู่ และถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ด้วย การอาพาธของหลวงปู่ในครั้งนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นวัณโรคที่ปอด ในระยะที่หลวงปู่พักรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์นั้น ได้มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งเก่าและใหม่ เมื่อทราบว่าหลวงปู่อาพาธต่างคนต่างก็มีความเป็นห่วงได้มาเยี่ยมเยียนมิได้ขาด เมื่ออาการของหลวงปู่ดีขึ้น ท่านก็เมตตาไต่ถามและให้ธรรมะแก่ลูกศิษย์ที่มาเยี่ยมด้วย
ความอกตัญญูลบหลู่ครูบาอาจารย์ย่อมนำมาซึ่งความหายนะ หลวงปู่ได้เตือนลูกศิษย์ให้รู้คุณของผู้มีคุณ ผู้ใดรู้คุณของผู้มีคุณย่อมนำมาซึ่งความเจริญและเป็นคนดี ตามพุทธภาษิตว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญู กตเวทิตา ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี หลวงปู่เล่านิทานเรียนคาถาเสกมะม่วงว่า กาลครั้งหนึ่ง มานพหนุ่มเดินทางไปศึกษาวิทยาการ ณ สำนักอาจารย์เล็กๆที่ไม่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง สิ่งที่ได้ศึกษานั้นคือวิชาเสกมะม่วง เมื่อสำเร็จสมปรารถนาแล้วจึงเดินทางกลับบ้านเดิม ลงมือปลูกมะม่วง และทุกๆวันเขาจะสวดภาวนาคาถาที่ได้ร่ำเรียนมา เสกเป่าใส่น้ำที่ใช้รดมะม่วงนั้น จนกระทั่งมีผลผลิตดกหนาเต็มต้นตลอดทั้งปี แม้ในยามที่แล้ง อีกทั้งมีรสชาติหอมหวานจนใครๆได้ชิมแล้วก็ล้วนติดใจ กิตติศัพท์ความวิเศษของมะม่วงนี้รู้ไปถึงพระราชาผู้ครองนคร พระองค์มีความปรารถนาที่จะลิ้มรส เมื่อได้ลองเสวยลูกแรก พระองค์รู้สึกติดพระทัยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้มหาดเล็กนำมาถวายทุกวัน และมีพระประสงค์จะพบกับมานพหนุ่มผู้เป็นเจ้าของมะม่วงต้นนั้น จึงรับสั่งให้นำตัวมาเข้าเฝ้า เมื่อมหาดเล็กไปแจ้งแก่ชายหนุ่มชายผู้เป็นเจ้าของมะม่วงวิเศษนั้น รู้สึกอับอายที่ไม่มีเสื้อผ้าดีๆสวมใส่ จึงไม่ยอมเข้าเฝ้า มหาดเล็กกลับไปทูลความจริงต่อพระราชา พระราชาจึงได้พระราชทานเสื้อผ้าดีๆ และทรัพย์สินมากมาย เมื่อชายหนุ่มนั้นเข้าเฝ้าตามพระประสงค์ พระราชาตรัสถามว่าท่านได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาจากสำนักใด มะม่วงนั้นจึงมีรสชาติที่วิเศษนัก ชายหนุ่มไม่กล้าตอบตามความจริง เพราะรู้สึกอับอายที่สำนักอาจารย์ตนนั้นไม่มีชื่อเสียง จึงอ้างเอาสำนักทิศาปาโมกข์ที่มีชื่อเสียงแห่งเมืองตักศิลาแทน ด้วยผลแห่งการลบหลู่ดูถูกผู้มีคุณ ทำให้วิชาที่ศึกษานั้นเสื่อมไปทันที มะม่วงที่เคยให้ผลดกบริบูรณ์และรสชาติหอมหวาน ก็กลับเป็นเสมือนมะม่วงธรรมดาที่ไม่มีความพิเศษอันใด พระราชาจึงไม่โปรดปรานอีกต่อไป ฐานะที่เคยเป็นเศรษฐี ก็กลายเป็นบุรุษผู้ยากไร้ดังเดิม เขาจึงเดินทางไปพบอาจารย์ตนเพื่อขอเรียนคาถาเสกมะม่วงอีกครั้ง แต่อาจารย์ก็ได้กล่าวแสดงความเสียใจว่า เมื่อคาถาเสื่อมก็ไม่อาจสอนให้เป็นครั้งที่ 2 ได้ แม้ว่าเขาจะอ้อนวอนอย่างไรก็ตาม ในที่สุดก็ต้องเดินทางกลับด้วยความเสียใจและผิดหวัง "ผู้ใดไม่ยกย่องครูอาจารย์ย่อมไม่เจริญ" หลวงปู่แสดงให้ลูกศิษย์ฟังอย่างนี้ที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ หลวงปู่พักรักษาอยู่เป็นเวลา 1 เดือน จึงได้กลับวัดป่าสันติกาวาส เมื่ออาการของท่านดีขึ้น คุณหมอวิสุทธิ์และคณะแพทย์ที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ได้ถวายการรักษาต่อที่วัดจนหลวงปู่หายเป็นปกติ
|