พรรษาที่ 7 พ.ศ. 2485 จำพรรษาที่วัดประชาบำรง (วัดป่าพูนไพบูลย์) อ.เมือง จ.มหาสารคาม
พอใกล้จะเข้าพรรษาหลวงปู่ได้เดินทางออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไปจำพรรษาอยู่กับพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าช้าเมืองมหาสารคาม (ในครั้งนั้นเรียกชื่อวัดว่าวัดป่าพูนไพบูลย์ ปัจจุบันนี้เป็นวัดประชาบำรุง) หลวงปู่เล่าว่าในพรรษาได้ประกอบความพากความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาด้วยความไม่ประมาท อดนอนผ่อนอาหาร เอากายกับใจเป็นหลักในการพิจารณา พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจ การพิจารณากายก็พิจารณาให้เห็นเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อย ในที่สุดก็จะต้องตายแตกสลายลงสู่ความเป็นธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติ พิจารณาใจก็พิจารณาให้เป็นเป็นของเกิดๆดับๆ ตามอารมณ์ต่างๆ เป็นไม่แน่นอน ไม่มีตัวตน เป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น การปฏิบัติอาจาริยวัตรท่านได้ทำด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ ทำด้วยความเอาใจใส่ ไม่ให้ย่อหย่อน ไม่เห็นแก่หลับแก่นอน ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีสติสัมปชัญญะคอยระมัดระวังอยู่อย่างนั้น ในการปฏิบัติทั้งภายนอกและภายใน หลวงปู่เล่าว่า โยมเมืองมหาสารคาม เขาก็เก่งเหมือนกันในการปฏิบัติรักษาศีลภาวนา พอถึงวันพระเขาก็สมาทานอุโบสถศีล คือ รักษาศีล 8 ประการ และอธิษฐานไม่นอน เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาฟังครูบาอาจารย์อบรมธรรมะไปจนสว่างและคอยเตือนใจให้สติพระเณรด้วย พอมีพระเณรองค์ไหนนั่งไม่ตรงพิงฝาพิงเสา เขาจะถามว่า "ท่านดูกสันหลังไม่มีหรือ" ในที่สุดพระเณรก็มีสติระมัดระวังไปด้วย
ในพรรษานี้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งได้รับยศเป็นขุน หมู่เพื่อนทั้งหลายเรียกว่าท่านขุน ท่านขุนได้มารักษาอุโบสถศีล เดินจงกรมนั่งสมาธิ อดนอนในวันพระเป็นประจำ พออยู่มาใกล้จะออกพรรษา พอถึงวันพระอุโบสถ ท่านขุนก็ได้มาปฏิบัติธรรม รักษาศีล 8 เดินจงกรมนั่งสมาธิ อดนอนฟังครูบาอาจารย์อบรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วถึงเวลาพระไปบิณฑบาต หมู่เพื่อนทำข้อวัตร เตรียมอาหารสำหรับถวายพระ แต่ท่านขุนนั้นบอกหมู่เพื่อนว่าขอนอนพักผ่อนสักครู่หนึ่ง แต่แล้วจนะพระบิณฑบาตกลับถึงวัด ท่านขุนยังไม่ลุกไม่ตื่น หมู่เพื่อนจึงพูดกันว่าท่านขุนคงจะเหนื่อยปล่อยให้นอนไปก่อน จนในที่สุดพระเณรฉันบิณฑบาตเสร็จ ท่านขุนก็ยังไม่ตื่น หมู่เพื่อนจะรับประทานอาหาร จึงปลุกท่านขุนจะให้รับประทานอาหาร แต่แล้วในทีสุดทุกคนก็ตกตะลึงไปตามๆกัน เพราะท่านขุนนอนไม่ยอมตื่นได้หมดลมหายใจตายไปเสียแล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้นหมู่เพื่อนทั้งหลายจึงพากันรับประทานอาหาร เสร็จแล้วจึงได้จัดแจงจัดงานฌาปนกิจศพให้ท่านขุนจนเป็นที่เรียบร้อย ท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม จึงเทศนาว่าท่านขุนตายในขณะที่ศีลยังไม่ด่างพร้อยนับว่าตายดี สุคติย่อมเป็นที่ไป ความตายมีเหมือนกันหมดต่างกันแต่ว่า ตายในขณะที่ทำดี หรือทำความชั่ว ทำบุญหรือทำบาป
ในเมืองสารคาม มีเจ๊กฆ่าหมูอย่คนหนึ่ง แกฆ่าหมูเป็นประจำทุกๆวัน ฆ่าแล้วก็ชำแหละเอาเนื้อไปขายในตลาด อยู่มาวันหนึ่งหมูที่แกจะฆ่าเป็นหมูแม่ลูกอ่อน ในวันนั้นขณะที่ท่านอาจารย์คูณท่านนั่งสมาธิจิตสงบอยู่ เป็นเวลา 4 ทุ่ม ได้มีผู้หญิงคนหนึ่งเข้ามากราบท่านในนิมิตสมาธิ ร้องไห้ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ว่า "ขอให้ท่านอาจารย์เมตตาข้าน้อยด้วยเถิด เขาจะเอาข้าน้อยไปฆ่าในวันนี้ แต่ข้าน้อยมีลูกน้อยอยู่ ข้าน้อยสงสารลูกยังไม่โต" ท่านอาจารย์คูณจึงกำหนดถามในสมาธิว่า "โยมเป็นใคร" เขาจึงบอกว่า "เขาเป็นหมูแม่ลูกอ่อน" ท่านอาจารย์จึงบอกว่า "เอาละ เป็นกรรมของเฮา ขอให้ตั้งใจภาวนาพุทโธๆเด้อ" พอถึงเวลาตี 2 เสียงหมุร้อยกิ๊กๆ เจ๊กฆ่าหมูแม่ลูกอ่อน ท่านอาจารย์จึงนึกใจว่า "ตายแล้วหนอ จะทำอย่างไร กรรมของใครของมัน" พอเจ๊กแกฆ่าหมูเสร็จชำแหละเรียบร้อยแล้วบังเอิญยังไม่สว่าง เพราะแกฆ่าดึกไปหน่อย พอดีเข้าฤดูหนาวอากาศก็หนาวเย็น แกจึงก่อไฟผิง ขณะนั่งผิงไฟอยู่นั้นแกก็ง่วงนอนจึงเคลิ้มหลับฟุบลงไปในกองไฟ เสร็จแล้วก็ดิ้นวนอยู่ในกองไฟ ในทีสุดก็ขาดใจตายคากองไฟนั้น นี่แหละ คนทำบาป ก็ตายเหมือนกัน แต่ตายในขณะที่ทำบาป ทุคติย่อมเป็นที่ไป
หลวงปู่เล่าว่า มีชายคนหนึ่ง แกมาลักขโมยหน่อไม้ในวัด พอพระเดินไป แกเห็นพระแกนั่งทับหน่อไม้ไว้ พระจึงถามแกว่า "ทำอะไร" แกบอว่า "ผมถ่ายครับ" พระจึงพูดว่า "ถ่ายอะไร ไม่ใช่ลักหน่อไม้หรือ" พอพูดอย่างนั้นแกหอบหน่อไม้ได้ วิ่งออกจากวัดลงทุ่งไปเลย แกโกรธให้พระ วันหลังแกมาเดินข้างๆวัดแล้วก็ร้องลำด่าพระ "ปะโทนๆ ปะโทนๆ หัวโล้นวัดป่าขี้ใส่ต่า (ตะกร้า) มาให้มันกิน" พอแกว่าสมใจที่โกรธแค้นแล้วก็หนีไป พออยู่มาไม่นานแกก็เกิดท้องร่วง พอถ่ายออกมาก็กินของตัวเอง ในที่สุดก็ตายด้วยโรคท้องร่วงนั้น การทำบาปถึงแม้ไม่กลัวบาปก็ให้ผลได้ เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ได้กราบลาท่านอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
ไปเที่ยววิเวกทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม ในระยะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2486 ได้พบกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม เมื่อหลวงปู่พักอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอสุวรรณภูมิกับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม ไปถึงบ้านโนนลัง พักอยู่ที่ป่าช้าบ้านโนนลัง ในขณะนั้นมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งมีลูกสาวคนเดียว พอดีลูกสาวของแกได้เสียชีวิตไป เกิดมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นกำลัง จะตายตามลูกสาวให้ได้ จึงต้องเป็นภาระของหลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ได้ช่วยอบรมให้หายจากความโศกเศร้าเสียใจ เพราะความรักความอาลัย เมื่อมีความรักความอาลัยในสิ่งใด ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น เมื่อตัดความรักความอาลัยเสียได้ ทุกข์ก็ไม่มี หลวงปู่กับพระอาจารย์ลี ฐิตธมฺโม พักอยู่ป่าช้าบ้านโนนลังนี้หลายวัน พอเห็นว่าโยมผู้หญิงนั้นมีสติปัญญาพิจารณาเห็นสภาวะตามเป็นจริง จิตใจคลายจากความเศร้าโศกเสียใจได้แล้ว จึงได้ลาจากไป ได้เที่ยววิเวกกับพระอาจารย์ลี จนถึงเวลาใกล้จะเข้าพรรษาจึงได้กลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ย้อนกลับ ต่อไป
|