สมถวิปัสสนาภาวนา
อบรมฆราวาส ณ วัดป่าสันติกาวาส
21 กันยายน 2528
วันนี้เป็นวันธรรมสวนะ เป็นวันอันพุทธบริษัททั้งหลายมุ่งหน้าเข้ามาเพื่อจะประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี คือ มีทาน ท่านเราก็ได้ให้ไปแล้ว ศีลเราก็ได้วิรัติ เจตนาวิรัติเอาแล้ว ทั้ง 2 อย่างนี้ ก็พากันกระทำมาแล้ว เพราะเหตุอะไร พวกเราจึงได้ทำทาน จึงอยากจะทำทาน จึงอยากรักษาศีล อันนี้เป็นเบื้องต้นของเรา ที่เรามีความปรารถนาอยากจะฝึกหัดดัดกาย วาจา และใจของตน เพื่อให้เป็นแนวทางที่จะไปสู่สุคติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ต่างคนต่างละบ้านช่องของตนออกมา แม้จะมีกิจการมากเท่าไรก็ตาม ก็อุตส่าห์พยายามปลีกตัวออกมา เพื่อจะบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา ว่าอย่างนั้น
ทานคือสิ่งทีเป็นวัตถุภายนอก ได้แก่ ข้าว น้ำ โภชนา อาหาร หรือเครื่องใช้สอยต่างๆ มีผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นต้น นี่เรียกว่าเป็นการให้ทาน ส่วนการรักษาศีล ก็มีรักษากาย วาจา ใจ ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าท่านกล่าวไว้ มีหลายประเภทสำหรับศีล เบญศีล นี่อย่างหนึ่ง เบญจศีลก็คือ ศีลห้า ที่เราเคยสมาทานกันมาแล้ว หรือผู้ที่ไม่สมาทาน จะเจตนาวิรัติเอาก็ได้ เจตนาวิรัตนั้นว่าอย่างไร เจตนาหัง ภิกขะเว สีลัง วันทามี วันนี้ข้าพเจ้าจะรักษาศีล แล้วแต่ความประสงค์ของเรา จะวิรัตเอาศีล เบญจศีลก็ได้ คือ ศีลห้า หรือจะวิรัติเอาศีลอุโบสถคือศีลแปดก็ได้ นี้ไม่ยาก ถ้าหากว่าเรามีความประสงค์ที่จะฝึกหัดดัดตน หรือชำระจิตใจของตนให้ผ่องใส
ส่วนสำคัญก็มีใจนั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านว่า ศีล 227 นี้ เป็นศีลของพระปาฏิโมกข์ ศีลของพระ ศีล 10 เป็นศีลของสามเณร ศีล 8 เป็นศีลของฆราวาส หรือเป็นของแม่ชีก็ได้ เป็นของอุบาสก อุบาสิกา นี่เป็นหน้าที่ของพวกเรา ที่ไม่มีความสามารถที่จะรักษาศีล 227 ได้ เราได้แค่นี้ก็ยังเป็นการดี นี่แหละพวกเราได้พากันกระทำมาเป็นนิจ หรือทุกวันพระ ที่เราพากันกระทำมาอย่างที่ว่า ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ชำระจิตใจของพวกเราทั้งสิ้น การให้ทานก็ชำระมัจฉริยะความตระหนี่ความเหนียวแน่น ไม่อยากจะบริจาคทาน คือ มันหวงแหน ไม่อยากให้ทาน เรียกว่า มัจฉริยะ ความตระหนี่ที่มีอยู่ภายในจิตใจของพวกเรา ทุกคนย่อมมี หรือบางคนก็ให้ง่าย บางคนก็ให้ยาก นี่เป็นอย่างนี้ เวลามันเป็นเช่นนี้แล้ว เราก็อยากจะชำระความตระหนี่นั้นออกจากใจของเรา ไม่ให้มี เพื่อให้ใจของเรานั้นผ่องใส ไม่ให้ถืออยู่ในมัจฉริยะความตระหนี่นั้น
ส่วนศีลก็เหมือนกัน ศีลนี่ก็เป็นการชำระจิตใจของพวกเราเหมือนกัน คือเว้นจากบาป บาปปาปะธรรม เว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น จนตลอดถึงที่สุดที่เรียกว่า อุจจาสะยะนะ นั้น ไม่นั่งนอนเตียงตั่ง หรือฟูกเบาะที่ยัดด้วยนุ่นหรือสำลี นี่เว้นจากสิ่งเหล่านี้ อันนี้ก็เรื่องการำชำระจิตใจของพวกเราเหมือนกัน เวลามันติดอยู่ในสัมผัส สัมผัสที่อ่อนแข็งนี่เราติด เมื่อเวลานิ่มก็รู้สึกว่าสบายใจ นี่มันติดอยู่ในที่นี่ ก็พยายามชำระไม่ให้มี เพื่อจะรักษาศีล ชำระจิตใจของตน
และทีนี้ส่วนการภาวนานั้นก็เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ชำระจิตใจเหมือนกัน ให้เกิดให้มีเรียกว่า การภาวนา สิ่งที่ไม่เกิดก็ให้เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ก็รักษาเอาไว้ เหมือนอย่างภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า สักกายะ อัตตาโน สาธุ ละวะนัง โลนะ ตังยะถา ท่านว่า พึงรักษาคุณความดีของตนไว้เหมือนดั่งเกลือรักษาความเค็ม ความดีนั้นคืออะไร? อธิบายว่า ความดีนั้นก็คือ สิ่งที่ปราศจากโทษ สิ่งที่ไม่มีโทษ นั่นแหละเป็นความดี เป็นความบริสุทธิ์ สิ่งใดที่เป็นโทษที่เราลงมือทำหรือผู้ใดที่มีโทษเกิดจากทางกายก็มี เกิดขึ้นทางใจก็มี
สำหรับโทษเกิดขึ้นทางกาย คือ การกระทำทางกายของพวกเรา มีการทำลายชีวิตของเขาอย่างนี้ เป็นต้น นี่เรียกว่า บาปเกิดขึ้นทางกาย ความชั่วเกิดขึ้นทางใจ ส่วนที่เกิดขึ้นทางใจของพวกนั้นก็คือ อิจฉา พยาบาทหรือเบียดเบียนคนอื่น เหล่านี้เรียกว่าเกิดขึ้นทางใจ นี่บาปมันเกิดขึ้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้รักษาคุณงามความดีของตน รักษาจิตของตน ไม่ส่งไปในอารมณ์ต่างๆ นี่เป็นส่วนหนึ่ง จะเรียกว่าภายในก็ได้ หรือจะเรียกว่าภายนอกก็ได้ ส่วนอันเป็นภายในอันแท้จริงนั้นก็คือใจนั่นแหละ รักษาใจอย่างเดียว นี่มีสติรักษาอยู่เสมอ มันจะคิดนึกในสัญญาอารมณ์อะไร คิดถึงบ้านถึงช่อง ถึงลูกถึงหลาน เราก็ห้ามไว้ไม่ให้มันคิดไป เราจะรักษาให้อยู่กับคำบริกรรมที่เรียกนึกอยู่ในใจนั้นว่า พุทโธๆ นั่นเอง อันนี้เป็นเบื้องต้น ต่อแต่นี้ไปจะไม่พูดมาก เราจะต้องทำหน้าที่ของเราต่อไป คือ นั่งสมาธิให้มีสติประคับประคองใจของเรา อย่าให้มันฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ
ใครสบายอย่างไรก็นั่ง มันต้องพลิกหาดู มันจะสบายอย่างไร ถ้าหากว่ามันสบายแล้วก็ตั้งใจ ตั้งกายให้ตรง อย่าให้เอียงไปข้างซ้าย ข้างขวา หรือข้างหน้า ข้างหลัง อย่าก้มนัก เงยนัก ก้มนักเหมือนหอยนาหน้าต่ำ เงยนักเหมือนนกกระแต้นอนหงาย ท่านว่า ให้ดูพระพุทธรูปเป็นตัวอย่าง ทำให้อกผายไหล่ผึ่งแล้วก็ตั้งสติของตนไว้ให้ดี ให้สำรวมจิตของตนอยู่ แล้วก็นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 จบ แล้วนึกบริกรรมเอาคำเดียว นึก พุทโธๆอยู่อย่างนั้น แล้วคำบริกรรมกับใจของเรานั้นให้เป็นอันเดียวกัน ให้อยู่ด้วยกัน ไม่ให้เขวออกจากใจของเรา สำหรับพุทโธ กับใจของเรานั้น อย่าให้แยกออกจากกัน
ต่อแต่นี้ไปก็ให้สงบตั้งใจทุกคน จึงจะสมกับเราที่ตั้งใจมาชำระความชั่วออกจากใจของเรา ในระยะชั่วเวลา ก่อนที่เราจะได้กระทำอย่างนี้เป็นของยากที่สุด แล้วก็มีกิจการงานมายุ่ง กิจการงานทางราชการก็มี กิจการงานทางทำงานส่วนอื่น มีการทำไร่ ทำนา เป็นต้น เราต้องทำกิจการงานนี้ จนเราไม่สามารถออกมาบำเพ็ญตนได้ เพราะอุปสรรคเหล่านี้ขัดข้องอยู่เสมอ จะหาเวลาที่จะปลีกตัวออกมานั้นยากที่สุด เพราะฉะนั้น ในวันนี้เรามีเวลาหรือมีโอกาสดีแล้ว อุตส่าห์พยายามทำ ตั้งอกตั้งใจทำ จะเป็นตายอย่างไรขอบูชาพระรัตนตรัย เอากายบูชา เอาใจของเราบูชา นึกพุทโธๆ บูชาพระพุทธเจ้า บูชาพระธรรม บูชาพระอริยสงฆ์ ทั้ง 3 อย่างนี้ เรียกว่า ไตรสรณคมน์ หรือพระรัตนตรัย นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น
เอ้า ต่อแต่นี้ไปก็เมื่อหากว่าจิตของเราสงบ ขาดจากสัญญาอารมณ์แล้ว มันจะรวม บางคนก็จะมีอาการเย็นสบายลงไปเลยก็มี นี่ให้สังเกตให้ดี ให้สังเกตจิตของตนให้ดี บางคนก็มีอาการวูบวาบลงไปก็มี นี่ลักษณะของจิตเราที่ขาดจากสัญญาอารมณ์ มันจะรวมในเบื้องต้น บางทีก็มีอาการวับแวบเข้าไปก็มี บางทีปรากฏว่ากายของเราลอยไปในอากาศก็มี นี่อาการหนึ่ง บางทีเมื่อหากว่า ใจของเรามันจมลงไปเหมือนลงในที่ลึก จนเราตกประหม่า เป็นอย่างนั้น เมื่อหากว่าเป็นเช่นนั้น เราอย่าเพิ่งไปตกใจ ไม่ต้องตกใจ ทำความรู้เท่าว่า อาการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอาการของสิ่งที่มาหลอกลวงให้จิตของเราถอนจากสมาธินั้น ให้พึงทำความเข้าใจ รู้เท่าอย่างนั้น บางทีเมื่อเวลาจิตของเรามันรวมลงไป มันเกิดแสงสว่างขึ้นมา เหมือนอย่างแสงไฟนีออนนั่น แจ้งสว่างอยู่อย่างนั้น อันนี้อย่าเพิ่งไปลืมตาดู ให้พึงทำความรู้เท่าว่า เอ้า ในขณะนี้ใจของเราจะรวมแล้ว จิตของเรามันรวมลงไปแล้ว มันเกิดแสงประภัสสรขึ้นมาแล้ว ให้รู้เท่า อย่าไปส่งใจไปตามแสงนั้น ให้รู้จักรู้เท่า เอ้า ใครเป็นคนรู้ ใครเป็นคนเห็นอยู่ในที่นี้ เราหลับตาอยู่ทำไมรู้ ทำไมเห็น ทีนี้เราพึงตั้งสติน้อมเข้าไปหาผู้ที่รู้ก็คือใจเรานั้นน่ะ รู้จากใจ เห็นอยู่ที่ใจนั้นน่ะ นั่นปรากฏว่าอยู่ในที่นั้น ให้น้อมเข้าไปในที่นั้น อย่าส่งไปตาม บางทีเกิดแสงจ้าลอยเข้ามา บางทีอาจจะลืมตัวไปก็ได้ เพราะความอยากคือตัณหา เห็นว่าเป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ นึกว่าเป็นแก้วไปจริงๆ เป็นของวิเศษ เดี๋ยวก็จะตะครุบเอา เอื้อมมือ หรือแบมือไปเอาอย่างนั้น อย่าเพิ่งไปทำอย่างนั้น เมื่อเวลามันเกิดขึ้นมาแล้วก็ให้ดูอยู่เฉยๆ เมื่อเวลาดูแล้ว เราก็น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา มันแจ้งอยู่ที่ไหน อะไร มันเป็นให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรานั้นน่ะ รู้อยู่ที่ใจของเรา อย่าเพิ่งเอื้อมมือไป อย่าเพิ่งลืมตาดู ถ้าหากว่าเราไปนึกขึ้น จะลืมตาดู หรือนึกว่าจะหยิบเอาอย่างนี้ หรือจะกำเอาอย่างนี้ จิตของเรามันถอนจากสมาธิ ก็เลยไม่สงบได้
ทีนี้บางทีมันเกิดขึ้นมาเห็นคนตายนอนขวางหน้าอยู่ อย่างนี้ก็มี อย่าเพิ่งไปกลัว อันนี้เป็นแต่เพียงนิมิตต่างหาก ไม่ใช่เป็นความจริง ให้พึงทำความรู้เท่าอย่างนั้น บางทีจะไปกลัวจนละเมอไปก้ได้นะ บางทีปรากฏเห็นซากศพอันนั้นเหลือแต่โครงกระดูก อยู่อย่างนั้น เราเพ่งดูอยู่เฉยๆ ให้น้อมเข้ามาว่า เอ้า ร่างกายของเรานี้ก็จะเหมือนกัน เหมือนซากศพหรือเหมือนโครงกระดูกนั้น ก็เหมือนกันนั้นแหละ น้อมเข้ามากำหนดดู ตั้งสติกำหนดดูตัวของเรา เมื่อเวลากำหนดแล้ว มันจะเปื่อยจะเน่าก็เหมือนอย่างนี้ไหม น้อมเข้ามาพิจารณา เอ้า ถ้ายังไม่เป็นเหมือนอย่างนั้น เราก็ยับยั้ง ดูอยู่เฉยๆ ทีนี้ เพ่งดู เมื่อเวลาเพ่งดูภาพศพ หรือร่างโครงกระดูกอันนั้นแล้ว มันเห็นชัดเจนอยู่อย่างนี้น่ะ เราต้องน้อมเข้ามาๆสู่ใจของเรา มาดูกายของเรา เราเห็นที่ไหน เห็นส่วนภายนอกนั้นน่ะ เห็นอยู่ที่ไหน เราก็กำหนดเอาที่นั้นน่ะมา หมายเอาตัวของเรานี้ ดูที่ตัวของเรา ให้เห็นอยู่ที่ตัวของเรานี้
เมื่อเวลาเห็นอยู่ที่ตัวของเราแล้ว นั้นน่ะเป็นความจริง เห็นสภาพความเป็นจริงของกายของเรา ใครเป็นคนเห็น ใครเป็นคนรู้ ทีนี้ล่ะ น้อมเข้ามาอีก น้อมเข้ามาสู่ผู้รู้ หรือผู้ที่เห็นนั้นน่ะ ดูอยู่ที่นี่จนชำนิชำนาญ เราจะลืมตาดูก็เห็นอยู่อย่างนั้น จะหลับตาก็เห็นอยู่อย่างนั้น อันนี้ท่านเรียกว่า นิมิตติดตา อย่าเพิ่งไปเผลอ มันเกิดนิมิตติดตาขึ้นมาแล้ว เราดูอยู่อย่างนั้น เมื่อหากว่าเราไม่ต้องการอยากจะดู อย่างนี้ เราหายใจเข้าแรงๆ หายใจออกแรงๆ ตั้งสติดีๆ อย่าให้เผลอ แล้วก็หายใจเข้าแรงหายใจออกแรงๆ แล้วก็หายไปเลย นี่วิธีแก้ อย่าไปลืม ลืมสติ ให้รู้เท่าอย่างนั้น เอ้า ถ้าหากว่ามันสงบอยู่เฉยๆ ก็รักษาอยู่เสียก่อน อันนี้แหละจิตของเรามันบริสุทธิ์ เมื่อเวลามันรวมลงไป มันก็เยือกเย็นสบายอยู่อย่างนั้น ในขณะที่จิตของเรามันบริสุทธิ์ จิตของเรามันผ่องใส จนเกิดแสงสว่างขึ้นมา มันเกิดมาจากไหน เกิดมาจากใจนั่นแหละ ใจของเราบริสุทธิ์ มันก็มีแสงประภัสสรเกิด ปรากฏขึ้นมาให้เรารู้ นี่มันเป็นอย่างนั้น
แต่นี้ไปก็จะไม่แสดงให้มากมาย เสียเวลาที่จะทำจิต เดี๋ยวก็จะส่งจิตมาคอยฟังเอาเสียงอยู่ที่นี่ อย่าส่งมา ให้กำหนดอยู่ที่ตัวของเรานั้น ได้ยินเสียงก้ได้ยินอยู่ที่ใจของเรานั้น ส่งเข้าไปหาใจของเรา อย่าส่งมาหาเสียงที่ท่านพูดอยู่ ท่านแสดงอยู่ที่นี่ อย่าส่งมา ให้รักษาใจของตัวไว้ให้ดี เอ้า ต่อแต่นี้ไปก็ทำหน้าที่ของตัวจนกว่าที่จะบอกให้หยุด แล้วแต่โอกาส อย่าได้กระดุกกระดิก ให้นิ่ง จึงจะเห็นความจริงอยู่ภายในใจของเรา
ใครยังนั่งไม่ถนัด ไม่สบายอยู่ก็พลิกหาดู อย่าก้มนัก ถ้าก้มเกินไป จิตของเรารวมไม่ถนัด ไม่สบาย ให้ตั้งพอดี พอดีละ เอ้า แต่นี้ไปก้ให้ตั้งใจอธิษฐาน ขอให้จิตของข้าพเจ้ารวมเป็นสมาธิ เพื่อบูชาพระรัตนตรัย อธิษฐานแล้วก็ตั้งสติบริกรรมอยู่ต่อไป เอ้า ตั้งใจ พวกโยมผู้หญิงถ้าสามารถจะนั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้เหมือนกัน เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสตินึกบริกรรม พอเมื่อเวลานึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 จบ แล้วก็ตั้งสติกำหนดอยู่เฉพาะใจ ดูที่ใจ มันเกิดขึ้นที่ใด ดับอยู่ที่ใด นั่นแหละให้สังเกตดูใจของเรานั้น จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ให้สังเกต มันมีอาการ หรือกิริยาขึ้นลงอย่างไร เอ้า ตั้งใจ บุญกุศลจะเกิดขึ้น ปรากฏว่าอยู่ที่ใจของเรานั้นน่ะ ให้มันอยู่จุดเดียว จิตมันอยู่จุดเดียว สติของเราให้มันอยู่จุดเดียว ถ้าหากว่าเราปล่อยให้มันถอนอยู่เรื่อยๆ ตั้งอยู่เรื่อยๆ มันก็ไม่เป็น อย่าให้มันถอน ถอนจากจุดที่หมายของเรา ไม่ให้มันเคลื่อนที่ สมมติอย่างของภายนอกมันตั้งแล้ว อย่าให้มันเคลื่อนที่ ให้ตั้งอยู่จุดเดียวนั่น
นี่ฉันใดก็ดี เรื่องของการตั้งสติก็เหมือนกัน เราต้องตั้งอยู่ในจุดเดียว ตั้งขันติความอดทน อย่าให้มันแสดงขึ้นมา ให้อยู่ภายในใจ หรือทางกายก็ดี อย่าไปพลิกให้มัน อย่าไปเผลอ ต้องต่อสู้ฝ่าฟันเวทนาอย่างขนาดเลย เราต้องเอาชนะมันให้ได้ ถ้าหากว่าเราฝ่าฟันในตอนนี้ได้ จิตของเราก็จะขาดจากสัญญาอารมณ์รวมเป็นสมาธิได้นาน ไม่เป็นขณิกสมาธิ กลายเป็นอุปจารสมาธิ ถ้าหากว่าเราไม่ย่อท้อแล้ว มันจะรวมลงไปเป็นอัปปนาสมาธิ เราจะถอนก็ได้ เราไม่ต้องการถอนก็ได้ เราอยู่ในนั้นเลย อยู่ในความสงบอันนั้น เวทนานี้ไม่มีปรากฏอยู่ในกายของเรา มีแต่ความสุขอย่างเดียว ความสุขล้วนๆที่ไม่มีสิ่งใดมาเจือปนกับใจของเรา มีแต่ความสุข แต่ว่าเราอย่าไปติด ต้องย้อนออกมาอยู่ในอุปจารสมาธิ เพื่อค้นคว้าหาปัญญา ค้นคว้าที่กายของเรานั่น ดูที่กายของเรา เราเพ่งดูที่กายของเรา วิตกวิจารลองดู มันจะเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดไป หรือมันมีความยักย้ายแปรผันอยู่ตรงไหน ให้รู้จักสภาพความเป็นจริงของกายของเรา
ถ้าหากว่า จิตของเรามันอยู่ มันเป็นเอกัคตาจิต เอกัคตาธรรมแล้ว เราจะพิจารณาลงไปได้ เพราะอำนาจหรือความกล้าหาญของใจเรา มันมีพลัง เราจะพิจารณามันก็เห็นชัดเจนโดยที่ไม่สงสัยในกายของเรา เมื่อเวลาเราไม่สงสัยในกาย ไม่หวง ไม่แหนซึ่งกายของเรา เรียกว่า เราถอนจากสักกายทิฏฐิ คือความถือกายได้แล้ว ความยึดมั่นถือมั่นในกายไม่มี เห็นสภาพความเป็นจริง มันแตกทำลายอยู่เสมอ เห็นไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นสัตว์ เป็นธาตุไปทั้งหมด เห็นสภาพของกายมันเป็นธาตุ เนื้อ หนัง เอ็น กระดูก เหล่านี้ นี่มันก็กลายเป็นธาตุไปทั้งหมด ส่วนธาตดินกลายไปเป็นดิน ส่วนธาตุน้ำก็กลายไปเป็นน้ำ ส่วนธาตุลมก็กลายไปเป็นลม ส่วนธาตุไฟที่อบอุ่นอยู่ในกายของเรา มันก็กลายไปเป็นธาตุไฟ เมื่อเวลาสิ่งเหล่านี้ แยกออกจากใจของเราได้ มันก็ไม่มีรูปไม่มีร่างอะไร มันกลายไปเป็นธาตุแล้ว ที่ยังคงเหลืออยู่มีที่ท่านเรียกว่า อมตธรรม คือ สิ่งที่ไม่ตาย ได้แก่ดวงใจของเรา อันนี้ไม่มีตาย ไม่มีเกิด ไม่มีแก่ ตั้งอยู่อย่างนั้น เป็นฐิติธรรมตั้งอยู่อย่างนั้นตลอดไป ให้เราเข้าใจอย่างนั้น
การปฏิบัติของพวกเรา ไม่ต้องไปสงสัยลังเล เอ้า เขาว่าอย่างนั้น อาจจะไปสงสัยลังเลเกิดขึ้นมา ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้ากว้างขวางมากที่สุด แล้วก็ต่างคนต่างลูบคลำ เหมือนอย่างคนตาบอดคลำช้าง อ้ายคนหนึ่งมันไปคลำถูกขาข้าง ไอ้ช้างนี่มันก็เหมือนกับสูบ ว่าอย่างนั้น อีกคนหนึ่งไปคลำดู ถูกตัวของมัน นึกว่าช้างนี่มันเหมือนกะพัง ว่าอย่างนั้น อีกคนหนึ่งคลำไปถูกงวงช้าง เข้าใจว่าเป็นต้นมะละกอ เอ้า ช้างนี่มันเหมือนต้นมะละกอ ว่าอย่างนั้น ไอ้คนหนึ่งคลำไปที่ศีรษะมัน ไอ้ช้างนี่มันเหมือนกับตั่งเรานั่ง ว่าอย่างนั้น หรือพูดเป็นภาษาลาวว่าตั่งสาวหลอดสาวไหมน่ะ เขาว่าช้างมันเป็นเหมือนกับตั่งที่เขานั่งสาวไหมนั่น ก็เลยนึกอยู่ในใจ คนหนึ่งคลำไปๆ ก็เลยถูกใบหุมัน ก็นึกว่าช้างนี่มันเหมือนกับตาลปัตรหลวงพ่อ ว่าอย่างนั้น ก็เลยนึกคิดอยู่ภายในใจของตนนั้น ไอ้คนหนึ่งคลำไปถูกหางมัน เอ้า ไอ้ช้างนี่มันเหมือนกับไม้กวาด ว่าอย่างนั้น ใครจะว่าอย่างไรก็ไม่เชื่อ เอ้า ต่างคนต่างคลำ นี่ ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน กว้างขวาง ใครทำใครว่าที่ไหนก็ถูกเหมือนกันหมด เมื่อเวลาสรุปใจความแล้วเรียกช้างตัวเดียว มันก็หมดเรื่อง
การปฏิบัติก็เหมือนกัน เราไปหลงสมมติ สมมติว่าช้างมันเป็นเหมือนต้นมะละกอ ช้างมันเหมือนกับลูกสูบ ช้างมันเหมือนกับกะพัง ว่ายังนั้น ตามสมมติ เลยหลงสมมติ ทีนี้ล่ะ ถ้ามันเหมือนกับไม้กวาด ก็เลยหลงสมมติ ไม่ได้รวม เมื่อเวลารวมช้างทั้งหมด งวงมันก็เป็นงวงช้าง ศีรษะมันก็เป็นศีรษะช้าง ขามันก็เป็นขาช้าง หูมันก็เป็นหูช้างเหมือนกัน หางมันก็เป็นหางช้าง รวมทั้งหมด มันก็เป็นตัวเดียวนั่นแหละ ไม่ต้องไปสมมติที่นั่นที่นี่ นี่ก็ฉันใด เรื่องการปฏิบัติธรรมของพวกเราก็เหมือนกัน ไม่ต้องสงสัยที่อื่น มาดูที่กายกับใจของพวกเรานี้ อันนี้แหละมันเป็นสิ่งปิดบังคุณธรรมไว้ ไม่ให้เราเห็นธรรม ก็เพราะกายของพวกเรานี้แหละ ถ้าหากว่าใครพิจารณากายให้เห็นชัดเจน คนนั้นจะเห็นธรรม เห็นสภาพความแปรปรวนของกาย เกิดก็เกิดจริง แก่ก็แก่จริง เจ็บก็เจ็บจริง ตายก็ตายจริง นี่เรียกว่าสัจธรรม เป็นของจริงทั้งนั้น ให้เรารู้จักสภาพความเป็นจริงอย่างนี้ อย่าไปหลงใหล
บางท่าน บางเกจิอาจารย์ก็ว่ากันไป เดี๋ยวก็แต่งแก้ หรือตัดกรรมตัดเวร อย่างนี้เป็นต้น นี้ก็ล้วนแล้วแต่ว่า เอาธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นน่ะมาอวดอ้าง แต่ว่ามันเขวจากหลักไปเสียแล้ว เขวจากหนทางมรคค หนทางมรรคไม่ใช่เป็นอย่างนั้น คือ อัฏฐังคิกมรรค สัมมาทิฏฐิ เป็นต้น นี่เราอย่าเพิ่งไปสงสัยหรืออย่างที่เขาเล่าลือกันว่า อาจารย์คนนั้นคนนี้ มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นเป็นเรื่องสมมติกันต่างหาก สมมติขึ้นแล้วก็พากันหลงไปอย่างนั้น เสกสรรปั้นยอกันขึ้นมาก็เลยหลงกันไป ไม่ได้น้อมเข้ามาสู่ตัว ไม่ได้พิจารณาตัวของตัวเอง ก็เลยหลงไปตามอารมณ์ของคนที่เขาว่ากันไปนั่นน่ะ อันแท้ที่จริงนั้นต้องมาดูที่เราเอง
ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ในที่นี้ บัญญัติไว้ที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของเรานี่แหละ ฉะปัญญัติ ขันธะปัญญัติ อายตนะปัญญัติ มีอยู่ในที่นี้ ท่านบัญญัติในที่นี้ ไม่ได้บัญญัติในที่อื่น "ฉะ" แปลว่า หก หกอะไร คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีอยู่ที่นี่ ขันธะปัญญัติ ขันธ์ทั้ง 5 รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ท่านบัญญัติอยู่ที่นี่ ไม่ได้บัญญัติไว้ที่อื่น นี่ให้เราเข้าใจอย่างนี้ ให้ดูที่นี่ให้แก้ที่นี่ อายตนะภายในภายนอก ก็อยู่ที่นี่ เราก้มพิจารณาดู ให้เห็นอยู่ในเฉพาะร่างกายของเรานี่ นี่ไม่ผิด ไม่ผิดทั้งมรรคที่พระพุทธเจ้าสอนไว้น่ะ ให้เดินในมรรค ท่านไม่ได้ให้เดินนอกกายของเราไป เดินอยู่ที่กายของเรานี่แหละ สัมมาทิฏฐิมันก็อยู่ที่นี่ทั้งหมดจนตลอดไปถึงสัมมาสมาธิ รวมอยู่ที่นี่ทั้งนั้นแหละ ขอให้เราพิจารณาอยู่ที่นี่ให้มาก ถ้าหากว่าเห็นที่นี่ เราก็หายสงสัย หายความลังเล ไม่ได้สมมติที่อื่น
เราพากันหลงสมมติ สมมติโวหารของกันและกัน เดี๋ยวก็มีเกจิอาจารย์ มาแสดงอย่างนั้นอย่างนี้ก็เลยหลงกันไป นี่ตลอดทั้งเครื่องรางของขลัง เหล่านี้เป็นต้น เดี๋ยวนี้อาจารย์โน้นขลังดี เดี๋ยวก็อาจารย์นี้ขลังดี เอ้า หลงไปอีกแล้ว เอารูปโฉมของพระพุทธเจ้ามาแลกเปลี่ยนเป็นอาชีพ เลยพากันหลงงมงายกันอยู่อย่างนั้น ทีนี้สำหรับเราผู้นักปฏิบัติ ไม่ควรที่จะหลงอย่างนั้น น้อมเข้ามาดูที่ตัวของเรานี้ เพราะเราเป็นผู้ปรารถนาที่จะพาความพ้นทุกข์แล้ว ก็ต้องดูที่นี่ ไม่ต้องดูที่อื่น ถ้าดูที่อื่นก็ผิดไป ไม่ถูก ไม่ถูกตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไปอีก เรียกว่า ความเห็นผิด ความคิดผิด นี่ท่านเรียกว่า สัญญาวิปลาส ให้พวกเราเข้าใจอย่างนั้น
การปฏิบัติอย่าหลง ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าชี้ลงที่ตรงนี้เลยน่ะ ที่กายของเรานี่แหละ มีการแต่งแก้ เสียเคราะห์บูชา เหล่านี้ ใครจะไปรู้ไปเห็น ศาสนาพราหมณ์ที่เขาเคยดูกันมาแต่ครั้งพระพุทธกาล เขาดูได้ดีเหมือนกัน อยากทดลองกับพระพุทธเจ้า แข่งดีกันกับพระพุทธเจ้า เอ้า เขาก็หาสิ่งอื่นมาทดลอง เอาแมวเข้ามา เขาอยากรู้ความเห็นจริง เอาแมวเข้ามาแล้ว เอาใส่กะพังเข้ามาปิดบังให้มิดชิดเลย ไม่ให้เห็นตัวมัน พอเอาเข้ามาแล้ว ให้พราหมณ์ทาย วังคีสะพราหมณ์เขาก็ทาย แม่นยำอยู่เหมือนกัน "อะไรอยู่ในที่นี้" เขาเรียกว่า "แมว" เขาว่าก็ถูก เขาว่าถูกแล้ว เขาก็ยับยั้งไว้ก่อน แล้วทีนี้ เอาไปให้พระพุทธเจ้าทาย ดูจะว่าอะไร พอไปถึงพระพุทธเจ้า เอ๊ะ ท่านก็รู้จักกันอยู่แล้ว ว่าเป็นแมวจริง แต่ว่าท่านจะทำให้เป็นอัศจรรย์ให้คนทั้งหลายที่ลุกลามไปดู เอ้า ใครจะแน่ พอดีพระพุทธเจ้ามาพิจารณา เขาว่า แมว มันก็ถูกอยู่แล้ว เราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นอัศจรรย์แก่ปวงชนทั้งหลาย พระองค์เลยพูดว่า "เอ้า นกเค้าแมว" ท่านว่า "แน่ะ พระพุทธเจ้าแพ้พราหมณ์แล้ว" เขานึกติดอย่างนี้ "เราต้องเปิดออกให้ดู ว่าเป็นอย่างไร" พอเมื่อเวลาเปิดออกมาแล้วก็เป็นนกเค้าแมวเลย เป็นนกเค้าแมวบินไปเลย น่าอัศจรรย์ แต่ว่าแมวกันจริงๆ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม เป็นของจริงอยู่อย่างนั้น ไม่ได้แปรเป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้น เราไม่ควรที่จะสงสัย ไม่ควรที่จะไปหลงสมมติกัน
พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราพิจารณากายกับจิตเท่านั้น นี่เป็นหนทางที่พวกเราจะหาทางพ้นทุกข์ หากเราพิจารณาได้ชัดเจน เห็นความเป็นจริงแล้ว มันก็จะรู้ไปเอง เห็นไปเองน่ะ ความพ้นทุกข์ไม่ต้องสงสัย ไม่ต้องไปถามใคร เราต้องถามเราเอง นี่มันพ้นอยู่ที่ไหน พ้นทุกข์นั่น มันก็พ้นอยู่ที่ตัวของเรานี่ หายความสงสัยอยู่ที่เรานี่ นี่หละให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติกันจริงๆ เมื่อเวลาถูกอารมณ์มากระทบกระเทือนก็ดิ้นกระเสือกกระสนหละทีนี้ ถูกเขาว่าให้ก็เลยเสียอกเสียใจ เราไม่ต้องเสียใจ จะไปเสียใจอะไร เรื่องของคำพูด เรื่องของเสียง มันก็ต่างหาก ไม่ใช่ใจของเรา เรื่องของความนินทาสรรเสริญนั้น ก็เป็นเรื่องของโลกธรรมต่างหาก ไม่ใช่ใจของเราทั้งนั้น ใจของเราก็ต่างหาก ใจของเรามันเป็นหน้าที่รู้เท่าทันการนินทา หรือการสรรเสริญอยู่เท่านั้น รู้จักอยู่เฉยๆ ถ้าหากว่า ไม่มีอุปาทานขันธ์ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้นมาหมักไว้ที่ใจของเรา ถ้ายึดมั่นเอาสิ่งเหล่านั้นเข้ามาหมักไว้ที่ใจของเราก็เป็นทุกข์
เพราะฉะนั้น ท่านจึงไม่ให้ยึดถือ ปล่อยวางทั้งนั้น ไม่ให้มีอุปาทานขันธ์ยึดถือเอา เสียงก็ต่างหาก ไม่ใช่ใจของเรา การนินทาสรรเสริญก็ต่างหาก แล้วแต่ใจของเรา รักษาแต่ใจของเราเฉพาะเท่านั้น มันจะมีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไร ใจของเราก็สบายอยู่อย่างนั้น เพราะว่าเราไม่ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้นมาหมักที่ใจของเรา มันก็สบายอยู่อย่างนั้นน่ะ แทนที่จะเป็นทุกข์เป็นร้อนอยู่อย่างนั้น ก็เพราะว่าอุปาทาน การยึดมั่นถือมั่น ไม่อยากให้ใครว่าเรา นี่หวงแหนอยู่อย่างนั้น โลกธรรมมันเป็นอยู่อย่างนั้น นินทา สรรเสริญมันมีอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมดาของโลกมันมีอยู่อย่างนั้น แต่ว่าข้อสำคัญนั้น อย่ไปยึดไปถือเอามาเป็นสมบัติของเรา นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น ปลุกใจของพวกเราให้ต่อสู้ขันธมาร หรือกิเลสมาร แต่ว่าต่อสู้โดยการไม่เอา ไม่ยึด ไม่ถือ ต่อสู้ให้ปล่อยวาง นี่เอาอย่างนี้ จึงจะสมกับว่าเป็นนักปฏิบัติ เพื่อหาความพ้นทุกข์ เอาอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปน้อยใจ เสียใจ เขาว่าก็อยู่ที่ปากของเขา เสียงก็อยู่ที่อื่น ไม่ใช่ใจของเราทั้งนั้น นี่ให้เรารู้ เข้าใจมันอย่างนั้น
คราวหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไป ถูกพวกพราหมณ์เขานินทาบอกว่า ไอ้สมณะหัวโล้นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อเวลาปฏิบัติหรือทำอย่างนั้น นึกว่าตนของตนจะดีดอกหรือ พอดีพระอานนท์ได้ยินก็เลยเดือดร้อน ขอเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จไปในที่อื่น "เอ้า เราจะไปที่ไหนล่ะอานนท์" "เขาว่าที่นี่ก็ไปที่อื่น" "ไปที่อื่นเขาก็ว่าอีก จะไปที่ไหน" "ก็ไปเรื่อยๆไป" "ถ้าเขาว่าหมดทั้งโลก เราจะไปอยู่ที่ไหนอานนท์" พระอานนท์ก็เลยหมดเรื่อง เพราะฉะนั้น พระองค์จึงแสดงว่า "โลกธรรม คือ นินทา สรรเสริญ มันมีอยู่อย่างนี้อานนท์ เราอย่าไปยึดอย่าไปถือเอามาเป็นสมบัติของเรา มาหมักไว้ที่ใจของเรา หน้าที่ของเรามีทำอยู่เฉพาะตัวของเรานั้นน่ะ ดูที่กาย ที่ใจ ของเราเท่านี้ มีหน้าที่อยู่เท่านี้ เอาอย่างนี้ เราจึงจะเห็นความพ้นทุกข์" นี่พระองค์สอนอย่างนี้
นี่เราก็เหมือนกัน เราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าก็ทำเหมือนอย่างพระพุทธเจ้า เมื่อเวลาพระพุทธเจ้าได้ทรงสำเร็จอย่างไร ได้พ้นทุกข์อย่างไร เราผู้ปฏิบัติตามก็จะสำเร็จได้ หรือพ้นทุกข์ไปได้อย่างนั้น นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น อย่าไปเดือดร้อนอะไรนัก สำหรับนักปฏิบัติแล้วน่ะ ถ้ายังไปเดือดร้อนใจของเราไม่สงบ จะไปเดือดร้อนทำไม อยู่เฉยๆน่ะ ที่ท่านบอกว่า อุเบกขา วางเฉยน่ะ เราทำไมไม่เอา เอาสิ อยู่ที่ไหนล่ะอุเบกขา ก็อยู่ที่ใจของเรานั้น คือ ใจผู้รู้ คำว่าผู้รู้ ไม่เอาอะไรทั้งหมด รู้เท่าอยู่เฉยๆ เขาว่าขึ้นมาเราก็รู้ เขาไม่ว่าเราก็รู้อยู่อย่างนั้น นี่เป็นธรรมชาติ ไม่มีใครที่จะลบล้างได้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายจะมาลบล้างเองไม่ได้เป็นเด็ดขาด มีแต่ไหนแต่ไรมา นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น
นักปฏิบัติให้ทำอย่างนี้ อย่าไปหวั่นไหวในอารมณ์ เราทำหน้าที่ของเรา มันสบายๆ อยู่อย่างนั้น พูดแรงเฉยๆ หรอก ไม่ได้ดุ ไม่ใช่ด่า เสียงมันดังเฉยๆ แต่ว่าให้เราทำใจให้เยือกเย็นอยู่เท่านั้นน่ะ อย่าไปถือว่า แหม ท่านดุเราแล้ว ว่าเราแล้ววันนี้ อย่าเพิ่งเข้าใจอย่างนั้น นี่ให้นึกว่าท่านเมตตาปรานี ท่านสงสารเรา ท่านจึงพูด ท่านถือว่าเราเป็นลูกศิษย์ของท่าน ท่านจึงดุว่าให้เรา ให้เรามีใจ ให้เราตั้งใจประพฤติปฏิบัติ หาความพ้นทุกข์ ให้นึกอย่างนี้สบายใจนัก เอาอย่างนี้ นักปฏิบัติน่ะ อย่าไปหลง เดี๋ยวคนนั้นเอาไปพุดอย่างนี้ เดี๋ยวคนนี้เอาไปพูดอย่างนั้น เดี๋ยวก็เดือดร้อน เราไปยึดไปถือ ไปเอาน่ะ เขาพูดก็ปล่อยให้เขาพูดไปเถอะ เรื่องของเขา เราเฉยๆน่ะ เขาพูดให้ฟัง เราก็ฟังไปเฉยๆอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องเอาอะไรทั้งหมด นี่พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้ ไม่ได้สอนให้ยึดให้เอาอย่างนั้น สอนให้ดูที่ใจของเราเท่านั้น พุทธะที่ใจของเรา ฝึกหัดใจของเราให้มันตรงต่อหนทางที่เราจะไปสู่สุคตินั้น นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น อย่าไปเดือดร้อน
โลกธรรมไปที่ไหนมันก็ไม่พ้น โลกธรรมมันมีอยู่อย่างนั้น ต่อเมื่อเวลาเราสิ้นจากอาสวะเมื่อไร นั้นละพ้นจากโลกธรรม ถึงอย่างไรเราพ้นจากอาสวะแล้วก็ยังตำหนิติโทษเหมือนกัน เช่นตัวอย่าง พระพุทธเจ้าของเราเขาก็ยังว่าอยู่นั้น เขาว่าไปขโมยที่เสี่ยงทายดอกบัวว่าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเป็นขโมยเปลี่ยนเอาดอกบัวของพระศรีอาริยะ เพื่อตรัสรู้ก่อนพระศรีอาริยะ เขาก็ยังกล่าวตู่ว่าเป็นขโมยอีก แต่ความจริง ท่านรู้จักกันก่อนแล้ว คือ พระศรีอาริยะบำเพ็ญบารมีมาก เพื่อจะรื้อสัตว์โลกนี้ให้หมดไป แล้วก็พระโคดมของเรานี้บำเพ็ญบารมีน้อย เอาตรัสรู้ก่อน ท่านก็พูดอย่างนั้น เอ้า ถ้าอย่างนั้นก็เอา ก็เลยเปลี่ยนกันอย่างนี้ ไม่ใช่ขโมยนะ นี่คนก็เลยไปกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าเป็นขโมย เพราะเหตุนั้นสมัยนี้จึงมีขโมยมาก อันนี้เป็นความเห็นผิด เข้าใจผิดต่างหาก เอ้า เอาละ เสียงมันไม่ออกแล้ว เอาล่ะเนาะ เมื่อยแล้ว ไปสวดมนต์มื้อหนึ่งก็พอแรงแล้ว มาเอาอีกแล้วเมื่อเช้านี้ก็อีกกัณฑ์หนึ่ง
สุกเต็มดิน เก็บกินบ่ได้ สุกเต็มไม้ กาตอดบ่ถึง
หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
(มรรคผลนิพพานมีอยู่แต่ทำเอาไม่ได้ ผู้มีใจคล้ำดำด้วยกิเลสไม่สามารถรู้ธรรมเห็นธรรมได้)
|