ที่พึ่งอันประเสริฐ
19 กุมภาพันธ์ 2529
นี่แหละสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย เราพึงเข้าใจอย่างนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่าง ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า มีทั้งหยาบ มีทั้งกลาง อย่างละเอียดทั้งนั้นแหละ แต่ว่าเราจะเข้าใจอย่างไร จะพิจารณาอย่างไรถึงจะเป็นสัจธรรม ความจริงให้น้อมเข้ามาสู่ตัวของเรานั้นแหละ คำที่ว่า น้อม ในที่นี้ โอปนยิโก นั้นนะ ท่านว่าให้น้อมเข้ามา เรียกเข้ามาสู่ใจของเรานั้นแหละ ดูใจของเรานั้นน่ะ น้อมธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจของเรานั้นแหละ
ธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร จึงให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา คำสอนธรรมะพระพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งที่เยือกเย็น เป็นที่สบาย เมื่อหากว่าผู้ปฏิบัติทั้งหลายทำใจของตนให้สงบ เยือกเย็นได้ นั้นแหละธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าประดิษฐานเข้าอยู่ที่ใจของเราได้ ใจของเราเข้าถึงธรรม ธรรมเข้าถึงใจของเรา นั้น เยือกเย็นอยู่อย่างนั้น สบายอยู่อย่างนั้น ใครจะว่าอะไรก็ไม่เดือดร้อน สบายอยู่อย่างนั้นนี่ เพราะเหตุใดจึงไม่เดือดร้อน เพราะว่าเรามีธรรม ซาบซึ้งอยู่ในใจของเรา นั้นจึงไม่เดือดร้อน
ถ้าหากว่ามีการเดือดร้อนอยู่ ธรรมะไม่ได้ซาบซึ้งเข้าถึงใจของเราได้ เลยกลายเป็นของร้อนเลยทีเดียว คำที่ว่าร้อนในที่นี้หมายถึงอะไร หมายถึงความชั่ว หมายถึงความเศร้าหมอง หรือหมายถึงกิเลส ท่านว่า ถ้าพูดถึงเรื่องนี้มันก็ดูเหมือนจะดุจะด่ากันไป นี่ธรรมะคำสอนพระพุทธเจ้ามีทั้งอนุโลม มีทั้งปฏิโลม
อนุโลม ก็หมายความว่า ให้เราปฏิบัติไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่าอนุโลม ไม่ให้กระทบกระเทือนอะไร พยายามตามอัธยาศัยของเรานั้นแหละ นี้เรียกว่าอนุโลม
ปฏิโลม ต้องขัดเลยทีเดียว เอ้า! เราจะคิดแบบนี้ เราทำแบบนี้ไม่เอาแล้ว เอาอย่างนี้แบบปฏิโลม ต้องเอาอย่างเด็ดเดี่ยว
คือหมายความว่าอย่างนี้นะ สมมติภายนอกเสียก่อน สำหรับภายนอกอันนั้นนะ ได้แก่เราเคยทานอาหารมาหลายครั้งในวันหนึ่งๆ นับครั้งไม่ได้เลย แต่ว่ามาในบัดนี้เราจะอด ทานอาหารเพียงครั้งเดียว หรือจะเว้นวันอย่างนี้เป็นต้น นั้นเรียกการทานทุกวันทุกเวลาแล้วแต่เราต้องการนั้นนะ เรียกว่าอนุโลม การปฏิโลมเราทานหนเดียวหรือเว้นวันหรืออดเจ็ดวัน นี้เรียกว่าปฏิโลม ใจของเราจะกล้ามั้ย จะอ่อนใจมั้ย ถ้าใจของเรากล้าหาญก็ได้ชื่อว่าเป็นธรรมปฏิโลม ถ้าใจของเรายังอ่อนแออยู่แล้ว ไม่กล้าไม่สามารถ ได้ชื่อว่าเป็นอนุโลม นี้ชี้รูปเปรียบให้เห็นได้อย่างนี้ ธรรมะที่ ปฏิโลมอย่างเด็ดเดี่ยว ท่านไม่กลัวตาย ตายก็ยอมตาย เป็นอย่างนี้ ขอแต่ว่าเราได้ประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี ขอให้รู้ธรรม เห็นธรรมเท่านั้น ขอให้พ้นจากอาสวกิเลสเท่านั้น ตายก็ไม่เสียดาย จะเป็นยังไงก็ไม่เสียดาย ขอแต่ว่าสิ้นจากอาสวกิเลสเท่านั้น นี่อย่างปฏิโลม แต่ว่าโดยมากคนเรานั้นน่ะก็ชอบอนุโลมนั้นนะ ถ้าปฏิโลมนี้ โอย! ถอยหน้าถอยหลังอยู่นั้นละ ไม่อยากเอาแล้ว
เอ้า! สมมติว่าเอาอันนี้ละ ไม่ต้องนอนละ ตลอดคืนไม่ต้องนอน นั่งภาวนาเลย หรือเราจะเปลี่ยนอิริยาบถ หรือไม่เปลี่ยนก็แล้วแต่ เราจะเปลี่ยนอิริยาบถ เอ้า เรานั่งง่วงเหนื่อยแล้ว แล้วก็จะเดินหรือจะยืน ก็แล้วแต่อัธยาศัยของเรา นี้ ถ้าไม่นอน ไม่เอนนอน เอาให้ได้ตลอดคืน เราจะไม่ง่วง เราจะไม่เหงาในคืนนี้ พยายามอย่างนี้ นี้เรียกว่าปฏิโลม
ถ้าอนุโลม เอ้า นอนบ้าง นั่งบ้าง มันเป็นอย่างนั้น นี่ อันนอนบ้าง นั่งบ้าง หรือเดินบ้าง อย่างเหล่านี้มันถูกกับใจของเรา ถ้าจะนั่งเลยทีเดียวนั้นน่ะ เอาเลยทีเดียวตลอด ไม่กระดุกกระดิกไปที่ไหนอีก
การสาธยายนั้น อันนี้ท่านไม่เรียกว่าเจริญภาวนา สมมติอย่างที่เราจะก่อนที่จะนอน เราก็ไหว้พระธรรมดานั้นนะ พอเมื่อเวลาไหว้พระเสร็จแล้ว ถ้าหากว่าเราได้ก็แล้วแต่ศรัทธาของเราเถอะ สาธยายไปจนหมดก็ได้ ถ้าหากว่าเราได้โดยย่อเราก็ว่าแต่โดยย่อ พอจบไหว้พระเสร็จแล้วก็เจริญเมตตา พอเจริญเมตตาเสร็จแล้วก็เลิกอย่างนี้ เลิกแล้วก็นึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ ๆๆ สามจบ แล้วเราบริกรรมเอาคำเดียวเท่านั้นว่า พุทโธๆๆ คำเดียวเท่านั้น นึกอยู่เฉพาะในใจเราเท่านั้นไม่ให้มีเสียง ไม่ให้ออกเสียง นึกอยู่ในใจ สำรวมใจของเรานี่ ไม่ส่งใจของเราคิดโน่นคิดนี่ ให้ใจของเรานั้นฟั่นเฝืออยู่กับพุทโธ ให้ใจกับพุทโธนั้นเป็นอันเดียวกัน ถึงแม้ว่ามันจะคิดเรื่องอื่นแทรกเข้ามา ก็พยายามหักออก อย่าให้เข้ามา พยายามให้มีสติรู้ รู้เท่าทันเอาไว้ อย่าให้อารมณ์ส่วนอื่นแทรกเข้ามาได้ ให้มีแต่พุทโธกับใจของเรา ฟั่นเฝือกันอยู่อย่างนี้ ให้เรารู้มีสติรู้อยู่เสมอ เราในขณะนี้เรานึกพุทโธก็ให้รู้อยู่อย่างนั้น ไม่ให้ลืมไม่ให้หลงไปทางอื่น สำรวมอยู่ จนกว่าว่าเราจะเหนื่อย เราเหนื่อยล้า เราจะออกจากสมาธิก็ออก หรือเรามีศรัทธาอยู่ จิตของเรามันเกิดความเลื่อมใสหรือเกิดปีติ ไม่อยากถอนจากสมาธิ เราก็นั่งอยู่นั่น จนเราเหนื่อย เวลาเหนื่อยแล้วจะอย่าก็อย่า แต่ว่าไม่ให้ถอนคำบริกรรม ให้นึกอยู่ เราถอนแต่เพียงว่า ถอนในการนั่งเท่านั้น แต่ทางใจของเรานั้นให้มีพุทโธอยู่ตลอด แต่ทีนี้เราจะนอนก็นอนลงไป นึกพุทโธๆ ไว้ตลอดเวลา อยู่อย่างนั้นจนเรานอนหลับไป
บางครั้งบางคราวจิตของเราก็อาจจะรวมได้ มันจะรวมลงไปมีอาการต่างๆ อาการจิตที่จะรวมนั้นนะ คือบางครั้งก็มีอาการเยือกเย็นสบาย อยู่เฉพาะภายในใจของเรานี่เอง เย็นสบายลงไป บางทีก็มีอาการวูบวาบอย่างนี้ก็มี แต่ว่าเราอย่าไปเผลอตรงนั้น อย่าลืมถึงแม้ว่ามีอาการอย่างนี้แล้วก็รู้อยู่เฉยๆ อย่าไปตกประหม่า หรืออย่าไปกลัวว่ามันจะเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปนึกว่าเราอาจจะเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ อย่านึก ไม่ต้องนึกคิดใดๆ เอาสำรวมอยู่แต่เฉพาะคำบริกรรมของเราเท่านั้น ให้นึกพุทโธๆเฉย เป็นอย่างนี้
แต่ทีนี้บางทีจิตของเรารวมลง มันก็จะหลับไปพร้อมๆกันก็ได้ เพราะเมื่อเวลาหลับลงไปแล้วมันก็สบายไปเลย บางทีจะเกิดนิมิตขึ้นมาก็ได้ เกิดนิมิตคือปรากฏว่าเห็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็มี แต่ว่าในขณะที่เรามีสติอยู่ มันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ในขณะที่เราขาดสตินอนหลับธรรมดาอย่างนั้น ลงไปอย่างไม่มีสติ มันก็เรียกว่าฝัน ในขณะนั้น ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่ มันรวมลงไป มันสบาย มันเยือกเย็น ได้ชื่อว่าจิตของเรารวมเป็นสมาธิ แต่ก็เรียกเหมือนกันเรียกว่าสมาธิเหมือนกัน แต่ว่าโมหะสมาธิ ในขณะที่เราสติของเรามันเผลอเนี่ย! มันไม่มีสติเรียกว่าโมหะสมาธิ ถ้าหากว่าเรามีสติอยู่นั้น ท่านจัดได้ชื่อว่าไม่ใช่โมหะสมาธิ มันรวมลงไปก็รู้อยู่ตลอด มันไปอยู่ในอาการไหนเราก็รู้อย่างนั้น นี้เรียกว่ารวมอย่างมีสติ
รวมอย่างสบายนี้มันมีอยู่สองนัย รวมอย่างไม่มีสติ รวมอย่างมีสติ มันมีอยู่เป็นอยู่ แต่ว่าคนเราเมื่อเวลานอนแล้วก็คิดโน่นคิดนี่ เดี๋ยวคิดถึงการงาน คิดธุระอะไร แล้วแต่มันจะคิดนะ ส่งจิตของตนไปอยู่ ไม่ตั้งใจว่าจะนอนนึกคำบริกรรมเลย มันเป็นแบบนี้โดยมาก คนที่จะเป็นอย่างนั้นก็เนื่องจากไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำพร่ำสอนเรา ถ้าหากว่าเรามีครูบาอาจารย์แนะนำ อย่างนี้แล้วก็จะตั้งใจทำ แต่ก่อนเรานึกว่า เอ้า! นอนคงจะบาป ถ้าเรานึกพุทโธ เอ้า! เดินคงจะเป็นบาป ถ้าเราเดินนึกถึงพุทโธอย่างนี้ บางคนก็คิดอย่างนี้ เอ้า! เวลานั่งนึกพุทโธก็กลัวว่ามันจะเป็นบาปอย่างนั้นก็มี คอยแต่เวลาที่เราจะนั่งสมาธิถ่ายเดียวเท่านั้นเอง จึงจะไม่เป็นบาป อันนี้มันเป็นเรื่องของความคิด ความคิดไม่ถูก ทำได้ทุกอิริยาบถ จะเข้าที่ไหนอยู่ที่ไหนนึกพุทโธได้ทั้งนั้น บางคนเข้าในห้องน้ำอย่างนี้ก็มี นึกพุทโธก็กลัวว่าจะผิดมันเป็นอย่างนี้ แต่ว่าไม่ผิด เราจะเข้าห้องน้ำหรือทำอะไรก็ไม่ผิดทั้งนั้นนะ
ไม่เหมือนอย่างเดรัจฉานวิชาหรอก เดรัจฉานวิชาเขามัน ถ้าหากว่าเข้าห้องน้ำ หรือไปถ่ายอุจจาระปัสสาวะ อย่างนี้เขาไม่นึก เขาไม่ว่าอะไร นี้เดรัจฉานวิชาเขา อันนี้ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นแบบนั้น นึกได้ทุกอิริยาบถ ไปที่ไหนนึกได้ทั้งนั้นไม่เป็นบาป ยิ่งดีนึกได้ทุกขณะที่เราจะไปจะมา ยิ่งดีมาก นี่ได้ชื่อว่า เราเป็นผู้มีสติ เป็นผู้ไม่หลงลืม เป็นผู้มีพุทโธประจำอยู่ใจของเราตลอดเวลา มันเป็นอย่างนั้น พยายามทำให้ได้ อย่าไปกลัวว่าอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปกลัว เราเดินทางไปไหนก็ไปเถอะ นึกไปเลย ยิ่งมีคนเคารพ ยิ่งมีคนนับถือเรา เรานึกพุทโธไป มันเป็นอย่างนี้ ไปนอนเคยว่าพุทโธมั้ยล่ะ จนหลับว่าพุทโธนั้นนะเป็นมงคลที่สุด นี่ท่านเรียกว่าเป็นมงคลที่ดี หลับก็หลับด้วยพุทโธ ตื่นก็ตื่นด้วยพุทโธ ดีมาก นี่เป็นสมบัติของเราโดยเฉพาะนี้เป็นมงคลตลอดเวลา ทั้งหลับทั้งตื่น ไม่มีอะไรหรอกที่จะเป็นที่พึ่งของเรา
คิดดูซิเช่นตัวอย่าง ตัวอรรถเหมือนกันว่าไว้ นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พุทโธ เม สะระณัง วะรัง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่นับถือ อันประเสริฐของข้าพเจ้า เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ เมื่อข้าพเจ้าได้กล่าวคำซื่อสัตย์ในคุณพระพุทธเจ้า โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อ นี้ที่พึ่งอื่นของเราไม่มี มีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของเรา ส่วนอื่นก็มีอยู่แต่ว่าไม่เป็นของประเสริฐ ไม่เป็นของเลิศ บ้านเรือนของเราก็เป็นที่พึ่งของเรา ได้อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มของเราก็เป็นที่พึ่งอันหนึ่ง แต่ว่าเป็นที่พึ่งภายนอก เป็นเครื่องปกปิดอวัยวะร่างกายของเรา เพื่อป้องกันความละอายหรือความเย็นหนาวเสียเท่านั้น หรือเครื่องประดับ แต่ว่าจะให้ประเสริฐหรือจะให้ยิ่งกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ไม่มี นั้นแหละไม่เห็นใครว่า เอ้า! นัตถิ เม ผีสะระณัง คัจฉามิ ก็ไม่มีใครเขาว่าซะที หรือว่า ผีสะระณัง คัจฉามิ ก็ไม่มี หรือเคยได้ยินที่ไหน ไม่มีใครว่าซักที เว้นเสียแต่จะไปผูกขึ้นเอาเอง เขาว่าเองเท่านั้น มีแต่ว่า นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า นี้เพราะฉะนั้น พวกเราเกิดมาเป็นมนุษย์อันเป็นโชคดีของพวกเราแล้ว ควรหาที่พึ่งอันเกษมเป็นที่พึ่งอันอุดม เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ไม่ควรที่จะแสวงหาที่พึ่งอันชั่วช้าลามก หรือภูติผีปีศาจเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เตี้ยต่ำทั้งนั้น ไม่เป็นที่พึ่งของเรา
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ยกฐานะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้ขึ้นเป็นที่พึ่งของพวกเรา เรานึกอยู่อย่างนั้น นี้เป็นสมบัติของมนุษย์อันแท้จริง จึงจะได้ชื่อว่า มนุสสเทโว มนุษย์ที่จะไปเป็นเทวดา มนุสสเทวปุตโต มนุษย์ที่จะไปเป็นเทพบุตรคือผู้ชายนั้นเอง เทพธิดาก็หมายถึงผู้หญิงนั้นเอง ที่จะไปเป็นเทวดาผู้หญิง มนุสสอินโท ก็เหมือนกัน มนุษย์ที่จะไปเป็นอินทร์เป็นพรหม ก็ล้วนแล้วแต่พวกเราทั้งนั้นนะ มนุสสดิรัจฉาโน นั่นมนุษย์ที่จะไปเป็นเดรัจฉาน คือมนุษย์จำพวกไหนที่จะไปเป็นมนุษย์สัตว์เดรัจฉานนั้น มนุษย์ที่ไม่มีเทวธรรม มนุษย์ที่ไม่มีทาน ศีล ภาวนานั้นเองที่จะไปเป็นมนุสสดิรัจฉาโน ถ้าหากว่าขาดสิ่งเหล่านี้ ไม่มีสมบัติเหล่านี้ ได้ชื่อว่ามนุสสดิรัจฉาโน มนุษย์ที่จะไปเป็นเปรต มนุสสเปโต ทีนี้ มนุษย์ที่จะไปเป็นเปรต คือมนุษย์จำพวกไหน? จำพวกที่ขโมย ลัก ฉก นั้น จำพวกที่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้นนะ แย่งชิงเอาสมบัติของผู้อื่นนั้นนะ ที่จะไปเป็นมนุสสเปโต มนุษย์ที่ไม่มีทาน ไม่มีภาวนา นั่นแหละที่จะไปเป็นเปรต หรือเป็นอสุรกาย นี้เรามองเห็นได้ง่ายๆ มนุษย์จำพวกไหนที่จะไปสู่สวรรค์ก็ดี มนุษย์จำพวกไหนที่จะไปสู่นรกก็ดี เราก็รู้ได้ง่ายๆ จำพวกที่จะไปสู่นรก มันไม่กลัวมันไม่เกรงความชั่ว มันมัวเมาทำแต่ความชั่ว นี้เรียกว่ามนุษย์ที่จะไปสู่นรก เรามองเห็นได้อย่างนี้
มนุษย์ที่จะไปสวรรค์นั้น เป็นมนุษย์ที่มีความยินดี เหมือนอย่างพวกเรา ถ้าหากว่าได้ยินข่าวว่าครูบาอาจารย์ หรือได้ยินข่าวว่าจะทำบุญให้ทาน ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสอยู่อย่างนี้เป็นต้น นี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีเทวธรรมอยู่ในใจของเรา มีเทวธรรมคือมีความละอาย ท่าน ในภาษิตในตัวอรรถที่ท่านว่าไว้นะ หิริ แปลว่า ความละอายแก่บาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวบาป อันนี้แหละเป็นเทวธรรมของคนเรา ของนางเทพธิดาหรือเทพบุตรอื่นๆ อันนี้เป็นธรรมของพวกเทพเหล่านี้แหละ เหมือนอย่างพวกเราได้พากันทำ นี้มันเห็นได้อย่างนี้ ถ้าหากว่าไม่มีศรัทธา ไม่มีความเชื่อความเลื่อมใสแล้ว เป็นหนทางแห่งที่จะไปสู่ทุคติทั้งนั้น เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง จำพวกนี้มันเป็นทุคติ ทีนี้เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นทุคติ ไม่ใช่สุคติ
สุคติ หมายถึง ผู้มีสมบัติ หรือเป็นผู้มีทาน มีศีล มีภาวนา นี้เรียกว่า สุคติ อยู่ที่ไหนล่ะ? นี้สุคติอยู่ที่ตัวของเรานี้ละ ที่กาย ที่วาจา ที่ใจของเรานี้ นี่! สุคติอยู่ที่นี่ เราลงมือทำลงไปมันก็ต้องได้รับผล ไม่เสียหายไปที่ไหน หรือเราจะทำบุญอุทิศให้แก่บิดา มารดา ญาติพี่น้องของเราคนหนึ่งคนใด ถ้าหากว่าเราจะทำบุญอุทิศไปให้ปู่ย่าตายายของเราก็เหมือนกัน เมื่อเวลาเราทำแล้วก็อุทิศไปทางจิตใจของเรา ส่งไปให้ถึงบิดามารดาคนชื่อโน้นชื่อนี้ เราอุทิศด้วยจิตของเราอย่างนี้ สามารถที่จะไปถึงได้ นี่ให้พวกเราเข้าใจ อย่างนี้เรียกว่าจำพวกที่จะไปเป็นเทวดา จำพวกที่จะไปทุคติมันก็อย่างว่านั่นแหละ มันรู้จักกันในปัจจุบันนั่นแหละ คิดดูบางคนเราไปชักชวน "เอ้า! ทำบุญมั้ย ไปทำบุญด้วยกันเถอะ" "เอ้อไป! เราไม่ได้ทำแล้ว" อย่างนั้นอย่างนี้ บางทีก็เย้ยหยันเราเลยทีเดียว "เอ้า! ถ้าหากว่าไปทำบุญแล้วก็ขอตามหลังไปด้วยนะ" อย่างนั้นอย่างนี้ นี่ก็เลยเย้ยหยันกันแบบนี้ก็มี นี่แสดงว่าเขาไม่ยินดีในส่วนบุญกุศลอะไร ถ้าหากว่าคนที่มีจิตศรัทธาแล้ว เมื่อเวลาชักชวนทำบุญก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส ตามศรัทธาของเรา ตามอัธยาศัยของเรา ตามความสามารถของเรา เวลาเราทำลงไปแล้วก็ไม่เสียหายไปที่อื่น คอยรับเราอยู่โน่นแน่ะ ในข้างหน้าโน่นแน่ะ เมื่อเวลาเราสิ้นชีพวายชนม์แล้วก็ปรากฏขึ้นมาในขณะนั้นพร้อมเลยทีเดียว ตามสนองเราไป เป็นเพื่อนของเราไป ตลอดถึงที่สุดของเรา ถึงจุดหมายปลายทางของเรา เมื่อเวลาเราจะทำบุญกุศลเหล่าใดก็ตาม พยายามชำระจิตใจของเรา อย่าให้มันเศร้าหมอง ให้มันร่างเริงภูมิใจดีใจ
ท่านทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความปรารถนาดี อยากจะบำเพ็ญตน เมื่อเวลาได้ยินข่าวหรือได้ยินว่าครูบาอาจารย์มาอยู่ในที่นี้ชั่วครั้งชั่วคราว ก็รู้สึกว่ามีความยินดี มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มิใช่ว่าเลื่อมใสกับครูบาอาจารย์เมื่อไหร่ล่ะ เลื่อมใสพระพุทธศาสนาต่างหาก ครูบาอาจารย์ก็เลื่อมใสปฏิบัติพระพุทธศาสนา หรือเทิดทูนพระพุทธศาสนาเหมือนกัน สำหรับพวกเราซึ่งเป็นพุทธบริษัทก็เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น พวกเราจึงควรที่จะเชิดชูพระพุทธศาสนาของพวกเราให้วัฒนาถาวรสืบต่อไป
พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่ผู้อื่น ก็อยู่ที่เรานี่ เพราะเหตุไรจึงว่าพระพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ เพราะว่าพระพุทธเจ้าของเรานั้นได้บัญญัติไว้ในที่นี้ บัญญัติไว้ตามหนังสือที่เรียกว่าพระปริยัติธรรมนั้นก็มี ที่ท่านบัญญัติไว้ตามตำรับตำรานั้น เรียกว่าพระปริยัติธรรม ส่วนที่ปฏิปัตติอันนี้เรียกว่าปฏิบัติ บัญญัติไว้โดยเฉพาะตัวของพวกเรา เพราะเหตุไรจึงว่าบัญญัติไว้ในที่นี้ สมกับดังภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า ฉะปัญญัติโย ขันธะปัญญัติ อายตนะปัญญัติ ฉะ แปลว่าหก หกคืออะไร คือตานี้ ทั้งสองนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ท่านบัญญัติไว้ในที่นี้ ไม่ได้บัญญัติไว้ที่อื่น เพราะฉะนั้นจึงว่าพระพุทธศาสนาอยู่ในที่นี้ อยู่ในตัวของพวกเรานี้ แต่ว่าพวกเรามามองข้ามไปเสีย ว่าพระพุทธศาสนาก็คงจะอยู่ที่วัดวา หรืออยู่ที่พระ ว่าอย่างนั้นก็ดี แต่ว่าความเป็นจริงพระพุทธศาสนาก็อยู่ที่ตัวเรานี่ เราลงมือหรือตั้งใจปฏิบัติเมื่อไหร่ นั้นแหละจึงได้ชื่อว่าเป็นพระพุทธศาสนา
"พุทธะ" คำนี้น่ะ "ศาสนะ" นี่แปลว่า "คำสั่งสอน" "พุทธะ" แปลว่า "เป็นผู้รู้" ใครเป็นคนรู้ ก็เรานี่แหละ เรื่องของใจของพวกเรานี่แหละ เป็นหน้าที่รู้จักดี หรือรู้จักชั่ว นี้เรียกว่าพุทธะ ศาสนะแปลว่าคำสั่งสอน พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้พวกเราปฏิบัติ ปฏิบัติที่กาย ที่วาจา ที่ใจ ของเรานี้แหละ กายของเราจะปฏิบัติยังไง กายของเรามีการกราบไหว้ ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี้เรียกว่ากาย เรากราบลงครั้งหนึ่งก็นึกพุทโธ กราบลงครั้งที่สองก็นึกว่าธัมโม กราบลงครั้งที่สามก็นึกว่าสังโฆ นี้เรียกว่าพวกเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นี้แหละจึงได้ชื่อว่าพระพุทธศาสนามี มีอยู่ที่ตัวของเรา ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากตัวเรา ถ้าอยู่นอกจากเราไปก็เรียกพระปริยัติธรรม อย่างที่ได้อธิบายมา
แต่ว่าความจริงนั้นน่ะ ให้พวกเราน้อมเข้ามา โอปนยิโก นั้น ก็ท่านก็ว่า โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ โอปนยิโก ให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา น้อมเข้ามาสู่ตัวของเรานี้แหละ ให้เห็น ให้รู้อยู่ที่นี้ พระพุทธก็เห็นอยู่ที่นี่ พระธรรมก็เห็นอยู่ที่นี่ พระอริยสงฆ์เจ้าทั้งหลายก็รวมอยู่ที่นี่ รวมลงเป็นเอกะสมังคี เรียกว่าการประชุมอยู่ในที่นี่ นี้จึงควรที่พวกเราจะประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติตัวของเรานี้แหละ กายของเรากราบไหว้ ใจของเราระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ น้อมไปสู่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ น้อมไปที่ไหน ดูเหมือนน้อมเข้ามา น้อมเข้ามาสู่ที่ใจ น้อมไปหาใจนั่นเอง หาอยู่ที่ไหน หาอยู่ที่ใจของเรานี่ นี้พระพุทธศาสนามีอยู่ที่นี่ เราควรที่จะพิจารณาให้เห็น ที่ท่านแสดงไว้ว่า ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา นั้นน่ะมีอยู่ที่ไหน ทุกขังก็คือความทุกข์เกิดขึ้นภายในเจ้าของ คือพวกเรานั้นแหละ บางทีก็เจ็บหัวปวดท้อง บางทีเจ็บตามสรรพางค์กายของเราทุกส่วนนั้นแหละ นี้เรียกว่าทุกข์ ทุกข์ที่เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าแสดงเรื่องทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน ทุกข์อยู่ที่กายที่ใจของเรานี่แหละ ให้ดูในที่นี้ นอกจากนั้นก็เป็นดินฟ้าอากาศไปต่างหาก แต่ทีนี้ ท่านให้น้อมเข้ามาสู่ที่ตัวของเรา นี้ปฏิบัติอยู่ในที่นี้ พระพุทธศาสนา จึงจะเห็นเป็นของจริงอยู่ที่นี้
เมื่อเวลาพิจารณาเห็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา อนิจจังคือของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาหรือจะว่าเที่ยงก็ได้ มันอยากเจ็บ มันก็เจ็บจริง มันอยากปวดก็ปวดจริงอันนี้เป็นของ นี้เรียกว่าเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน นี้เรียกว่าสัจจะความเป็นของจริง มันไม่อยากเจ็บมันก็ไม่เจ็บ เป็นอยู่อย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ไม่มีใครเว้นได้ มีอยู่ทุกคน มีอยู่เฉพาะตัวของบุคคลนั้น มีอยู่ทุกแห่ง นี้เรียกว่าทุกข์ เรียกว่าอนิจจัง ไม่เที่ยง บางทีก็แปรปรวนไปเป็นอย่างอื่น
ขั้นแรกก็เกิดขึ้นมา เรียกว่าชาติ ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บไข้ มรณะ ความตาย เป็นอยู่อย่างนี้ อยู่ที่ไหนมีอยู่ที่ไหน ก็มีอยู่ที่กายที่ใจของพวกเรานี้ ให้เห็นทุกข์นี้เรียกว่าสัจธรรม เป็นของจริง รู้จักสิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่ที่กายที่ใจของเรานี้ ได้ชื่อว่ารู้ธรรม เห็นธรรม แต่ว่าปัญญาของเรายังไม่แจ่มชัด ยังไม่รู้ชัดเจน เป็นแต่เพียงว่าอนุมานหรือคาดหมายอยู่เฉยๆ ถ้าหากว่าเห็นสภาพความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ นั้นแหละเห็นมันเกิด มันดับ มันแตก มันทำลาย เห็นอยู่ทัศนะทางใจของเรา เห็นเป็นจริงอยู่อย่างนั้น จนพวกเราปฏิบัติไป จิตของเราสงบ เยือกสบายเย็น นั้นแหละ จนให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในสังขาร หรือความเบื่อหน่ายในกายของตนเอง กายอันนี้แหละมันเป้นอสรพิษอย่างหนึ่ง คอยที่จะกัดคอยที่จะตอดเราอยู่ตลอดเวลา ทำใจของตนให้เดือดร้อนอยู่อย่างนั้น เดี๋ยวสิ่งโน้นเกิดขึ้นมา เดี๋ยวสิ่งนี้เกิดขึ้นมาปรากฏอยู่ในตัวของเรา เดี๋ยวก็อารมณ์ที่น่าชอบใจก็พลอยยินดี อารมณ์ที่ไม่น่าชอบใจก็เลยเกิดความหงุดหงิดขึ้นมา ไม่พอใจ นี้มันเป็นอยู่อย่างนี้ สลับซับซ้อนอยู่ นี้ท่านจึงให้พิจารณากาย พิจารณาใจ พิจารณาในสิ่งที่มี ไม่พิจารณาในสิ่งที่ไม่มี สิ่งไหนมีท่านให้พิจารณาสิ่งนั้น มันเกิดมันดับ เดี๋ยวมันก็เกิด มันก็ดับอยู่อย่างนั้น
อะไรมันเกิด เอ้า! ในขณะนี้เราปกติไม่มีอะไร โรคภัยไข้เจ็บอะไรก็ไม่มี ต่อไปโรคภัยไข้เจ็บก็เกิดขึ้นมา เจ็บปวดตามสรรพางค์กายของเรา บางทีก็เจ็บแขน บางทีก็เจ็บขา บางทีก็ปวดหัวตัวร้อนอยู่อย่างนั้น มันไม่เที่ยงไม่แน่นอน เมื่อเวลามาพิจารณาเห็นความเป็นจริงของกายอย่างนี้ กายมันเป็นอสรพิษคอยที่จะทำลายคุณงามความดีของเรา ให้นึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ไม่ได้ เวลานึกพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ขึ้นมา ก็มีอุปสรรคเกิดขึ้นมา เอ้า! เราเจ็บ เราปวด เรานึกไม่ได้ เราเจ็บ เรานึกไม่ได้ มันเป็นอุปสรรคอันหนึ่ง ขัดขวางต่อคุณงามความดีของเรานี้ มันเป็นอยู่อย่างนั้น นี้ไม่ว่าแต่ใครทั้งนั้น เต็มไปหมดทั้งโลกเลยทีเดียว ไม่มีทางที่จะเว้นที่จะหลีกได้ เป็นอยู่อย่างนี้ แต่ว่าพวกเรามองข้ามไปเสีย เอ้า! เพลินไปเสียก็ลืมไปเสีย นี้เรียกว่า อิริยาบถบังทุกข์ บังอยู่อย่างนั้นเราไม่ระลึกได้ซะที เอ้า! มันเจ็บก็พอ เมื่อเวลามันเจ็บก็นึกขึ้นได้แพล็บเดียวเท่านั้นนะ เดี๋ยวก็คิดอย่างอื่นไปเป็นอยู่อย่างนี้ เราลืม เราหลง หลงทุกข์ ไม่ได้พิจารณาทุกข์ เมื่อทุกข์เกิดมาก็ไม่อยากดู ไม่อยากมองมัน เพราะว่าเราไม่พอใจ ไม่ยินดีในทุกข์ อยากจะหาแต่ความสุขอย่างเดียว เมื่อเวลามันเจ็บก็อยากให้มันหายไปเสีย ไม่อยากให้มันเจ็บก็ไม่ได้ ก็หาหยูกหายามารักษาพยาบาลอยู่อย่างนั้น เวลารักษาพยาบาลหายไปแล้วก็ดีอกดีใจเพลิดเพลิน นึกว่าตนของตนจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเกิดขึ้นเฉพาะกายของเรา นี้หลงอยู่อย่างนั้นพวกเรา นี้เรียกว่าความหลง เราไม่มองดู
พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณาทุกข์ เมื่อเวลาทุกข์มันเกิดขึ้นมาก็ให้ดู ให้พิจารณาเอา ชาติความเกิดมันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ ชราความแก่มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ พยาธิความเจ็บไข้มันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ มรณะความตายมันก็เป็นทุกข์อยู่อย่างนี้ เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเราทำกรรมเอาไว้มาแต่ชาติก่อนโน้น เราทำเอาไว้อย่างไรเราก็ได้รับผลอย่างนั้น สมกับภาษิตที่ท่านกล่าวไว้ว่า ยาทิสัง วะปะเต พีชัง ตาทิสัง ละภะเต ผะลัง บุคคลหว่านพืชเช่นไร ก็ได้รับผลเช่นนั้น นี้หมายความว่าเราลงมือทำลงไป กรรมอันใดที่เราทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม นี้เมื่อเวลาเราลงมือทำลงไปแล้ว เราต้องได้รับผล มันเป็นอย่างนั้น ทำความชั่วลงไปอย่างนี้เราก็ได้รับผลชั่ว เหมือนที่เราได้รับเสวยอยู่นี้แหละ ความทุกข์แต่ละคนก็ย่อมมี ความทุกข์ร้อนหรือโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน แล้วแต่ว่าใครจะทำมากหรือน้อย ใครทำมาก ส่วนความทุกข์ก็มาก หรือเบียดเบียนสัตว์เหล่านี้เป็นต้น เราทำลายชีวิตหรือเบียดเบียนร่างกายทำลายร่างกายของเขาให้ลำบากอย่างนี้ ผลอันนั้นแหละมันสะท้อนคืนมาสู่ตัวเรา เราก็พลอยที่จะได้รับผลเหมือนกันนั้นแหละ เหมือนอย่างที่เราลงมือทำเอาไว้นั้น นี้เรียกว่ากรรมชั่ว
กรรมดีที่นี้นะ เราลงมือทำลงไป ปราศจากความเศร้าหมองแห่งใจนั้นเอง ทำด้วยความบริสุทธิ์นั้นนะ จึงได้ชื่อว่าเป็นกรรมที่ดี ปราศจากมลทิน ไม่มีอะไรที่จะมาเจือปนอยู่ภายในจิตของเรา ทำสิ่งไหนก็ทำแต่สิ่งที่บริสุทธิ์ทั้งนั้น เมื่อเวลาให้ผลแก่พวกเรา มันก็เป็นที่พอใจหรือเป็นที่สบายใจแก่เรา เหมือนอย่างที่พระพากุละนั้นนะ ท่านเคยให้ทานแต่ชาติก่อนโน้นมาก่อนแล้ว ท่านเคยได้ถวายทานยาให้แก่ภิกษุทั้งหลาย มีภิกษุจำพวกหนึ่งไปบำเพ็ญอยู่ในป่าไม้ตะเคียน เมื่อบำเพ็ญไปในฤดูฝน ก็ฝนตก ต้นไม้ก็ผลิดอกออกผลมา เมื่อเวลาร่วงโรยลงมาก็เลยกลายเป็นพิษ เมื่อเวลากลายเป็นพิษทำให้ภิกษุเหล่านั้นเจ็บปวด ต่อมาเมื่อเวลามีการเจ็บป่วยก็ประกอบความพากความเพียรไม่ได้ ได้รับแต่ความทุกข์อยู่อย่างนั้น ต่อมาพระพากุละซึ่งท่านเป็นฤๅษีอยู่ในเขาสุคันธมาส ท่านมาพิจารณาเห็นภิกษุเหล่านั้นไปประกอบความพากความเพียรอยู่ในป่า ก็เห็นความลำบาก พระฤๅษีนั้นก็เลยนำยามาถวายภิกษุเหล่านั้น เมื่อเวลานำยามาถวายภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่านั้นก็ได้รับฉันยาเหล่านั้น ก็เลยหายจากโรคภัย เมื่อเวลาหายจากโรคภัยแล้ว ต่างองค์ต่างเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี ปฏิบัติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เมื่อเวลาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วก็ดับขันธ์ เมื่อเวลาดับขันธ์ก็เข้าสู่พระปรินิพพาน ส่วนพระพากุละนั้นท่านเป็นฤๅษี ยังไม่ได้พ้นจากทุกข์ ยังเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารอันนี้ อยู่ต่อมากลับชาติจากเป็นฤๅษีนั้น มาเกิดเป็นมนุษย์เรานี้แหละ มาเกิดแล้วก็มีศรัทธาบวชในพระพุทธศาสนา เมื่อเวลาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วก็ประกอบความพากความเพียร ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บอะไรเกิดขึ้นซะที จนไม่รู้จักว่าความเจ็บมันเป็นยังไง ไม่รู้จัก
(พรเทพ ทิพยพรเกษม - ถอดเทป)
|