เมื่อจัดแจงบริขารลงในบาตร นำบาตรเข้าถุงเรียบร้อยแล้ว สะพายบาตรใส่บ่าข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งจับกลดแบกใส่บ่า มือข้างหนึ่งถือกาน้ำ ออกเดินทางจากวัดโนนช้างเผือก ถึงบ้านนาม่วง อำเภอพนมไพร เป็นเวลาใกล้ค่ำ มีป่าแห่งหนึ่งเป็นที่วิเวก เหมาะแก่พระธุดงค์กัมมัฏฐาน หลวงพ่อผงจึงได้พาเข้าพักในป่านั้น ในคืนนั้นฝนได้ตกตลอดทั้งคืน ได้นั่งกรำฝนอยู่ใต้กลดจนตลอดรุ่ง พอรุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านนาม่วง ได้อาหารมาฉันพอประทังชีวิต ต่อจากนั้นได้เที่ยววิเวกไปทางอำเภอคง (อำเภอราษีไศลปัจจุบัน) รอนแรมไปจนถึงบ้านจุมพร ได้พักวิเวกในป่าช้าบ้านจุมพร หลวงปู่เล่าว่า โยมเขาทำร้านด้วยไม้เลียนลำ (ไม้กลมวางเรียงกันโดยไม่ได้ยึดติดกัน) ให้ยาวพอสุดหัวสุดเท้า กางกลดบนร้านนั้น และทำทางจงกรมข้างหลุมฝังศพใหม่ๆ เมื่อโยมทำสถานที่ให้แล้ว เขาก็กลับบ้านไป เหลือแต่หลวงปู่กับหลวงพ่อผงอยู่ในป่าช้านั้น ซึ่งทำที่พักอยู่ห่างๆกัน พอตะวันค่ำมืดลง จึงได้เข้าสู่ทางเดินจงกรม ในขณะนั้นได้มีแสงพระจันทร์สาดแสงส่องสว่างมาแทนแสงพระอาทิตย์ เพราะในวันนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน 12 พอดี เดินจงกรมอยู่ริมหลุมฝังศพใหม่ๆนั้น เดินกลับไปกลับมา ตั้งสติกำหนดจิตบริกรรม พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก ทันใดนั้นได้เกิดเสียงดังโครมครามขึ้นที่กองฟอนหลุมฝังศพนั้น หลวงปู่ตกใจจนเหมือนตัวหายไปหมด สักครู่หนึ่งจึงรู้สึกตัวขึ้นมา ตั้งสติสอนใจตัวเองว่า "คงจะไม่ใช่ผีหลอกผีหลอนอะไรหรอก เราจะกลัวอะไร ถ้าว่าผีก็ไม่เห็นมันมาต่อสู้อะไรกับเรา ไม่เห็นเป็นตัวเป็นตนอะไรมา" ในที่สุดก็ได้กำลังใจขึ้นมาทุกทีๆ ความกลัวนั้นก็หายไป ได้เดินจงกรมไปมาจนเหนื่อยแล้วจึงหยุด ล้างเท้าแล้วขึ้นบนร้าน จัดแจงเอามุ้งกลดลงแล้วเข้านั่งในมุ้งกลดนั้น เตรียมไหว้พระสวดมนต์ ขณะนั่งไหว้พระนั้นกระดุกกระดิกแรงก็ไม่ได้ เพราะไม้ที่ปูเลียนลำนั้นวิ่งออกจากกัน จึงต้องมีสติระมัดระวัง นี้จึงเป็นเหตุให้ธรรมะเกิดขึ้นที่ใจ คือ ความเพียร ความระลึกรู้ ความตั้งใจมั่นและความรอบรู้ของใจ เมื่อไหว้พระสวดมนต์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้เข้าที่นั่งภาวนาต่อไป ในขณะนั้นจิตได้รวมตัวสงบเข้าเป็นหนึ่ง คลายจากความกลัวทั้งหมด แล้วจึงได้หยุดพักผ่อน รุ่งเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้าน กลับออกมาที่พักมีโยมผู้หญิง 3 คน ตามมาถวายอาหาร พักอยู่ 2 คืน จึงออกเดินทางต่อไปถึงบ้านนาทุ่ง พวกโยมทำที่พักให้ในป่าแห่งหนึ่งจึงได้พักอยู่ในที่นั้น ได้มีคนรู้จักกับหลวงพ่อผงได้มาสนทนาด้วย ต่อจากนั้นจึงได้เดินธุดงค์ต่อไปทางอำเภออุทุมพร ถึงบ้านนาม้อง พักในป่าแห่งหนึ่ง จัดแจงเอาสายระเดียงขึง สันข้างหนึ่งผูกต้นไม้ต้นหนึ่ง อีกด้านหนึ่งก็ผูกต้นไม้อีกต้นหนึ่ง แล้วเอากลดแขวนตรงกลางเอามุ้งกลดวงรอบ เอาผ้าอาบน้ำปูลงกับพื้นดิน ไหว้พระภาวนาแล้วจำวัดในที่นั้น รุ่งเช้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวบ้านเขาตื่นสายไม่มีคนใส่บาตร เดินไปพอดีมีบ้านหลังหนึ่งเจ้าของกำลังติดไฟแล้วเอาหม้อหุงข้าวใส่น้ำตั้งบนก้อนเส้า จึงได้ยืนภาวนาคอยอยู่ในที่นั้น เมื่อเขาเอาหม้อตั้งไว้แล้ว เขาก็ไปตักเอาข้าวเปลือกในเล้ามาใส่ครกไม้ตำด้วยสากมือ คือเอามือจับสากแล้วตำข้าวในครก ตำไปแล้วก็ตักออกใส่กระด้ง ฝัดข้าวสารใส่หม้อ ที่เหลือเป็นข้าวเปลือกก็ใส่ครกตำไปอีก ฝัดเอาข้าวสารใส่หม้ออีก ทำอยู่อย่างนี้จนกะว่าจะกินอิ่มในครัวเรือนนั้นจึงหยุด เมื่อข้าวสุกดีแล้ว เขาก็ตักเอาข้าวในหม้อนั้นมาใส่บาตรให้ พร้อมกับเกลือก้อนหนึ่งเท่าหัวโป้มือ (หัวแม่มือ) และพริกแห้ง 2-3 ลูก และปลาระฮอก ก้อนหนึ่งเท่าลูกมะกอก รับบิณฑบาตโดยเคารพด้วยเมตตาและขันติความอดทน แล้วจึงกลับไปสู่ที่พักทำภัตตกิจ ฉันข้าวกับพริกเกลือและปลาระฮอก พอกำจัดความหิวและยังชีพให้เป็นไปพอได้เจริญสมณธรรมต่อไป เมื่อฉันเสร็จแล้วล้างบาตรจัดแจงแต่งบริขารเรียบร้อยแล้ว จึงได้อำลาบ้านนาม้อง สององค์กับหลวงพ่อผงได้ธุดงค์รอนแรมไปถึงห้วยทับทัน แล้วได้วกกลับมาจนถึงอำเภอพนมไพร ความตั้งใจจะไปเขาพระวิหารจึงไม่สำเร็จ เมื่อกลับถึงอำเภอพนมไพร จึงเข้าพักที่วัดป่าโนนช้างเผือกอีก ในระหว่างนั้นก็ไม่มีครูบาอาจารย์สอนเรื่องภาวนาก็ด้นเดาทำเอา
ในระยะนั้นได้ประกอบความเพียรเป็นอันมาก ได้ตั้งสัจจะอธิษฐานเดินจงกรมตามเดือน (ตามพระจันทร์) ตั้งแต่ขึ้น 2 ค่ำ 3 ค่ำ ถ้าพระจันทร์ไม่ตกดินไม่หยุดเดิน จนถึงขึ้น 15 ค่ำ เดินจงกรมตลอดคืนไม่นอน ผลที่เกิดขึ้นมีวันหนึ่งในขณะที่เดินจงกรมอยู่นั้นจิตรวมลงเป็นหนึ่ง ปรากฏว่าร่างกายไม่มี คล้ายๆกับเดินไม่เหยียบดินเลยเหมือนกับลอยไปลอยมา ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยหิวอะไรเลย มีแต่ความเบากายเบาจิต แต่ในขณะนั้นยังไม่เกิดปัญญาพิจาณาอะไร มีแต่ความเบากายเบาจิตเท่านั้น
เดินทางเข้าจังหวัดร้อยเอ็ดเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุ ครั้นพักอยู่ที่วัดป่าโนนช้างเผือกถึงเดือน 7 พ.ศ. 2479 จึงออกเดินทางจากอำเภอพนมไพร เดินด้วยเท้าตามทางคนทางเกวียน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เขียวชอุ่ม ชุ่มตาชุ่มใจในธรรมชาติ ระยะทางจากพนมไพรถึงร้อยเอ็ด 60 กิโลเมตร เดินทาง 2 วัน วันที่ 2 ยังไม่ค่ำถึงจังหวัดร้อยเอ็ด มีโยมจารย์สิ้ว (อดีตหลวงพ่อสิ้ว) สะพายเครื่องบริขารที่จะบวชพระเดินทางมาด้วย เมื่อถึงร้อยเอ็ดได้เข้ามอบตัวกับพระอาจารย์สีโห เขมโก ที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ฝึกหัดอักขรฐานกรณ์ ที่แรกนึกว่าจะไม่ได้บวชเพราะฝึกหัดยาก ออกเสียงไม่ถูกตามมคธภาษา จึงได้ตั้งใจฝึกหัดไม่ลดละ ในที่สุดพระอาจารย์สีโหจึงรับรองว่าบวชได้
อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุตตามที่ได้ตั้งใจไว้ เมื่อฝึกหัดคำขอบวชได้คล่องแคล่วแล้ว พระอาจารย์สีโหจึงได้นำพาไปอุปสมบทที่วัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 เวลา 15.15 น. โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาบุญถึง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้กลับมาอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ถือนิสัยกับท่านพระอาจารย์สีโห เขมโก ได้ตั้งใจปฏิบัติกิจวัตร อาจาริยวัตร ข้อวัตรปฏิบัติด้วยความเคารพไม่ให้ขาดตกบกพร่อง
|