พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2479 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

พรรษาที่ 1

เมื่อถึงกาลเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 พ.ศ. 2479 เวลาเย็น บ่าย 4 โมง พระภิกษุสามเณรพร้อมกันทำกิจวัตร คือปัดกวาดลานวัดรอบศาลารอบกุฏที่พักของใครของมัน ซึ่งปลูกเป็นหลังๆอยู่ห่างจากกันพอประมาณ และตามทางเดินในวัด เมื่อปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วก็พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ปัดกวาดเช็ดถูพื้นกระดานด้วยมะพร้าวแห้งตัดครึ่งลูก ถูไปมาทั่วศาลาแล้วจึงใช้ไม้กวาดกวาด แล้วใช้ผ้าแห้งถูจึงสะอาดเรียบร้อย เสร็จแล้วพร้อมกันตักน้ำหามน้ำใส่ตุ่ม สำหรับล้างบาตร ตามถาน (ส้วมเป็นส้วมปล่อยไม่ได้ใช้น้ำราด แต่น้ำนั้นสำหรับไว้ใส่กระบอกชำระล้างก้นเวลาถ่ายเสร็จแล้ว) ตามบันไดขึ้นกุฏิศาลาสำหรับล้างเท้า น้ำที่นำไปใส่ในที่ต่างๆนั้นจะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นลูกน้ำ เพราะถ้าเกิดลูกน้ำมีตัวสัตว์ ต้องนำน้ำนั้นไปเทลงในน้ำหนองน้ำบ่อ เทรดดินรดหญ้าไม่ได้ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ การตักน้ำก็ตักขึ้นจากบ่อโดยใช้ไม้ไผ่เป็นลำ ทำเป็นไม้สำหรับเกาะครุตักน้ำ ไม้ไผ่เลี้ยงลำพอเหมาะมือ ตัดมาแล้วใช้สิ่วเจาะทางโคนต้นทำไม้เป็นเดือยเป็นไล เขาเรียกไลคันขอ ตีเข้ารูไม้ไผ่ที่เจาะไว้ เขาเรียกไม้คันขอ สำหรับเกาะครุหย่อนลงในบ่อลึกตักน้ำแล้วดึงขึ้นมาเทใส่ครุข้างบน พระเณรช่วยกันตักน้ำ รูปหนึ่งตักดึงขึ้นมา รูปหนึ่งรับครุเทใส่ครุข้างบน รูปหนึ่งถือผ้าสำหรับกรองน้ำ อีกพวกหนึ่งช่วยกันหามไปใส่ตุ่ม พระเณรต่างมีความสามัคคีกันช่วยกันทำกิจวัตรข้อวัตร

เมื่อเสร็จแล้วก็พร้อมกันทำอาจาริยวัตรสรงน้ำครูบาอาจารย์ผู้เป็นพระเถระด้วยการถูหลังถูเท้า รับผ้าอาบน้ำผลัดเปลี่ยน เสร็จแล้วตนเองจึงได้สรงน้ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จเวลาย่ำค่ำ 1 ทุ่ม พร้อมกันขึ้นศาลาโรงธรรม ประธานสงฆ์โดยมีพระอาจารย์สีโหได้นำทำวัตรสวดมนต์เย็น จบแล้วทั้งพระภิกษุสามเณรได้ร่วมกันกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา ท่านให้ว่าทีละองค์ตามลำดับพรรษาจนครบหมดทุกองค์จึงได้เลิกกัน

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษานี้ได้ตั้งใจทำความเพียรไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ เวลากลางวันหลังจากฉันจังหันเช้าเสร็จแล้วล้างบาตร เก็บกวาดที่ฉัน ทำข้อวัตรเสร็จแล้วก็สะพายบาตรกลับกุฏิ พอถึงกุฏิแล้วไม่ขึ้นกุฏิ ยื่นบาตรขึ้นไว้บนกุฏิให้ห่างจากที่ตก 1 ศอก แล้วเข้าสู่ทางเดินจงกรม การเดินจงกรมได้แก่ การเดินภาวนานั่นเอง เดินไม่ช้าไม่เร็ว กำหนดรู้ที่ใจ สติเป็นเพื่อนสองของใจ บางวันก็เดินจงถึงเวลาทำกิจวัตร คือบ่าย 4 โมงเย็น กวาดลานวัด บางวันเดินจงกรมเหนื่อยก็นั่งภาวนาสลับกันไปจนถึงเวลาทำกิจวัตรจึงออกจากทางเดินจงกรม บางวันฝนตกก็นุ่งผ้าอาบน้ำเดินจงกรมตากฝนอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืนไม่ประมาท หาอุบายฝึกฝนทรมานตนเอง ถ้าเราไม่ฝึกตนเองก็ไม่มีใครที่ไหนจะฝึกให้เรา เราต้องฝึกตนเองเพื่อให้เกิดกำลังสติ สมาธิและปัญญาในทางอริยมรรค บางครั้งเวลาเดินจงกรม ถีนมิทธะความง่วงเหงาหาวนอนเกิดขึ้นก็ต้องฝืน ไม่ได้ปล่อยตามความต้องการ การทำทางเดินจงกรมนั้นปลายทางทั้งสองข้างเป็นพุ่มหนามคัดเค้า พอเดินจงกรมขาดสติเคลิ้มไปก็เดินเลยเข้าพุ่มหนาม หนามเกาะหูเกาะขา เมื่อรู้สึกตัวปลดหนามออกกลับเดินจงกรมใหม่ ทำอยู่อย่างนั้นจนความง่วงหายไปเพราะกำลังสติกล้าขึ้น ในที่สุดจิตก็ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียว มีสติระลึกรู้ตื่นอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เป็นข้าศึกทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดกำลังและสงบไป

การทำความเพียรในพรรษานี้ได้รับผลคือความสงบทางใจเป็นอันมาก

 

ไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

หลวงปู่เล่าว่า โอวาทธรรมที่หลวงปู่เสาร์ได้เตือน "ให้ตั้งใจให้ดี ตั้งสติให้ดี" ในคราวเป็นสามเณรไปกราบนมัสการท่านที่วัดป่าสุทธาวาสในคราวนั้น ยังเอิบอิ่มอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้เมื่อได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วจึงได้คิดอยู่เสมอว่า อยากจะไปอยู่ศึกษาข้อวัตรปฏิบัติและฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วย่างเข้าฤดูหนาว ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวนำขึ้นไปใส่ยุ้งใส่เล้าเสร็จแล้ว เป็นฤดูที่เหมาะแก่การเที่ยววิเวกธุดงค์หาความสงบตามสถานที่ต่างๆ พระอาจารย์พานและพระภิกษุบุญจันทร์พร้อมด้วยพระภิกษุ 1 รูป สามเณร 1 รูป รวมเป็น 4 รูปด้วยกัน ได้พร้อมกันกราบลาพระอาจารย์สีโห เขมโก เพื่อเดินทางไปศึกษาอบรมกับท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล

ในระหว่างเดินทาง ท่านพระอาจารย์พานได้พาพักวิเวกไปตามหมู่บ้านต่างๆ อบรมประชาชนให้เข้าถึงพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง ที่บ้านเขืองใหญ่มีประชาชนมารับการอบรมฟังธรรมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่เด็กหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก พักอยู่ที่บ้านเขืองใหญ่นี้เป็นเวลา 5 คืน ท่านอาจารย์พานจึงพาเที่ยวไปทางบ้านตาอุดตาเสือ และบ้านเหล่าแขม เมื่อเวลาอยู่ที่นั่น ท่านอาจารย์พานได้อบรมประชาชนให้นั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง โดยให้ยึดเอาพุทโธเป็นอารมณ์ของใจ อยู่มาวันหนึ่ง ได้มีพวกหนุ่มสาวพร้อมทั้งผู้ใหญ่บ้านเหล่าแขม ชื่อผู้ใหญ่เกษ ได้มารับการอบรมธรรมะ ท่านอาจารย์พานได้สอนให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ คือ ให้เป็นผู้มีความเคารพในพระพุทธเจ้า เคารพในพระธรรม เคารพในพระสงฆ์ ให้เชื่อในผลของกรรมว่าทำดีจักได้รับผลดี ทำชั่วจักได้รับผลชั่ว หลวงปู่เล่าว่าตัวท่านเองได้เป็นผู้เอาใจใส่ในอาจาริยวัตร คอยดูแลอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ นั่งอยู่เป็นเพื่อนครูบาอาจารย์ในเวลามีแขกญาติโยมมาหาครูบาอาจารย์ จนแขกญาติโยมเลิกกลับไปหมดจึงจะได้พักผ่อน

อยู่ต่อมาวันหนึ่งไม่รู้ว่าเรื่องอะไร เป็นเวลาในราว 1 ทุ่ม ในขณะนั้นท่านอาจารย์พานกำลังเทศนาอบรมอยู่ ได้มีคนร้ายมาขว้างค้อนใส่ ครั้งที่ 1 ถูกต้นไม้ ครั้งที่ 2 ก็ถูกต้นไม้อีก ครั้งที่ 3 เป็นก้อนดินขว้างเข้ามาถูกต้นไม้แตกกระเด็นมาถูกหัวภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ในขณะนั้นมีผู้ชายคนหนึ่งมานั่งฟังเทศน์อยู่ด้วย จึงวิ่งออกไปดู พวกเหล่าร้ายนั้นพากันวิ่งเตลิดหนีไป ไม่ว่ายุคใดสมัยใด คนเรานี้มีทั้งดีทั้งไม่ดีปะปนกันอยู่อย่างนั้น คนดีมีจิตใจประกอบไปด้วยศีลธรรมก็ตั้งใจฟังธรรมแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติตาม คนร้ายจิตใจร้ายกาจเต็มไปด้วยอิจฉาริษยา คอยแต่จะเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น

พักอบรมอยู่บ้านเหล่าแขม เป็นเวลา 15 วัน พอดีมีโยมอีกบ้านหนึ่ง เขามาขอนิมนต์ไปพักอยู่ดอนอารักษ์ของเขา ท่านอาจารย์พานจึงได้พาไปโปรดญาติโยมตามที่เขานิมนต์นั้น พอไปพักอยู่ที่นั่น ได้มีคนมาฟังเทศน์รับการอบรมเป็นจำนวนมาก ท่านอาจารย์พานได้เทศน์อบรมญาติโยมที่ออกมาฟังเทศน์ในเวลากลางคืน มีคนเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก มีทั้งคนหนุ่มคนสาวออกไปรับการอบรมด้วย ในระยะนั้นท่านอาจารย์กำลังเทศน์อบรมอยู่ พวกชายหนุ่มเขาพากันเป่าแคนทำการรบกวนมาก ท่านอาจารย์จึงได้ห้ามให้เขาหยุด เขาก็ไม่หยุด ท่านจึงสั่งให้ญาติโยมที่นั่งรับการอบรมอยู่นั้นเลิกกลับบ้านหมด พอญาติโยมกลับบ้านไปหมดแล้ว ท่านอาจารย์พานพร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์กำลังนั่งสนทนาพูดคุยกันอยู่ ในระยะนั้นเป็นเวลาประมาณ 3 ทุ่ม

 

พุทธานุภาพมีอำนาจกว่าดิรัจฉานวิชา

ไม่มีลมมีฝนอะไรเลย แต่มีเสียงอันหนึ่งดังมาเป็นเสียงอึดๆมาทางอากาศ คงจะเป็นเวทมนตร์เขาทำมาทดลองพระกรรมฐาน พอมาถึงต้นไม้ มีกิ่งไม้หักลงมา จะว่าลมก็ไม่เห็นมีลมพัดอะไร ท่านอาจารย์พานจึงบอกว่าคงจะเป็นเขาปล่อยวัวธนู แต่ท่านไม่กลัวเพราะท่านมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธอยู่แล้ว พุทโธเป็นใหญ่ในโลกสาม ผู้ใดมีความเชื่อมั่นต่อพุทโธตั้งใจปฏิบัติ ไปไหนมาไหนมีพุทโธประจำใจ ใจเข้าถึงพุทโธ พุทโธเข้าถึงใจแล้วไม่มีเวรมีภัย

ได้พักอยู่ที่ดอกอารักษ์ บ้านเหล่ากอยนี้ 3 คืน พอดีท่านอาจารย์พ่านได้พาออกเดินทางต่อไปอำเภอพนมไพร หลวงปู่เล่าว่าพอผ่านตัวอำเภอพนมไพรก็เลยไปถึงบ้านคำพระ (กุดโอ) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง

 

พบมารดาผู้บังเกิดเกล้าเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อพระอาจารย์พานพาลูกศิษย์เดินเที่ยววิเวกรอนแรมมาถึงบ้านคำพระ ได้เข้าพักกางกลดในป่าดอนธาตุนั้นเอง เมื่อโยมมารดาของหลวงปู่ได้ทราบว่าลูกชายสุดที่รักของตนพร้อมด้วยครูบาอาจารย์มาพักที่ป่าดอนธาตุใกล้บ้านของตน จึงได้ออกมาต้อนรับถวายหมากพลูบุหรี่ ตามประเพณีชาวพุทธในครั้งนั้น ท่านอาจารย์พานได้เทศน์ธรรมให้ฟังบ้างเล็กน้อย เพราะเวลาไม่มาก เมื่อหลวงปู่มองดูโยมมารดาแล้วเกิดความสลดใจเป็นอย่างยิ่ง ในขณะนั้นได้มีความรู้อันหนึ่งขึ้นในใจว่า "แม่ของเรานี้เห็นจะอายุสั้นมากนัก" แต่แล้วก็ไม่กล้าจะพูดอะไรให้ฟัง เพียงแต่เตือนสติให้ตั้งใจภาวนาให้มากๆเท่านั้น แล้วโยมแม่ก็กลับเข้าบ้านไป พักอยู่ที่นี่ 1 คืน พอรุ่งเช้าก็เข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัยแล้วกลับมาฉัน มีญาติโยมตามมาถวายจังหันบ้างไม่มากนัก ในวันนั้นฝนตกตลอดวัน พอฉันจังหันเสร็จแล้ว พระอาจารย์พานได้พาออกเดินทางต่อไปถึงบ้านกระจายศรีฐาน ค่ำพอดีเข้าพักที่วัดป่ากระจายศรีฐาน พักอยู่ได้ 6 วัน พอวันที่ 7 พี่ชายใหญ่ คือนายอ่อนสี ได้ตามมา

 

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป

หลวงปู่เล่าว่า "พอมองเห็นพี่ชายเดินเข้าวัดมา ในใจก็นึกขึ้นมาเองว่ามารดาของเราคงตายเสียแล้ว พอพี่ชายเข้ามาถึง จึงพูดไปเรื่องอื่นปลอบใจพี่ชายเสียก่อน เพราะกลัวว่าพี่ชายจะอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจไม่ได้ เพราะความเป็นห่วงในมารดาของตนที่จากไปไม่มีวันกลับ"

พอพูดเรื่องอื่นไปพอสมควรแล้ว จึงย้อนถามพี่ชายว่ามาในเวลานี้มีธุระอะไรกันแน่ พี่ชายจึงพูดขึ้นด้วยความเศร้าใจว่า "บัดนี้มารดาของเราได้ถึงแก่กรรมไปเสียแล้ว" พอพี่ชายพูดอย่างนั้น จึงได้พูดกับพี่ชายว่า "ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หายใจตาง (แทน) กันก็ไม่ได้แล้ว เพราะว่าความตายเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว เราก็จะตายเช่นกันไม่ว่าแต่มารดาของเราเลย เกิดกับตายเป็นของคู่กัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะให้ทำอย่างไร จะให้กลับหรือทำอย่างไร" พี่ชายจึงพูดว่า "การจะกลับหรือไม่กลับนั้นก็ไม่ว่า เวลานี้เป็นแต่เพียงตามมาบอกข่าวให้ทราบเท่านั้น" พอพี่ชายพูดอย่างนั้นจึงได้พูดกับพี่ชายว่า "การจะกลับนั้นเห็นจะกลับไม่ได้เพราะเวลานี้ก็จวนจะเข้าพรรษาแล้ว การจำพรรษานั้นยังไม่รู้ว่าจะได้จำที่ไหนแน่" และได้ย้อนถามพี่ชายว่า "เวลานี้ได้เก็บศพแม่ไว้อย่างไร เผาหรือฝัง" พี่ชายตอบว่า "ฝังไว้" จึงบอกพี่ชายว่า "ถ้าอย่างนั้นนัดกันตอนเดือน 4 จึงจะกลับไปทำบุญและนำศพแม่ขึ้นมาเผา"

เมื่อพูดกับพี่ชายเช่นนั้นแล้ว พี่ชายได้พักอยู่ที่นี่ด้วย 1 คืน จึงเดินทางกลับไป ตัวเองก็ได้พักอีก 1 คืน ท่านอาจารย์พานจึงได้พาออกเดินทางต่อไปยังอุบลราชธานี เพื่อจะได้นมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล เมื่อเดินทางไปถึงบ้านท่าวารี ได้พักอยู่กับท่านอาจารย์ทอง 1 คืน จึงออกเดินทางต่อไปบ้านข่าโคม (บ้านเกิดของพระอาจารย์เสาร์) เพื่อที่จะได้ฟังธรรมของท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ เพราะมีความหิวกระหายในการที่จะฟังธรรมเป็นอันมาก เมื่อเดินทางถึงบ้านข่าโคมแล้ว ท่านอาจารย์พานจึงได้พาลูกศิษย์ที่เดินทางด้วยกัน เข้ากราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พร้อมทั้งถวายตัวเป็นศิษย์ขอนิสัยจากท่านและขอฟังธรรมจากท่านด้วย

 

พระอาจารย์ใหญ่เสาร์แสดงธรรมให้ฟัง

หลวงปู่เล่าว่า ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ก็แก่ชรามากแล้ว ท่านไม่ค่อยแสดงธรรมอะไรมาก "ท่านสั่งให้พิจารณาความตายให้มากๆ ไม่ว่าคนว่าสัตว์เกิดมาแล้วก็ต้องตายเพราะเกิดกับตายเป็นของคู่กัน จึงเป็นสิ่งที่ถูกกับจริตนิสัยของเรา เพราะปกติในคราวเป็นเด็กก็เคยพิจารณาความตายเป็นนิสัยมาอยู่แล้ว"

ย้อนกลับ ต่อไป