พรรษาที่ 11 พ.ศ. 2489 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

พรรษาที่ 11

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้จำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณรโดยมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์ พระเณรต่างพากันตั้งสัจจะอธิษฐานประกอบความเพียร และอธิษฐานไม่พูดกัน ถ้ามีเหตุจำเป็นก็เวียนหนังสือถามกันเอง แต่ให้เหลือไว้คนหนึ่งสำหรับพูดเวลามีแขกคนมาวัดมีธุระจำเป็น วันหนึ่งมีนายอำเภอขี่ม้าเข้ามาในวัด มาถามพระเณร องค์ไหนก็ไม่พุด นายอำเภอจึงพูดว่า "อะไรกัน พระเณรเป็นใบ้กันหมดทั้งวัด" เพราะนายอำเภอถามไม่ถูกองค์ที่ตั้งไว้ให้รับแขก ในสมัยนั้นการประกอบความเพียรเพื่อเอาชนะกิเลสภายในใจจำต้องทำด้วยวิธีต่างๆ

 

ตั้งใจไปโปรดญาติ

เมื่อออกพรรษาปี 2489 ฤดูเดือน 12 หลวงปู่คิดถึงญาติที่ได้จากกันไปอยู่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นเวลาหลายปี ยังไม่เคยได้ไปเยี่ยมเยือนเลย หลวงปู่จึงคิดที่จะทำประโยชน์แก่ญาติ จึงออกเดินทางจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไปขึ้นรถไฟที่สถานีกิ่งไผ่ (อำเภอบ้านไผ่) ไปลงที่สถานีรถไฟห้วยสามพาต อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี พอลงจากรถไฟเป็นเวลาใกล้มืด สะพายบาตรแบกกลดเดินผ่านบ้านห้วยสามพาต เลยออกไปทุ่งนา อาศัยโคนต้นไม้แสบงใหญ่มีรากเป็นที่พึ่ง เป็นที่พักจำวัด

 

บ้าบัตรเบอร์

ในสมัยนั้นคนเป็นบ้าหวยกันเพราะเจ็ดวันหวยออกครั้งหนึ่ง ชาวบ้านห้วยสามพาต เมื่อเห็นพระกัมมัฏฐานเดินผ่านบ้านไปตามทุ่งนา พอเวลาค่ำมืดก็พากันจุดไต้ตามออกไปหา เพื่อจะได้ขอหวยบ้าง

หลวงปู่เล่าว่า

" เราก็นั่งอยู่โคนต้นไม้ เขาก็เดินค้นหาผ่านไปผ่านมาใกล้ๆแต่เขาไม่เห็น ได้ยินเสียงเขาพูดกันว่า "เห็นท่านออกมาหยุดอยู่บริเวณนี้แหละ ทำไมไม่เห็นไม่พบ" เราก็นั่งนิ่งเงียบเพราะกลัวเขาจะเห็นเรา เมื่อเขาค้นหาเหนื่อยแล้ว ไม่พบ เขาก็กลับเข้าบ้านไป เราก็อาศัยพิงรากไม้นั้นแหละเป็นที่จำวัด ในคืนนั้นฝนก็ตกพรำๆตลอดคืน พอตอนเช้าเข้าบิณฑบาตตามสมณวิสัยในหมู่บ้านห้วยสามพาต พอบิณฑบาตแล้วจะกลับออกไปฉันที่ทุ่ง มีโยมคนหนึ่งให้ขึ้นไปฉันบนบ้านเขา เพราะตอนเช้าฝนก็ยังตกพรำๆอยู่ไม่หยุด เมื่อฉันเสร็จแล้วจะลาโยมเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านที่มาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เขาขอตัวดีจากเราว่า "อาจารย์ไม่มีตัวดีหรือ" บอกเขาว่า "มี...ตัวดีคือตัวเรา เราทำดีก็เป็นตัวดี เราทำไม่ดีก็เป็นตัวร้าย"

เมื่อบอกตัวดีให้เขาแล้วก็ออกเดินทางจากบ้านห้วยสามพาต ผ่านบ้านโพนทอง พังซ้อนงาวัว เดินทั้งวัน ถึงบ้านหนองแวงแก้มหอม ผ่านไปถึงบ้านหนองตูม ขณะนั้นมีบ้านอยู่ 4-5 หลังคาเรือน ผ่านบ้านหนองตูมเข้าบ้านไชยวาน คุ้มหนองยาง เป็นเวลามืดผึมผำ (มืดสลัว) เจอบ้านคนมีคนอยู่ใต้ถุนบ้าน พอจะถาม เขาก็วิ่งขึ้นบ้านไป จึงเดินผ่านเข้าไปกลางหมู่บ้านถามถึงญาติ คือพี่ชายชื่อคำสิงห์ เขาก็บอกว่าสิงห์มีหลายสิงห์ สิงห์ก่าก็มี สิงห์กระดูกม้าก็มี สิงห์โกโลก็มี สิงห์เพ็งก็มี เราก็ไม่รู้ว่า สิงห์อะไรเป็นพี่ชายของเรา จึงถามถึงคุณพ่อสอน เขาก็ไม่รู้อีกเลยไม่ได้หน้าได้หลัง"

หลวงปู่จึงเดินเลยหมู่บ้านออกไปริมทุ่ง พอดีมีโพนมะขามใหญ่อยู่โพนหนึ่ง ซึ่งอยู่ทิศตะวันออกของบ้านไชยวาน และอยู่ใกล้กับตึกใหญ่ (ตึกหมายถึงร้านค้าใหญ่) ของนายฮ้อยนิล มั่งมีศรี หลวงปู่จึงปักกลดจำวัดที่โพนมะขามใหญ่นั้น (โพน หมายถึงจอมปลวกใหญ่) พอถึงเวลาดึกน้ำค้างลงทำให้มีกลิ่นเหม็นพิกล พอสว่างเป็นวันใหม่จึงรู้ว่าที่นั้นมันเป็นส้วมปล่อยตามอัธยาศัยของชาวบ้าน เมื่อสว่างได้เวลาพอบิณฑบาตแล้ว หลวงปู่จึงสะพายบาตรพร้อมกับบริขารอย่างอื่นไปด้วย เดินบิณฑบาตจากตึกใหญ่เดินตามถนนมาจนถึงหน้าวัดท่าบ่อวารีรินทร์ จึงพบพวกญาติพี่น้องที่อพยพมาจากอำเภอพนมไพร มาตั้งบ้านเรือนอยู่คุ้มวัดท่าบ่อวารีรินทร์ปัจจุบันนี้

นายคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายจึงนิมนต์ฉันอาหารเช้าที่บ้าน ได้มีพวกญาติๆมาร่วมถวายอาหารบิณฑบาตด้วย เมื่อฉันเสร็จแล้วญาติโยมจึงนิมนต์ให้ไปพักที่อาคารโรงเรียนบ้านไชยวาน ขณะนั้นเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ยังไม่ได้เปิดเรียน พักที่อาคารโรงเรียน 1 คืน จึงย้ายไปพักที่ร่มไม้หว้าชมภู สวนนายสุจินต์ คำใสย์ อบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องและญาติโยมชาวบ้านไชยวาน ให้ยึดเอาพระไตรสรณคมน์และศีลห้าเป็นที่พึ่งและเป็นข้อปฏิบัติ

 

ความไม่เคยเห็นเคยรู้ทำให้เข้าใจผิดได้

ขณะที่หลวงปู่พักอยู่รุกขมูลร่มไม้หว้าชมภูเพื่ออบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องอยู่นั้น วันหนึ่งได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านอยู่วัดในบ้านได้ออกมาพูดคุยกับหลวงปู่ คุยไปคุยมาท่านมองเห็นบั้งถาน (กระบอกสำหรับใส่น้ำชำระก้นเวลาถ่ายเสร็จ) และฟอยสับปะรด (เป็นของสำหรับเช็ดน้ำที่ล้างก้นให้แห้ง) ท่านจึงถามหลวงปู่ว่า "นี้อะไร" พร้อมกับยื่นมือไปจับมาดู หลวงปู่ตอบว่า "บั้งถาน" พระท่านจึงพูดว่า "เอ้า ไปถานก็พอจะหิวน้ำด้วยหรือ" พร้อมกับจับบั้งถานยกขึ้นทำท่าเทน้ำใส่ปากตัวเองด้วย แล้วพระนั้นท่านก็หยิบเอาฟอยสับประดาที่ทำด้วยเส้นฝ้ายนิ่มๆนั้นขึ้นมาถูที่จมูกของท่าน ถูไปถูมาพร้อมกับพูดว่า "แหม นิ่มดีเนาะ" หลวงปู่ได้แต่ยิ้มๆและนึกอยู่ในใจว่า "คนเราไม่เคยเห็นไม่เคยรู้ว่าเขาทำสำหรับอะไร ก็ทำให้เข้าใจผิดได้"

 

คุณพ่อสอน คำใสย์ ติดตามออกบวช

หลวงปู่พักอบรมศีลธรรมแก่ญาติพี่น้องและชักชวนพี่ชายให้ออกบวชด้วย แต่พี่ชายยังไม่ตกลง ท่านพักอยู่ไม่นาน จึงได้ลาญาติพี่น้องกลับไปจังหวัดร้อยเอ็ด ได้มีคุณพ่อสอน คำใสย์ สละครอบครัวติดตามหลวงปู่ไปบวชด้วย หลวงปู่พาคุณพ่อสอนเดินด้วยเท้า ออกจากบ้านไชยวาน ผ่านดงหลุบหวาย บ้านหนองกุงทับม้า (ปัจจุบันเป็นเขตอำเภอวังสามหมอ) มุ่งหน้าผ่านบ้านหนองลุมพุก พักรอนแรมไปเรื่อยๆ เข้าเขตอำเภอโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสหัสสขันธ์) ผ่านกาฬสินธุ์ กมลาไสย ถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วจึงให้คุณพ่อสอนบวชเป็นตาผ้าขาว ถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติให้ชำนิชำนาญก่อน

 

ร่วมสร้างสาธารณประโยชน์

ในระยนี้พระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ได้พาสร้างโรงเรียนประชาบาลให้บ้านนาสร้าง โรงเรียนนี้สร้างอยู่ติดกับวัดป่าศรีไพรวัลย์ ทั้งพระทั้งเณรและชาวบ้านได้ช่วยกันเลื่อยไม้ทำอาคารเรียน การสร้างโรงเรียนยังไม่เสร็จ พระอาจารย์เพ็งได้ลาสิกขาบทออกไปเป็นฆราวาส (ภายหลังท่านกลับมาบวชอีก ต่อมาท่านได้อยู่ที่วัดเทิงเสาหิน ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) หน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์จึงตกเป็นภาระของหลวงปู่ และการสร้างโรงเรียนที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยก็ตกเป็นภาระของหลวงปู่ด้วย ซึ่งท่านก็ดำเนินการต่อไปจนเสร็จเรียบร้อยทุกประการ

 

เห็นโทษในการเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก

เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงทำหนังสือขอครูใหญ่มาประจำโรงเรียน โดยขอครูคนที่ได้ร่วมสร้างโรงเรียนด้วยมาเป็นครูใหญ่ แต่มีอีกคนหนึ่งที่อยากมาเป็นครูใหญ่ เวลาทำงานสร้างโรงเรียนไม่ได้เอาใจใส่ เวลาอยากเป็นใหญ่มีหน้ามียศ กุลีกุจอวิ่งหน้าวิ่งหลังติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ จนกระทบกระเทือนมาถึงหลวงปู่ด้วย จึงเป็นเหตุให้ท่านเอือมระอาในการที่จะคลุกคลีเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลก ทำให้ท่านเห็นโทษอย่างยิ่ง ในที่สุดหลวงปู่จึงชี้ขาดให้ผู้ที่ได้ร่วมทำงานด้วยมาเป็นครูใหญ่ประจำโรงเรียนบ้านนาสร้าง จึงเสร็จสิ้นภาระหน้าที่ในการสร้างโรงเรียน

ย้อนกลับ ต่อไป