พรรษาที่ 12 พ.ศ. 2490 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด

พรรษาที่ 12

ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ และเป็นประธานสงฆ์ และมีหลวงพ่อศิลาซึ่งเป็นคู่นาคกันกับหลวงปู่อยู่เป็นผู้ช่วยหลวงปู่ด้วย หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรประกอบความพากความเพียร เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา และได้อบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้องให้ตั้งอยู่ในศีลห้าและพระไตรสรณคมน์สาม คือให้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพด้วยการปฏิบัติตามหลักแห่งศีลธรรม

 

อำนาจพระรัตนตรัยทำให้เดรัจฉานวิชาจืดจาง

หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีเมตตาประจำนิสัย เมื่อมีผู้ได้รับทุกข์มาพึ่งพาอาศัย ท่านจะสงเคราะห์ตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งไม่เหลือวิสัยและไม่ผิดต่อหลักธรรมวินัย วันหนึ่งในระยะเข้าพรรษาใหม่ๆ ได้มีโยมผู้ชายคนหนึ่งเป็นคนทางสุรินทร์ ตามองไม่เห็น ให้ญาติจูงมาวัด แล้วเล่าเรื่องความเป็นมาให้หลวงปู่ฟังว่า แต่ก่อนตาเขามองเห็น เขาเล่นวิชาเอาเข็มเข้าในตัวร้อยเล่ม เพื่อให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี ครั้นอยู่ต่อมาทำให้ตาเขามองไม่เห็นหน เขาไม่มีที่พึ่งจึงมาขอพึ่งบารมีหลวงปู่ หลวงปู่ได้ให้สมาทานศีลห้ารับพระไตรสรณคมน์ ให้ตั้งใจไหว้พระสวดมนต์ภาวนาก่อนนอนและหลังตื่นนอนทุกวันเป็นประจำ เขาปฏิบัติตามอยู่มาไม่ถึงครึ่งพรรษา เข็มที่อยู่ในตัวก็หลุดออกมา ตกอยู่ตามที่นอน ตาก็มองเห็นหน มาวัดไม่ต้องจูง เดินมาเองได้ คลำดูในตัวยังมีเข็มเหลืออยู่ 3 เล่ม ต่อมาก็หลุดออกหายไปหมด หลวงปู่ท่านว่าวิชามันกินเจ้าของ เมื่อมาปฏิบัติตามศาสนธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว สิ่งเหล่านั้นมันจืดจางไปเอง

 

วิญญาณมีจริงหรือไม่

หลวงปู่เล่าว่า มีเด็กนักเรียนผู้ชายคนหนึ่งมาขออาศัยอยู่วัดด้วย เวลาเรียนก็ไปโรงเรียนในจังหวัดร้อยเอ็ด วันหนึ่งพอเลิกเรียนจะกลับวัด ความดื้อของเธอทำให้ไม่กลัวอะไร พอเดินผ่านหลักเมือง แกก็ไปปัสสาวะใส่หลักเมืองของเขา พอกลับถึงวัดก็มีอาการเหมือนเป็นบ้า พระเณรช่วยกันจับคุมตัวไว้ที่ศาลา ในวันนั้นหลวงปู่มีธุระเข้าไปในเมืองร้อยเอ็ด กลับออกมาเห็นพระเณรจับเด็กนักเรียนไว้ พระจึงบอกเด็กนักเรียนว่า "นั้นอาจารย์มาแล้ว มึงไม่กลัวหรือ" เด็กพูดว่า "อาจารย์ กูก็ไม่กลัว" หลวงปู่เข้าไปในห้องที่พักได้ไม้เรียวออกมา ถามว่า "ใครไม่กลัวอาจารย์" เด็กตอบว่า "กูนี้แหละ" หลวงปู่ฟาดไม้เรียวลงไปที่เด็ก 3 ที เด็กร้องว่า "ยอมแล้ว ยอมแล้ว" พร้อมกับปัสสาวะราดออกจึงหายเป็นปรกติ แล้วแกจึงถามว่า "ผมเป็นอะไรไม่รู้สึกตัวเลยเมื่อกี้นี้" หลวงปู่สอนว่า เราไม่เคารพไม่นับถือก็อย่าไปเหยียดหยามของเขา ความคึกคะนอง ความไม่มีสติปัญญารอบคอบ ความโลเล ย่อมทำให้ขาดสมบัติของผู้ดี

 

เอาใจใส่ในการดูแลปรนนิบัติครูอาจารย์อาพาธ

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาปี พ.ศ. 2490 นี้ ท่านต้องจำสัตตาหกิจไปปรนนิบัติท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ที่วัดป่าพูนไพบูลย์ (ปัจจุบันเป็นวัดประชาบำรุง) ที่เมืองมหาสารคาม เพราะท่านพระอาจารย์คูณได้อาพาธออดๆแอดๆ อยู่เรื่อย หลวงปู่จึงต้องไปๆมาๆ ระหว่างร้อยเอ็ดกับมหาสารคามจนออกพรรษา

 

ให้คุณพ่อสอนบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา


หลวงปู่สอน สงฺจิตฺโจ

เมื่อออกพรรษาแล้วลุถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2490 หลวงปู่จึงได้นำตาผ้าขาวสอนที่ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคได้ถูกต้องตามอักขรฐานกรณ์แล้ว ไปบวชที่วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2490 เวลา 15.00 น. โดยมีพระครูศิริธรรมธาดาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์บุญยอด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาหยาดเป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า "สงฺจิตฺโจ" เมื่อบวชเสร็จแล้วได้นำหลวงพ่อสอนกลับไปอยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ หลวงปู่ได้เอาธุระในการสั่งสอนศิษย์ผู้บวชใหม่ให้ปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือศีล สมาธิ และปัญญา ไม่ให้ประมาท

 

พระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม อาพาธหนักและมรณภาพ

เมื่อเวลาล่วงถึงต้นปี พ.ศ. 2491 ท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม วัดป่าพูนไพบูลย์ จังหวัดมหาสารคาม อาการอาพาธทรุดลง หลวงปู่จึงได้ไปปฏิบัติดูแลอยู่ประจำจนท่านมรณภาพละสังขารจากไป ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม มอบภาระในการดูแลเรื่องจัดการฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ให้หลวงปู่เป็นผู้ดำเนินการหาวัสดุจัดทำเมรุที่เผาศพพระอาจารย์คูณ หลวงปู่ได้รับปฏิบัติตามที่ครูบาอาจารย์มอบหมายงานให้ จนการจัดงานฌาปนกิจศพของท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม ได้สำเร็จเสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์

 

อยากให้พี่ชายพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร

เมื่อเสร็จจากงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์คูณ ธมฺมุตฺตโม และกลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์แล้ว หลวงปู่ต้องการทำประโยชน์แก่ญาติ จึงเดินทางขึ้นไปบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เพื่อชักชวนเอาพี่ชายชื่อคำสิงห์ออกบวชด้วยให้ได้ เมื่อมาถึงบ้านไชยวานเป็นฤดูเดือนเมษายน หลวงปู่ได้พักอยู่ป่าใกล้ป่าช้าบ้านไชยวาน ญาติโยมได้ทำกระต๊อบให้พอได้อาศัยบังแดดดบังลม และได้อบรมญาติโยมให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ได้มีนักปราชญ์อาจารย์มาถามปัญหาธรรมอยู่ไม่ขาด เพราะในสมัยนั้น คนนิยมทดสอบลองภูมิความรู้เรื่องหลักธรรมกันมาก

 

นักปราชญ์อาจารย์ถามปัญหาธรรม

วันหนึ่งได้มีโยมทิดขันตี มาถามปัญหาธรรม โยมทิดขันตีนี้แกเคยบวชเรียนหลายปีแล้วก็สึก และเคยเป็นหมอลำกลอน จึงมีความรู้มาก เมื่อโยมทิดขันตีเข้ามาหาทำความเคารพกราบไหว้แล้ว แกจึงพูดว่า "อาจารย์ ผมขอถามปัญหาธรรมกับอาจารย์ด้วย คำว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด ได้แก่อะไร"

หลวงปู่ท่านเป็นผู้ถ่อมตนเป็นนิสัยประจำองค์อยู่แล้ว ท่านจึงพูดว่า "อาตมาเป็นพระอยู่ตามป่า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไรมาก ความรู้ก็มีน้อย จะขอตอบไปตามความรู้ของตนเอง คำว่าวัดหกนั้น วัดได้แก่ วัตรปฏิบัติ หกนั้นได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราปฏิบัติวัดตา วัดหู วัดจมูก วัดลิ้น วัดกาย วัดใจ วัดให้อยู่ในความพอดี เมื่อตาเห็นรูป หูได้เสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส การถูกต้องสัมผัส ใจนึกคิดอารมณ์ ให้มีสติรอบคอบอยู่ในอายตนะทั้ง 6 นี้ เมื่อเวลามันกระจายกัน ไม่ปล่อยจิตใจให้ไหลไปตามปรุงแต่งไปตามสิ่งที่สัมผัสนั้นๆ เรียกว่าวัดหก

กกห้านั้น กก หมายถึง ต้นถึงโคน ต้นของธรรมได้แก่ พละ 5 คือ ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะ ความเพียร สติ ความระลึกชอบ สมาธิ ความตั้งใจไว้มั่นคง ปัญญา ความรอบรู้ในสภาวะความเป็นจริง นี้คือต้นของธรรม ต้นของขนคือ แขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง รวมเป็นห้า ปฏิบัติห้าอย่างนี้ให้แก่กล้า รักษาแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่งนี้ไม่ให้ผิดศีลธรรมนี้เรียกว่ากกห้าเจริญสมบูรณ์

พระเสมาทั้งแปด เสมา หมายถึงหลักขอบเขต ขอบเขตแห่งทางเดิน 8 อย่าง ได้แก่ มรรคปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไปสู่ความพ้นทุกข์ 8 ประการ ได้แก่

  • สัมมาทิฏฐิ คือปัญญาอันเห็นชอบ เห็นความเกิดแก่เจ็บตาย เห็นกายเห็นจิตไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป เป็นทุกข์ นี้เรียกว่าเห็นชอบ
  • สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ คือ ดำริที่จะออกจากกองทุกข์ คือความคิดอยู่ในกามคุณห้า ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในการถูกต้องสัมผัส สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ดำริหาทางออกจากสิ่งเหล่านี้ไป
  • สัมมาวาจา วาจาไม่เป็นพิษเป็นภัย เรียกว่าวาจาชอบ
  • สัมมากัมมันโต การงานที่ทำเป็นการงานชอบ เป็นการงานที่จะออกจากทุกข์
  • สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตในทางที่ชอบ ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่น มาเลี้ยงชีวิตตน
  • สัมมาวายาโม เพียรละสิ่งที่ไม่ดี เพียรทำสิ่งที่ดี
  • สัมมาสติ ระลึกชอบ ระลึกในกายในจิตของตนเอง
  • สัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ชอบ ตั้งใจไว้มั่นคงในทางจะหาความพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร ความเวียนว่ายในการเกิดแก่เจ็บตาย

ที่อธิบายมานี้รวมเรียกว่า วัดหก กกห้า พระเสมาทั้งแปด"

เมื่อโยมทิดขันตีได้ฟังอธิบายปัญหาจบแล้วก็กราบลาจากไป

 

ได้พี่ชายออกบวชดังความตั้งใจ

หลวงปู่พักอบรมญาติพี่น้องและพี่ชายอยู่ไม่นาน พี่ชายชื่อคำสิงห์ได้ตกลงสละครอบครัวออกบวชด้วย หลวงปู่จึงพาพี่ชายเดินทางด้วยเท้าออกจากบ้านไชยวาน กลับไปวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อกลับถึงวัดป่าศรีไพรวัลย์ ได้จัดแจงให้พี่ชายบวชเป็นตาผ้าขาวถือศีล 8 ฝึกหัดข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคให้ถูกตามมคธภาษา

ผีหลอก

วัดป่าศรีไพรวัลย์เป็นวัดตั้งอยู่ในป่าช้า เวลาคนตายเขาก็เอามาฝังมาเผาตามข้างกุฏิ หลวงปู่ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายพักอย่กุฏิเดียวกันกับหลวงพ่อสอน อยู่คนละห้อง วันหนึ่งเขาเอาคนตายมาเผาที่หน้ากุฏิ ผ้าขาวคำสิงห์ไปอยู่ใหม่ๆยังกลัวผีหลอก พอค่ำมืดลง แสงไฟเผาศพที่หน้ากุฏิแดงโร่อยู่ ผ้าขาวคำสิงห์เข้าในห้องปิดประตูลงกลอนอย่างดีเพราะกลัวผี ใจก็นึกผีหลอกอย่างนั้นผีหลอกอย่างนี้ คือหลอกตัวเองอยู่ในห้อง นอนก็ไม่ค่อยหลับ พอตกดึก พระธรรมบันดาลให้ปวดท้องหนักขึ้นมา จะทำอย่างไรใจก็กลัวผี ปวดท้องก็ทนไว้ ทนไปก็ปวดหนักขึ้นเรื่อยๆ ใจก็กลัวผี แต่ท้องมันไม่กลัวด้วย มีแต่จะออกอย่างเดียว สุดท้ายเปิดประตูห้องออกมามองไปที่เผาศพ ไฟก็ยังแดงอยู่ไม่กล้าลงกุฏิ เรียกหลวงปู่สอน "คุณปู่ คุณปู่ พาผมไปถ่ายด้วย" หลวงปู่สอนตอบว่า "เดี๋ยว มวนบุหรี่ก่อน" ผ้าขาวคำสิงห์ก็ทนบิดหน้าบิดหลัง เรียก "คุณปู่ คุณปู่" หลวงปู่สอนก็ตอบว่า "เดี๋ยวจุดบุหรี่ก่อน" สุดท้ายทนไม่ไหวเพราะของอยู่ในท้องไม่กลัวผี ผ้าขาวคำสิงห์จึงกระโดดลงไปพร้อมกับถ่ายออกตรงนั้นเลย ผีไม่รู้ไปไหนหมด

หลวงปู่เล่าว่าอีกครั้งหนึ่งมีหลวงพ่ออิสสโร เป็นคนกลัวผี ตกกลางคืนเขียดตะปาดกระโดดลงจับขันในตุ่มน้ำสำหรับล้างเท้าที่บันได้กุฏิ ขันก็ลอยกระทบปากตุ่มดังป๋องแป๋งๆ หลวงพ่ออิสสโรกลัวไม่กล้าออกจากกุฏิ พอตอนเช้าลงรวมที่ศาลา หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนหลวงปู่ตาชี้ตาชันว่า "เมื่อคืนนี้ผีหลอกผมทั้งคืน ไม่ได้นอนเลย" หลวงปู่ถามว่า "ผีมันทำอย่างไร" หลวงพ่ออิสสโรตอบว่า "มันเล่นขันที่ตุ่มน้ำดังป๋องแป๋งๆทั้งคืน" หลวงปู่จึงบอกว่า "ไม่ใช่ผีดอก เขียดตะปาดมันลงเล่นน้ำ ป๋องแป๋งๆ" หลวงพ่ออิสสโรไม่ยอมเชื่อ บอกว่า "ผีจริงๆแหละท่านอาจารย์" หลวงปู่จึงบอกว่า "ถ้าอย่างนั้น คืนนี้เมื่อได้ยินเสียงให้ลงไปดูนะ" พอตกกลางคืนมีเสียงดังป๋องแป๋งๆอีก หลวงพ่ออิสสโรก็กลัวอีกแต่ก็ทนกัดฟันลงไปดู เห็นตะปาดจับอยู่ปากขันตักน้ำ หลวงพ่ออิสสโรร้อง "โอ้ย กูกลัวแทบตาย" พอตอนเช้าลงศาลาอีก หลวงปู่ถามว่า "เป็นอย่างไรหลวงพ่อ ผีหลอกอีกไหม" หลวงพ่ออิสสโรกราบเรียนว่า "โอ้ย เขียดตะปาดจริงๆท่านอาจารย์" หลวงปู่จึงพูดว่า "หลวงพ่อผีบ้ากลัวเขียดตะปาด ใจของเราเป็นผีหลอกตัวเอง ไม่รู้กี่ภพกี่ชาติไม่กลัว ไปกลัวแต่ผีอย่างอื่น"

ย้อนกลับ ต่อไป