พรรษาที่ 13 พ.ศ. 2491 จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เป็นปีสุดท้าย
ปี พ.ศ. 2491 เมื่อถึงฤดูกาลจำพรรษา หลวงปู่ได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่เป็นประธานสงฆ์ ได้ทำหน้าที่อบรมพระภิกษุสามเณรและนำพาปฏิบัติในธุดงควัตร สมาทานเนสัชชิกังคธุดงค์ ถือไม่นอนในวันธรรมสวนะ คือวันพระ 8 ค่ำ 14 ค่ำ 15 ค่ำ อยู่ในอิริยาบถ 3 คือ ยืน เดิน นั่ง ตั้งใจปฏิบัติจิตตภาวนา เอาชนะความอยากมีสุขในการนอน หลวงปู่ทำหน้าที่ในการอบรมญาติโยมที่มาเกี่ยวข้อง ให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ 3 และศีลห้า ให้รักษาอุโบสถศีล ถือศีล 8 ในวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ
ในไตรมาส 3 เดือน หลวงปู่ได้อธิษฐานฉันอาหารเฉพาะของที่ไม่ประกอบด้วยเลือดเนื้อสัตว์ ที่เรียกกันว่าฉันเจ หลวงปู่เล่าว่าเจของท่านเป็นเจจริงๆ คือ ฉันแต่ข้าวกับเกลือกับพริก บางวันก็มีกล้วยบ้าง มีอยู่วันหนึ่งคุณนายอนงค์เป็นชาวจันทบุรีมาอยู่ร้อยเอ็ดถวายตัวเป็นศิษย์อุปัฏฐาก ได้ทำถั่วเหลืองทอดน้ำมันมะพร้าวให้เด็กนำมาถวาย หลวงปู่เข้าใจว่าเป็นไข่จึงไม่ฉัน วันหลังคุณนายอนงค์จึงมาถามว่า "ดิฉันทำอาหารเจให้เด็กนำมาถวาย ท่านอาจารย์ฉันหรือไม่" หลวงปู่ตอบว่า "อาตมาไม่ฉัน เข้าใจว่าเป็นไข่" คุณนายอนงค์กราบเรียนว่า "ไม่ใช่ เป็นถั่วเหลือง" หลวงปู่เล่าว่าฉันเจอยู่ 3 เดือน ตัวเหลืองหมดแต่ก็ทำให้เบาสบาย "การทำก็ทำเพื่อการศึกษาจะได้เข้าใจในเรื่องธาตุขันธ์เท่านั้น ไม่ได้ทำเพื่ออย่างอื่น เพราะเรื่องฉันเจนี้ในครั้งพุทธกาล พระเทวทัตได้ขอให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติห้ามไม่ให้ภิกษุฉันเนื้อฉันปลา ให้ฉันเจ แต่พระองค์ไม่ทรงทำตามคำขอนั้น ทรงตรัสว่าการเลี้ยงชีพของสมณะเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เขามีอย่างไรเขาให้อย่างไรซึ่งเป็นสิ่งไม่ผิดต่อพระธรรมวินัยก็ควรฉันอย่างนั้น เพราะการกินการฉันก็เพียงให้มีชีวิตเป็นอยู่ไปวันหนึ่งๆเท่านั้น ถ้าฉันเจสบายก็ฉันไปตามมีตามได้ ถ้าไม่สบายเราก็ฉันเนื้อฉันปลาตามมีตามได้ เราไม่เห็น เราไม่รู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นสิ่งที่ควร ถ้าเราเห็นเรารู้ว่าเขาจะฆ่ามาเพื่อเราก็เป็นของไม่ควร ทำอะไรให้ประกอบด้วยสติปัญญาใคร่ครวญถึงเหตุถึงผล จึงจะไม่เสียกาล"
วันหนึ่งท่านให้เด็กโกยดินกองไฟเก่า พอดีจอบสับหัวตะขาบขาดออกมาจากตัวมองไม่เห็นผสมอยู่กับดิน หลวงปู่เดินดูความเรียบร้อยเดินไปเดินมา เท้าไม่สวมรองเท้า จึงไปเหยียบหัวตะขาบ หัวตะขาบยังไม่ตายก็กัดที่ฝ่าเท้าหลวงปู่ พิษตะขาบก็กำเริบขึ้นปวดร้อนเหมือนกับเหยียบถ่านเพลิง ไม่มีหยูกยาอะไรใส่ เวลาสรงน้ำถูกน้ำยิ่งเพิ่มความปวดขึ้นอีกเป็นสองเท่า หลวงปู่เล่าว่าพอสรงน้ำเสร็จแล้วครองจีวร เข้าในกุฏิปิดประตูลงกลอนเรียบร้อยแล้วเข้าที่ นั่งสมาธิใช้ยาธรรมโอสถรักษาพิษตะขาบ พอจิตเข้าสู่ความสงบ ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่นในทุกขเวทนา จนสว่าง พอจิตถอนออกจากสมาธิไม่รู้ว่าพิษตะขาบหายไปแต่เมื่อไร อำนาจของธรรมเหนืออำนาจทั้งปวง
อีกครั้งหนึ่ง ท่านเป็นโรคท้องร่วง ไม่มียาอะไรจะฉันรักษาโรคท้องร่วง ท่านจึงใช้ยาธรรมโอสถ เข้าที่นั่งสมาธิจิตเข้าสู่ความสงบตลอดคืนจนสว่าง พอจิตถอนออกจากความสงบ ไม่รู้ว่าโรคท้องร่วงหายไปแต่เมื่อไร เหมือนกับไม่เป็นอะไรเลย อำนาจของอธิษฐานธรรมและสมาธิธรรม บำบัดโรคภัยไข้เจ็บให้หายไปได้ จึงเรียกว่าธรรมโอสถ
หลวงปู่เล่าว่า คืนหนึ่งขณะที่ท่านเข้าที่นั่งสมาธิภาวนา พอจิตเข้าสู่ความสงบแล้ว จึงเกิดกรรมนิมิตขึ้นมา ปรากฏว่ามีสังเวียนที่เขาตีไก่ (ชนไก่) มีคนดูอยู่เต็ม แล้วตัวของท่านเองก็เดินไปยืนดูอยู่ด้วย ไก่ก็ตีกันไปกันมา พอดีตัวหนึ่งก็สับตาอีกตัวหนึ่งตาแตกไปข้างหนึ่ง แล้วตัวที่ตาแตกนั้นหันมามองท่าน เหมือนกับว่าท่านเป็นเจ้าของมัน แล้วนิมิตนั้นก็หายไป จึงพิจารณาได้กรรมว่าเป็นเรื่องกรรมนิมิต อยู่มาไม่นานได้มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งอยากมาอยู่ด้วย ให้พี่ชายมาฝากฝังมอบให้เป็นลูก เด็กชายนั้นถือหลวงปู่ว่าเป็นพ่อ เด็กชายนั้นชื่อเขียน เป็นคนตาลอ คือตาเสียข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งยังดีใช้การได้ แกเป็นคนปัญญาดี ฉลาด ว่านอนสอนง่าย แกอยู่อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มาเรื่อยๆ
ให้ศิษย์ไปร่วมถวายผ้ากฐินแด่พระอาจารย์ใหญ่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ
เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. 2491 เป็นฤดูกาลกรานผ้ากฐิน ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ชักชวนคณะศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่เลื่อมใสในท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต ให้ไปร่วมกันถวายผ้ากฐินแด่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นและพระภิกษุสงฆ์ ที่จำพรรษาที่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยพระอาจารย์สิงห์จะออกเดินทางโดยขบวนรถไฟจากโคราช ไปลงที่สถานีรถไฟอุดรธานี ท่านจึงนัดให้คณะศิษย์ทั้งหลายไปคอยร่วมเดินทางตามสถานีรถไฟที่ผ่านไป หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คือหลวงพ่อสอนและผ้าขาวคำสิงห์ซึ่งเป็นพี่ชายของท่าน ไปคอยขึ้นรถไฟที่สถานีบ้านไผ่ เพื่อร่วมเดินทางไปกับคณะท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม รถไฟถึงสถานีอุดรเป็นเวลาเช้า เมื่อลงจากรถไฟแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ได้เป็นหัวหน้าพาหมู่พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยบิณฑบาตตามบ้านพักเจ้าหน้าที่รถไฟ เมื่อฉันเสร็จแล้วเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปลงที่อำเภอพรรณานิคม แล้วเดินด้วยเท้าต่อไปพักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้วเดินด้วยเท้าเข้าไปที่วัดป่าบ้านหนองผือนาใน
หลวงปู่คำสิงห์เล่าว่า ตัวท่านเองคือผ้าขาวคำสิงห์ เมื่อไปถึงวัดป่าบ้านหนองผือแล้ว ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้พาคณะศิษย์ตั้งองค์กฐินที่วัดป่าบ้านหนองผือ วันหลังจึงได้ทอดถวายท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ที่ได้จำพรรษาที่วัดป่าบ้านหนองผือ การทอดกฐินในครั้งนั้นได้มีพระเถระที่เป็นลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นมารวมกันหลายองค์ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้ว ก็ยังพักอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือเพื่อฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น เช้าวันหนึ่งเมื่อฉันเช้าเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบอกให้ผ้าขาวคำสิงห์ไปทำทางเดินจงกรมให้ท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร (ท่านพ่อลี วัดอโศการาม) ผ้าขาวคำสิงห์ได้จอบแล้วก็ไปทำตามที่ท่านสั่ง ขณะทำทางเดินจงกรมอยู่นั้น ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นได้เดินไปดูความเรียบร้อยด้วย ผ้าขาวคำสิงห์มีความเอิบอิ่มใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพักอยู่พอสมควรแล้ว ผ้าขาวคำสิงห์พร้อมด้วยหลวงพ่อสอนจึงได้เดินทางกลับวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด
ให้ผ้าขาวคำสิงห์ผู้เป็นพี่ชายบวชเป็นพระในพุทธศาสนา
เมื่อหลวงปู่เห็นว่าพี่ชายฝึกข้อวัตรปฏิบัติและคำขานนาคขอบวชได้แล้ว จึงได้นำไปบวชที่วัดบึงพลาญชัย อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีพระปลัดแก้ว อปฺติสฺโส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระใบฎีกาผาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2492 เวลา 14.15 น. มีนามฉายาว่า "สุจิตฺโต" เมื่ออุปสมบทพี่ชายเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่จึงได้นำหลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต ผู้เป็นพี่ชายกลับไปพำนักที่วัดป่าศรีไพรวัลย์
สละหน้าที่เจ้าอาวาส อำลาญาติโยมจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อให้พี่ชายบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาเสร็จสิ้นตามความประสงค์แล้ว หลวงปู่จึงสละหน้าที่เจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพรวัลย์ ให้หลวงพ่อสีลา เป็นผู้ทำหน้าที่เจ้าอาวาสต่อไป และได้อำลาญาติโยมชาวจังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้เคยอุปถัมภ์อุปัฏฐากถวายปัจจัยสี่ให้ได้รับความสุขสบายในการเจริญสมณธรรมว่า "อาตมาจากไปคราวนี้คงไม่ได้กลับมาอีก ขอให้ญาติโยมพากันตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติศีลธรรมตามที่เคยได้อบรมสั่งสอน อย่าประมาท" ญาติโยมต่างพากันร้องไห้เสียดายที่ครูบาอาจารย์จะจากไป ต่างพากันอ้อนวอนขอให้ท่านกลับมาเป็นที่พึ่งของเขาอีก ท่านบอกว่า "หากชีวิตยังมีอยู่และโอกาสอำนวย ก็จะกลับมาเยี่ยมเยือนอีก" เมื่ออำลาหมู่คณะและญาติโยมเรียบร้อยแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์ของท่าน คือ หลวงพ่อสอน สงฺจิตฺโจ, หลวงพ่อคำสิงห์ สุจิตฺโต, พระโพ, สามเณรประดิษฐ์ และเด็กชายเขียนได้ขอติดตามไปด้วย ท่านจึงบอกเด็กชายเขียนว่า "การเดินธุดงค์รอนแรมไปตามป่าตามเขามีความลำบากมากเป็นไข้เป็นหนาว ตามป่าตามเขามีความลำบากแสนสาหัส เรายังเป็นเด็กอยู่ เดี๋ยวจะทนไม่ไหว" เด็กชายเขียนจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า "ถึงแม้อย่างไรผมก็จะขอติดตามไปด้วย ผมมีความรักท่านเหมือนกับเป็นพ่อ ถ้าหากว่าผมเป็นไข้ตายในที่ใด ท่านให้คนเขาขุดหลุมฝังผมทิ้งแล้วท่านจึงเดินทางต่อไปเถิด" หลวงปู่ได้ยินเด็กชายเขียนพูดเด็ดเดี่ยวอย่างนั้นจึงอนุญาตให้ติดตามไปด้วย ขณะนั้นเป็นต้นปี พ.ศ. 2492 หลวงปู่ได้พาลูกศิษย์ออกจากวัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด เดินธุดงค์ด้วยเท้ารอนแรมไปเรื่อยๆ ไม่รีบร้อน ผ่าน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ สี่แยกโนนศิลา (ปัจจุบันเป็นอำเภอสมเด็จ) ผ่านบ้านโพนบ้านโจด ตอนมาถึงบ้านโจดนี้พักค้างคืน 1 คืน เช้าเข้าบิณฑบาต ได้ข้าวเหนียวและน้ำอ้อย 7 ก้อน แบ่งกันฉันเสร็จแล้ว ออกเดินทางต่อขึ้นภูพานตรงช่องหิ่งห้อย พักวิเวกอยู่ที่สร้างแข้ จึงเดินทางต่อไปที่บ้านคำไฮ ในขณะนั้นท่านอาจารย์สวด เขมิโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ภูเขาใกล้บ้านคำไฮ จึงได้พักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่ง ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย ได้พักวิเวกอยู่ที่ถ้ำค้อดงหลุบหวาย ลำพังองค์เดียว ที่ถ้ำค้อนั้นไม่มีที่บิณฑบาต เพราะไม่มีหมู่บ้านอยู่ใกล้ อาศัยโยมจากบ้านคำเลาะ บ้านทุ่งเชือก เปลี่ยนกันขึ้นไปปฏิบัติ หมู่บ้านละคนรับผลัดเปลี่ยนกัน ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สวดเดินลงจากเขาจะมาบิณฑบาต มีพระเณรเดินตามหลัง พอมาถึงหินก้อนหนึ่งจึงหยุดยืนแล้วพูดว่า "เมื่อคืนนี้ได้นิมิตมีผู้หญิงมาบอกให้ว่ามีสมบัติอยู่ใต้หินก้อนนี้ อยากได้ก็ให้เอาไปซะ" พูดจบท่านอาจารย์สวดจึงเอาไม้เท้าเคาะหินก้อนนั้น เสียงดังเหมือนกับเป็นโพรงข้างล่าง เสร็จแล้วก็เดินผ่านไปบิณฑบาต พอฉันจังหันเสร็จ มีพระองค์หนึ่งแอบไปงัดก้อนหิน เพื่อจะเอาสมบัติ แต่ทำอย่างไรก็งัดไม่ขึ้น ในที่สุดพระองค์นั้นก็หยุดทำ พอตกกลางคืนผู้หญิงนั้นก็ไปเข้านิมิตท่านอาจารย์สวดอีก ด่าว่า "พระอะไรปากบอน ปากไม่เป็นสุข อยากได้ก็เอาไปซีสมบัติ จะไปพูดให้คนอื่นฟังทำไม เดี๋ยวจะเอาขี้กระบอง (ขี้ไต้) ยัดปากพระปากบอน" ว่าอย่างนั้น พอตอนเช้าวันใหม่ท่านอาจารย์สวดเทศน์ดุด่าให้ลูกศิษย์ใหญ่เลยว่า "ใครไปทำอะไร ไปงัดก้อนหินจะเอาสมบัติ คืนนี้เจ้าของมันจะเอาขี้กระบองยัดปากเรา" เมื่อพักวิเวกอยู่กับท่านอาจารย์สวดระยะหนึ่งแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงได้ลาท่าน เที่ยววิเวกขึ้นไปบนภูอางศอ ซึ่งเป็นภูเขาสูงลูกหนึ่งที่ใหญ่ในเทือกเขาภูทาน ที่ภูอางศอนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆเขียวชอุ่ม และมีสัตว์ป่านานาชนิด ตกเวลากลางคืนมีเสียงสัตว์ป่าที่เที่ยวหากินกลางคืนส่งเสียงร้อง ประกอบกับความวิเวกวังเวงในเวลาดึกสงัด ทำให้จิตใจตื่นอยู่ตลอดเวลา และตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อพักวิเวกอยู่บนภูอางศอพอสมควรแล้ว หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์จึงลงจากภูอางศอ มุ่งหน้าสู่บ้านคำบิด อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
พบท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงปู่เล่าว่า พอมาถึงบ้านคำบิด ได้ทราบว่าท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน พักวิเวกอยู่ที่เสนาสนะป่าหนองน่อง บ้านคำบิด จึงได้พาลูกศิษย์เข้ากราบนมัสการ และพักอยู่กับท่าน 7 คืน ตอนเช้าเข้าบิณฑบาตในหมู่บ้านคำบิด เวลากลับออกจากบ้าน หลวงปู่จะรับบาตรท่านพระอาจารย์มหาบัว แต่ท่านไม่ยอมให้รับง่ายๆ อาศัยความพยายาม ทำด้วยความเคารพ ทำด้วยความจริงใจ ในที่สุดท่านจึงยอมให้รับบาตรท่าน พอกลับถึงที่พักจัดแจงฉันภัตตาหารตามมีตามได้ เสร็จแล้วจึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์มหาบัว เดินทางมุ่งหน้าสู่ภูผาเหล็ก หลวงปู่พร้อมด้วยลูกศิษย์เที่ยววิเวกที่ภูผาเหล็ก ผาดงก่อถ้ำพวง พอสมควรแล้วจึงได้เดินทางจากภูผาเหล็กมุ่งหน้ามาทางบ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
พอมาถึงบ้านจำปา เขตอำเภอสว่างแดนดิน พวกโยมชาวบ้านจำปาบอกว่าที่ป่าหนองเม้าผีดุมาก ใครไปตัดไม้ถางป่าใกล้ที่นั้นไม่ได้ ชาวบ้านจำปาโดยมีคุณพ่อสา พรหมโคตร เป็นหัวหน้า ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระเณรลูกศิษย์ที่ติดตามมา ให้พักอยู่ที่ป่าหนองเม้า หลวงปู่รับนิมนต์ ชาวบ้านจึงช่วยกันทำเสนาสนะ เป็นกระต๊อบมุงหญ้าคาแอ้มฝาใบตองถวายให้เป็นที่พักพอบังแดดบังฝน ในระยะนั้นเป็นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2492 ใกล้จะถึงวันวิสาขบูชา ในขณะนั้นหลวงปู่ท่านมีความสงสัยในอุบายธรรมที่ได้ปฏิบัติอยู่ คือ การพิจารณาในกายและพิจารณาในจิตเป็นอารมณ์ ค้นกายค้นจิต เพื่อให้รู้ตามเป็นจริง จะเป็นอุบายที่ถูกต้องหรือไม่หนอ มองไม่เห็นใครที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ มีแต่ท่านพระอาจารย์มั่นเท่านั้นที่จะแก้ความสงสัยนี้ได้ หลวงปู่จึงให้ลูกศิษย์คอยอยู่ที่สำนักป่าหนองเม้า บ้านจำปา ส่วนตัวท่านเดินทางไปที่บ้านไชยวาน อำเภอหนองหาน พักอยู่ไม่กี่วัน หลวงปู่จึงชวนเอาโยมพ่ออ่อน คำใสย์ ซึ่งเป็นโยมน้าบ่าวของท่าน เดินทางไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นด้วยกัน
เดินทางด้วยเท้าจากบ้านไชยวานไปถึงบ้านต้อง นั่งรถโดยสารไปลงที่อำเภอพรรณานิคม เดินเท้าต่อไปที่บ้านหนองโดก ถึงวัดป่าบ้านหนองโดกเป็นเวลาค่ำพอดี พักค้างคืนที่วัดป่าบ้านหนองโดก ในขณะนั้นท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่นั้น และได้พบพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน, พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร, พระอาจารย์บุญมี ปริปุณฺโณ , พระอาจารย์เพียร วิริโย ที่วัดป่าบ้านหนองโดกนี้ ท่านพระอาจารย์กู่ ท่านไม่อยากให้เข้าไปหาท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ท่านบอกว่า "ไปรบกวนครูบาอาจารย์" หลวงปู่คิดอยู่ในใจว่า "ไม่ได้ไปรบกวนครูบาอาจารย์ ต้องการจะกราบนมัสการให้ท่านแก้ความสงสัยให้เท่านั้น" หลวงปู่เล่าว่า พักที่วัดป่าบ้านหนองโดก 1 คืน เช้าฉันบิณฑบาตเสร็จแล้ว เดินทางด้วยเท้าเข้าไปบ้านหนองผือนาในพร้อมกันกับท่านพระอาจารย์เพียร วิริโย (ซึ่งการเข้าไปกราบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งนี้เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของหลวงปู่ แต่เป็นครั้งที่ 2 ของท่านพระอาจารย์เพียร)
พบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ภูริทตฺโต พอเดินทางถึงวัดป่าหนองผือเป็นเวลาใกล้ค่ำ ได้พบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่วัดป่าหนองผืออีก จึงได้กราบเรียนถามท่านถึงเวลาที่จะเข้ากราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น หลวงปู่เล่าว่าพระอาคันตุกะที่ไปถึงใหม่จะต้องรอคอยก่อน ท่านพระอาจารย์มหาบัวจะเป็นผู้เข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นก่อน ว่าท่านให้พักในวัดหนองผือด้วยหรืออย่างไร หรือท่านจะให้พักกุฏิหลังไหน เมื่อท่านสั่งอย่างไรก็ทำตามอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าจะทำตามอำเภอใจของตนเอง พอท่านพระอาจารย์มหาบัวเข้าไปกราบเรียนท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านก็บอกเสนาสนะให้และบอกให้สรงน้ำเสร็จแล้วจึงขึ้นไปกราบนมัสการฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นบนกุฏิท่าน เมื่อหลวงปู่สรงน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงนุ่งห่มครองจีวรให้เรียบร้อย สำรวมใจให้อยู่ในความสงบ ไม่ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์อย่างอื่น มีสติอยู่กับใจตัวเอง หลวงปู่เล่าว่า การสำรวมนั้นได้สำรวมระมัดระวังมาโดยตลอด พอคิดว่าจะไปกราบนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่มั่นยิ่งเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ พอขึ้นไปบนกุฏิท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ต้องระมัดระวังไม่ให้มีเสียงอะไรรบกวนท่าน ในขณะนั้นได้มีพระเถระและพระภิกษุรูปอื่นขึ้นไปนั่งฟังธรรมอยู่ก่อนแล้ว ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นกำลังแสดงธรรมอยู่ พอหลวงปู่ขึ้นไปแล้วก็กราบเบาๆ เสร็จแล้วก็นั่งกำหนดจิตฟังธรรมจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นต่อไป พอท่านแสดงธรรมไปๆ ท่านจึงถามขึ้นว่า "ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน" พอหลวงปู่ได้ยินท่านถามอย่างนั้นก็คิดในใจว่าคงจะมีหลายองค์ จึงไม่ได้ตอบท่าน ท่านก็แสดงธรรมต่อไปแล้ว ท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่สองว่า "ไหนพระมาจากอำเภอหนองหาน" หลวงปู่ได้ยินท่านถามครั้งที่ 2 ก็ยังนึกว่าคงจะเป็นองค์อื่นก็ยังไม่ตอบอะไร ท่านก็แสดงธรรมต่อไปอีก แล้วท่านก็ถามอีกเป็นครั้งที่ 3 ว่า "ไหนพระที่มาจากอำเภอหนองหาน" หลวงปู่นึกในใจว่าคงจะเป็นเรา จึงประนมมือขึ้นแล้วตอบว่า "ขอโอกาสเกล้ากระผม" ท่านขึ้นเสียงดัง "มันหาน (หาญ) แต่ชื่อ จะพิจารณาอะไร ผมปฏิบัติมานี้ 40 ปีแล้ว ผมไม่หนีจากกายกับใจ พิจารณากายแล้วก็พิจารณาใจจนหายสงสัย" แล้วท่านก็แสดงธรรมต่อไป พอหลวงปู่ได้รับโอวาทคำตอบจากท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทั้งที่ยังไม่ได้ถามท่านอย่างนั้น จึงหมดความสงสัยภายในใจลงในขณะนั้น เมื่อท่านแสดงธรรมต่อไปพอสมควรแล้วท่านจึงยุติการแสดงธรรมในวันนั้น ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันได้รับความเอิบอิ่มในธรรมที่ท่านเมตตาแสดงอย่างถึงอกถึงใจ เมื่อท่านหยุดในการแสดงธรรมแล้ว ลูกศิษย์ลูกหาต่างพากันกราบท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นแล้วกลับที่พักของตน
ในวันต่อมาเป็นวันวิสาขบูชา พวกญาติโยมชาวบ้านหนองผือ และบ้านใกล้เคียงในแถวบ้านนั้นพากันมารวมทำบุญในวันวิสาขบูชา ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นพากพระภิกษุสามเณรรับบิณฑบาตในวัด พวกญาติโยมพากันใส่บาตรด้วยความเคารพ ในขณะที่ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นเป็นหัวหน้านำรับบิณฑบาตอยู่นั้น พระเณรทั้งแก่ทั้งหนุ่มรับบิณฑบาตตามหลังท่าน ไม่ทราบว่าองค์ไหนไปคิดชอบหญิงสาวที่เขากำลังใส่บาตรอยู่นั้น อยู่ๆท่านก็หันหน้ามองกลับมาข้างหลัง พร้อมกับพูดขึ้นว่า "ประสาหนังห่อขี้" แล้วท่านเดินรับบิณฑบาตต่อไป หลวงปู่อยู่กับท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นไม่กี่วัน ก็เดินทางกลับมาบ้านจำปา ย้อนกลับ ต่อไป
|