พรรษาที่ 3-5 จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์

พรรษาที่ 3-5

จำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 พรรษา ได้ช่วยเหลือครูบาอาจารย์ทำกิจที่สงฆ์จะพึงทำด้วยความเอาใจใส่ เพราะวัดนี้เป็นวัดสร้างใหม่ มีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่าง

"พระเจ้าคณะอำเภอเจ้าคณะจังหวัดไม่อยากให้พระกรรมฐานมาอยู่ในที่นี้ จึงรวมกันมาเพื่อขับไล่ให้ออก ให้เลิกการสร้างวัด ในที่สุดพวกเราก็เอาชนะด้วยความดี ความบริสุทธิ์ใจ เพราะเราไม่ได้อยู่เพื่อเบียดเบียนใคร อยู่เพื่อเจริญสมณธรรมต่างหาก เพราะในสถานที่นี้เป็นที่สงบดี ไม่พลุกพล่านด้วยฝูงชน เป็นป่าไม้ร่มรื่น"

สุดท้ายเรื่องปัญหาทั้งหลายก็สงบเรียบร้อยไปด้วยอำนาจแห่งศีลธรรม เรื่องภายในจิตใจ หลวงปู่ได้ตั้งใจทำความพากเพียร ไม่ประมาท พยายามไม่คุยกับญาติโยม เมื่อเหตุอะไรจะพูดก็พูดเฉพาะกับครูบาอาจารย์เท่านั้น ในระยะกาลเข้าพรรษา ท่านได้ตั้งใจสมาทานธุดงควัตร อดนนอนบ้าง ฉันอาหารเฉพาะที่ตกในบาตรบ้าง บางครั้งก็งดอาหาร ฉันแต่น้ำ 3 วันก็มี 7 วันก็มี เพื่อสะดวกสะบายในการภาวนา ตัดภาระตัดกังวลได้หลายๆอย่าง

 

เมตตากลายเป็นกามฉันท์

หลวงปู่เล่าว่า ในระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมืองเป็นเวลา 3 ปีนั้น เมื่อออกพรรษาแล้ว ในช่วงฤดูแล้งได้ออกเที่ยววิเวกไปทางจังหวัดมหาสารคาม ครั้งหนึ่งได้ไปพักอยู่วัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้มีหญิงสาวคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้า พ่อแม่ตายจาก อาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีศรัทธาเลื่อมใสเข้าวัดฟังธรรม

"อยู่มาวันหนึ่ง แกนำผ้าเช็ดหน้าที่ถักริมด้วยมือมาถวาย เราเห็นว่าแกเป็นลูกกำพร้าและมีศรัทธา จึงได้รับด้วยความเมตตาสงสาร พออยู่มาหลายวัน เราได้สังเกตเห็นจิตใจของตัวเองเปลี่ยนแปลงจากความเมตตาสงสารกลายเป็นกามฉันท์ ความยินดีพอใจในผู้หญิงคนนั้น เมื่อพิจารณาเห็นท่าไม่ดีอย่างนั้น ถ้าเราไม่รีบแก้ไขก็จะไม่มีใครจะแก้ไขให้ เราจึงได้ออกจากสถานที่นั้นไป" หลวงปู่ว่าเรื่องเมตตานี้แหละ ถ้าไม่ระวังให้ดี มันกลายเป็นกามฉันท์ได้

 

ผจญภัยดอกไม้พญามาร

อีกครั้งหนึ่งได้เที่ยววิเวกภาวนาไปตามป่าช้าหมู่บ้านต่างๆในเขตจังหวัดมหาสารคาม ในวันนั้นเดินทางทั้งวัน บ่าสะพายบาตร แบกกลด มือถือกาน้ำ เดินไปภาวนาไป สติเป็นเพื่อนสองของใจ พอเวลาใกล้ค่ำได้เดินทางถึงวัดป่าที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เมื่อไปถึงได้เข้ากราบนมัสการครูบาอาจารย์ที่เป็นประธานสงฆ์ ชื่อหลวงพ่อแดง ท่านได้จัดให้พักที่กุฏิหลังหนึ่งซึ่งห่างจากศาลาพอประมาณ พอดีในวันนั้นเป็นวันพระ 8 ค่ำ เมื่อสรงน้ำเสร็จแล้วได้ลงประชุมกันที่ศาลาโรงธรรม ทั้งพระทั้งโยมที่มาจำศีลฟังธรรม มีทั้งหนุ่มสาวและคนแก่ เมื่อทำวัตรสวดมนต์จบแล้ว หลวงพ่อแดงท่านก็แสดงธรรมอบรมญาติโยมไปเรื่อยๆ หลวงปู่เล่าว่า

"ตัวเราเองก็นั่งภาวนากำหนดจิตหลับตาฟังธรรมไปด้วย พอระยะหนึ่งเราลืมตาขึ้น มีหญิงสาวคนหนึ่งแกนั่งอยู่ตรงหน้า พอเห็นเราลืมตาขึ้น แกก็แสดงมารยาของกิเลสสารพัดอย่าง เมื่อเห็นอย่างนั้นเราก็รีบหลับตาภาวนาฟังธรรมต่อไปโดยไม่สนใจอะไรกับแก เมื่อฟังธรรมที่หลวงพ่อแดงท่านพูดไปเรื่อยๆ จนถึงเวลา 6 ทุ่ม รู้สึกเหนื่อยเพราะเดินทางทั้งวัน จึงลุกขึ้นกราบพระประธานแล้วกราบหลวงพ่อแดงขอโอกาสท่านไปพักผ่อน ท่านให้โอกาสเพราะเห็นว่าเดินทางทั้งวันเหน็ดเหนื่อย เราลงบันไดศาลาด้านสำหรับพระ ไม่ได้สนใจมองหญิงสาวคนนั้น

พอเราเดินไปถึงหลังกุฏิแล้วแวะเข้าไปถ่ายปัสสาวะอยู่ ไม่ทราบว่าหญิงสาวคนนั้นแกลงจากศาลามาแต่เมื่อไร ไปยืนอยู่ทางบันไดหน้ากุฏิพร้อมกับพูดขึ้นว่า "ทำไมจึงนอนตายแต่วันแท้" พอได้ยินเสียงอย่างนั้นเราก็รีบกลับขึ้นศาลา หลวงพ่อแดงท่านถามเราว่า "เอ้า ว่าจะไปพัก ไม่พักหรือ" เราไม่ได้ตอบท่านอะไร นั่งหลับตาภาวนาฟังธรรมไปจนสว่าง พอสว่างแล้วพวกญาติโยมก็กลับบ้านกัน พอเช้าถึงเวลาไปบิณฑบาต เราก็เป็นหัวหน้าแถวไปบิณฑบาตสายนั้น ไม่รู้ว่าบ้านหญิงสาวคนนั้นอยู่ทางนั้นด้วย พอเดินไปถึงบ้านแก แกได้กระติบข้าวเดินลงมาจากบ้านจะมาใส่บาตร เดินเข้ามาจะชนเรา เราต้องถอยหลังออก พอบิณฑบาตกลับไปถึงวัด ฉันเช้าเสร็จ รีบจัดแจงบริขารแล้วกราบลาหลวงพ่อแดงเดินทางต่อไปที่อื่น ขืนอยู่ไปไม่พ้นภัยพญามาร"

หลวงปู่เล่าว่า เรื่องกิเลสนี้มันแหลมคมจริงๆ หาความละอายไม่มีเลย ถ้าเราไม่สำรวมระวังไม่ตั้งท่าตั้งทางไม่มีสติปัญญารอบคอบแล้ว สู้มันไม่ได้

 

พระธรรมเตือนใจ

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้เที่ยววิเวกไปทางจังหวัดขอนแก่น และแวะเยี่ยมญาติที่บ้านโกธา พักที่วัดป่าส่องแมวริมสนามบินเก่าจังหวัดขอนแก่น ขณะพักอยู่ที่นั้น วันหนึ่งท่านได้เดินจงกรมอยู่ตั้งแต่หัวค่ำ ได้มีความรู้สึกอันหนึ่งเกิดขึ้น บอกว่า "วันนี้จะมีคนมาหาให้ระวัง" จึงพิจารณาดูว่าคนที่ไหนจะมาหา มาหาทำอะไร จากนั้นจึงได้ตั้งใจระวังอยู่ เดินจงกรมไปจนถึงเที่ยงคืนจึงหยุดแล้วขึ้นกุฏิ กุฏิมีประตูเป็นฝาไม้ไผ่ผลักเข้าข้างใน เมื่อขึ้นกุฏิปิดประตูไหว้พระสวดมนต์เสร็จ นั่งภาวนาระวังตัวอยู่ตลอดเวลา พอหยุดนั่งภาวนาเอนตัวลงนอนตั้งสติอยู่ เห็นไฟแวบเข้ามาทางประตู จึงลุกขึ้นนั่งคอยฟัง ได้ยินเสียงผลักประตูเข้ามาเป็นจังหวะแอ๊ดๆ หลวงปู่จึงตั้งท่าระวังอยู่ ได้ยินเสียงจับถุงกระดาษ จึงนึกได้ว่าเด็กนักเรียนเอาถุงรองเท้าหนังใหม่ๆมาฝากไว้ที่ข้างประตู จึงรีบตะครุบถูกแขนขโมย ขโมยตกใจถกแขนกลับ มือท่านหลุด ขโมยไม่ยอมวางถุงรองเท้า กระโดดลงกุฏิ หลวงปู่ตามลงไป ได้ยินเสียงที่กุฏิหลังอื่นดัง เค้ง! ขโมยพากันวิ่งหนีไปทางสนามบินเก่า หลวงปุ่เดินไปที่กุฏิพระรูปอื่นที่ได้ยินเสียงดังนั้น เห็นกระเป๋าหวายของพระใส่หนังสือทิ้งอยู่จึงร้องปลุก พระจึงพากันตื่นขึ้นมา ในสมัยนั้นคนกินฝิ่นกินยาแถวชานเมืองมีมาก จึงหาลักขโมย ได้อะไรก็เอา พอแก้ความหิวของตนเอง หลวงปู่พักอยู่ไม่นานึงได้เที่ยววิเวกกลับไปจำพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง

 

เกิดความน้อยใจในครูบาอาจารย์

หลวงปู่เล่าว่า ในพรรษาได้ตั้งใจตั้งสัจจะอธิษฐานสมาทานธุดงควัตรข้อบิณฑบาตเป็นวัตรได้อาหารอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น ไม่รับอาหารที่นำมาถวายเมื่อภายหลัง เมื่อสมาทานแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติอย่างเคร่งครัด อยู่มาวันหนึ่งฝนตกหนัก มีโยมจากบ้านเหล่าซึ่งอยู่คนละฟากแม่น้ำปาวกับบ้านโนนเมือง นำอาหารมาใส่บาตรไม่ทัน พระกำลังฉันอยู่ แกก็เอาอาหารที่นำมาถวายท่านอาจารย์สวด ท่านก็บอกให้พระเณรรับฉันฉลองศรัทธาให้โยมด้วย หลวงปู่นึกอยู่ในใจว่า "เราได้ตั้งสัจจะอธิษฐานแล้วจะไม่ให้เสียสัจจะที่ได้อธิษฐานไว้" เมื่อท่านส่งมาถึงจึงไม่เอาอาหารนั้นไว้ฉัน เมื่อท่านอาจารย์สวดมองเห็นไม่เอาอาหารนั้น ท่านจึงร้องขึ้นดังๆว่า "ของแค่นี้ก็สงเคราะห์ญาติโยมเขาไม่ได้หรือ" หลวงปู่จึงเกิดความน้อยใจคิดว่า "เราตั้งใจปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ก็ไม่ส่งเสริม สงเคราะห์ญาติโยมก็สงเคราะห์มาอยู่แล้ว เวลาตั้งใจขัดเกลาก็ให้ได้ทำบ้าง เมื่อครูบาอาจารย์ไม่ส่งเสริมในการปฏิบัติธรรม เราก็ไม่ควรจะอยู่ด้วย"

 

ช่วยคนป่วยด้วยธรรมโอสถ

ในระยะที่อยู่กับท่านอาจารย์สวดนั้น ครั้งหนึ่งมีคนเขาไม่สบาย เขามานิมนต์ให้ท่านอาจารย์สวดไปโปรดช่วยเหลือ ท่านอาจารย์สวดจึงแต่งตั้งให้หลวงปู่ไปแทน "ไป ให้ท่านบุญไปช่วยเขาบ้าง" หลวงปู่เล่าว่า เมื่อครูบาอาจารย์แต่งแล้วจำเป็นต้องไปกับโยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงบ้านเขา ได้พักอยู่ที่เถียงนากลางทุ่ง จึงจัดแจงที่พักเสร็จแล้ว โยมที่เขามานิมนต์ พอไปถึงเห็นคนป่วยนั้นนอนติดเสื่ออยู่มีแต่หนังหุ้มกระดูก มองดูเหมือนกับผีที่ตายแล้ว ถามดูเขาบอกว่า " ไม่สบายได้ 3 ปีแล้ว ไม่อยากข้าวอยากน้ำ" เขาบอกว่าเขาอยู่กับผีฟ้าเทวดา เอาผีเป็นที่พึ่ง หลวงปู่ถามว่า "ลุกขึ้นนั่งได้ไหม" เขาบอกว่า "ไม่ได้" "พูดตามได้ไหม" เขาบอกว่า "พอพูดได้" หลวงปู่จึงได้ทำพิธีประกาศปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์คือ ให้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก นอนประนมมือแล้วให้ว่าตาม ว่านะโม 3 จบ แล้วว่า อิติปิโส...สวากขาโต...สุปฏิปันโน... ไปจนจบ แล้วว่าคำสมาทานถึงพระรัตนตรัย เสร็จแล้วจึงได้สอนให้ตั้งใจภาวนา คือให้นึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนแล้วจึงให้นึกพุทโธคำเดียว ให้ตั้งใจทำอยู่อย่างนั้น และให้มีข้อปฏิบัติ คือ ให้เว้นจากการไหว้เซ่นสรวงภูติผีปีศาจ อารักษ์หลักคุณ หักไม้ใส่หม้อ ดูฤกษ์งามยามดี เคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ไม่ให้ทำ ให้เชื่อกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ให้เว้นจากการกินเหล้า เมาสุราและเบียร์ เว้นจากการกินอาหารที่เป็นเลือดเนื้อที่ไม่สุกด้วยไฟ เว้นมังสะ 10 อย่าง เมื่อเสร็จพิธีให้รับไตรสรณคมน์และสอนให้ภาวนาแล้วจึงกลับไปพักที่เถียงนา เช้าก็บิณฑบาตในหมู่บ้าน คนป่วยนั้นเมื่อได้รับธรรมโอสถแล้ว วันหลังมาก็ลุกขึ้นนั่งได้ อยากกินข้าวกินน้ำ ในที่สุดก็หายเป็นปกติ หลวงปู่พักอยู่ 2-3 วัน จึงเดินทางกลบวัด บ้านโนนเมือง

 

ทำบุญอุทิศให้โยมมารดา

เมื่อจำพรรษาอยู่กับท่านอาจารย์สวดที่วัดสามัคคีธรรม บ้านโนนเมือง ได้ 3 พรรษา แล้วก็ยังเป็นห่วงโยมมารดาที่ยังไม่ได้ทำบุญอุทิศให้ จึงได้ลาท่านอาจารย์สวดกลับไปที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จังหวัดร้อยเอ็ด ในขณะนั้นมีพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม เป็นประธานสงฆ์อยู่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จึงได้นิมนต์พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่นพร้อมด้วยสามเณรอีก 1 องค์ เดินทางไปบ้านคำพระ อ.พนมไพร เพื่อทำบุญอุทิศให้โยมมารดา พวกญาติโยมในเมืองร้อยเอ็ดมี คุณนายคง และคุณแม่หนูเที่ยง ได้จัดข้าวของเครื่องทำบุญให้คนหาบเดินทางไปด้วยศรัทธา ญาติโยมเขาสงสาร เพราะไม่มีใคร เมื่อไปถึงบ้านแล้ว ได้จัดทำบุญที่วัดบ้านคำพระนั้นเอง มีการสวดมนต์เสร็จแล้วทอดบังสุกุลอุทิศให้โยมมารดา เสร็จแล้วมีการเทศน์ 2 ธรรมาสน์ คือ พระอาจารย์เพ็งและท่านปิ่นเป็นผู้เทศน์ปุจฉาและวิสัชนา พอรุ่งเช้าได้จัดถวายอาหารบิณฑบาต ถวายจตุปัจจัยไทยทานตามสมควร เสร็จแล้วจึงได้เดินทางกลับมาพักที่พนมไพร

กลับจากพนมไพร เดินทางต่อไปจังหวัดกาฬสินธุ์ กราบนมัสการท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม วัดประชานิยม ได้พักศึกษาธรรมและช่วยงานสร้างอุโบสถอยู่กับท่านระยะหนึ่ง เกิดความเลื่อมใสในปฏิปทาและเมตตาธรรมในท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม (ในขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์นามว่า พระครูปฏิภาณ สุดท้ายท่านมีสมณศักดิ์ที่พระราชธรรมานุวัตร) คิดหาสิ่งที่เป็นวัตถุจะถวายเพื่อเป็นการบูชาคุณธรรมของท่านก็ไม่มีอะไร พอดีมีรัดประคดเอวที่ตัวเองใช้อยู่เส้นหนึ่ง จึงได้นำเข้าไปถวายท่าน ตัวเองใช้ผ้าผูกแทนประคดเอว เมื่อจิตใจของเรายินดีน้อมไปในการให้แก่ท่านผู้มีศีลมีคุณธรรมย่อมนำมาซึ่งความอิ่มใจเบิกบานใจและใจมีความสุข

เมื่อช่วยงานท่านอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์อ่อน จกฺกธมฺโม เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ในระยะนั้น มีรถยนต์ใช้ฟืนเป็นเชื้อไฟแทนน้ำมัน วิ่งจากจังหวัดกาฬสินธุ์ถึงจังหวัดขอนแก่น ญาติโยมชาวกาฬสินธุ์จึงนิมนต์ให้นั่งรถยนต์ฟืน และจ่ายค่าโดยสารให้ด้วย จากกาฬสินธุ์ถึงขอนแก่นราคาค่ารถ 3 บาท ในขณะนั่งอยู่ในรถต้องคอยระวังไฟจะปลิวมาไหม้จีวร รถถึงขอนแก่น ลงจากรถแล้วจะเดินทางไปชุมแพ สะพายบาตรแบกกลด เดินตามทางจะไปชุมแพ พอดีมีรถผู้แทนจังหวัดขอนแก่นวิ่งมา เขาจอดถามว่า "ท่านจะไปไหน" ตอบเขาว่า "จะไปชุมแพ" เขานิมนต์ให้นั่งรถ จึงบอกเขาไปว่า "อาตมาไม่มีปัจจัยให้ค่าโดยสาร นิมนต์ท่านเลย แต่ว่าผมไม่ไปถึงชุมแพ ผมมีธุระไปถึงแค่หนองเรือ" จึงนั่งรถผู้แทนขอนแก่นชื่อนายสุพรรณไปถึงหนองเรือ ลงจากรถผู้แทนกล่าวคำอนุโมทนาแก่ผู้แทนแล้วสะพายบาตร แบกกลด หาที่พักห่างจากตลาดหนองเรือพอสมควร

 

จิตใจมั่นคง ไม่ลังเล

เช้าบิณฑบาตในตลาดหนองเรือ ฉันเสร็จแล้วจะเดินทางต่อไปชุมแพ พอดีมีโยมที่เป็นญาติกันชื่อโยมพัน เป็นญาติทางพ่อ แกมีรถจึงไปส่งถึงชุมแพ พอลงจากรถแล้ว นายพัดจึงถามว่า "ครูบาจะไปทางไหน" จึงตอบว่า "ไม่รู้ไม่มีจุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน" นายพัดเป็นห่วง แกสงสารจึงพูดว่า "กล้บบ้านเราดีกว่าครูบา" หลวงปู่จึงบอกนายพัดว่า "เราได้ตั้งใจไว้แล้วเราไม่กลับ เราจะไปข้างหน้า" นายพัดพูดว่า "จะไปอย่างไร เคยไปหรือยัง" หลวงปู่ตอบนายพัดว่า "ไม่เคยมาสักครั้งเลยแถวนี้" นายพัดพูดว่า "กลับดีกว่าครูบา" หลวงปู่ตอบว่า "เราไม่กลับ" นายพัดพูดว่า "ไปยังไง ไปคนเดียว" หลวงปู่ตอบว่า "ไปยังงั้นแหละ" ผลสุดท้ายหลวงปู่จึงให้นายพัดไปต้องการ (ซื้อ) เทียนไขให้ห่อหนึ่ง สมัยนั้นราคาเทียนไขไม่แพง ห่อละ 25 สตางค์ (หนึ่งสลึง) เทียนไขตรารถไฟ นายพัดก็ยังหน่วงเหนี่ยวอยู่อย่างนั้น ไม่อยากจะไปหาเทียนไขมาให้ "อ้าว รีบไป" หลวงปู่สั่ง นายพัดก็เลยไปหาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้ เมื่อนายพัดเอาเทียนไขมาให้แล้ว หลวงปู่จึงออกเดินทางจากนายพัดไป แต่นายพัดยังอยากจะให้หลวงปู่กลับอยู่ จึงเดินตามหลวงปู่ไปอีก ไปสะพายถุงบาตรให้ตามไปส่ง ตอนนี้กำลังเดินออกจากตัวอำเภอชุมแพมุ่งหน้าไปทางอำเภอภูเขียว อีกสักครู่นายพัดก็พูดอีกว่า "กลับเสียดีกว่าครูบา" "ไม่! เราไม่กลับ ให้เจ้ากลับไปเสีย (ให้แกกลับไปเสีย)" "ไม่! ผมจะยืนอยู่ตรงนี้เพื่อมองดูครูบา" "เอ้า! มองดูก็มองดู" เมื่อหลวงปู่เดินจากไปปรากฏว่านายพัดยังยืนมองดูหลวงปู่อยู่อย่างนั้น จนลับตานายพัดยังตะโกนเรียกว่า "ครูบา กลับเสียเถอะ" จนหวิดเสียง (จนตะโกนไม่ได้ยิน) นายพัดจึงได้กลับไปที่รถ

หลวงปู่เดินหน้าไปตามลำพังองค์เดียวเข้าป่าเข้าดงไม่มีใครเป็นเพื่อน ตนเป็นเพื่อนของตนเอง เดินทางตอนกลางวันแดดก็ร้อน น้ำที่กรองใส่กาถือไปด้วยก็หมด หิวน้ำก็หิว คอแห้งผาก แสนทุกข์แสนทรมานในการเดินทาง แต่ก็ไม่ประมาท มีสติกำกับจิตใจ มีพุทโธเป็นอารมณ์ของใจไปตลอดทาง เดินทางถึงบ้านเป้าบ้านลาด เป็นเวลาพลบค่ำผึมฟ้า (กำลังจะมืด) จะถามหาที่พักจากชาวบ้าน ก็ไม่มีที่จะถาม ชาวบ้านก็กลัวพระธุดงค์กรรมฐาน เพราะสะพายบาตรที่บรรจุบริขารลูกใหญ่ๆ แบกกลดใหญ่ๆ มีผู้หญิงคนหนึ่งลงจากบ้านมาใต้ถุนบ้านจะมาหยิบเอาฟืนที่อยู่ใต้ถุน คิดว่าจะถามพอแกมองเห็นพระสะพายบาตรแบกกลด แกก็วิ่งขึ้นบ้านไป ในที่สุดไม่ได้เรื่องได้ราวจึงกลับออกมาทุ่งนานอกบ้าน

 

นอนแบบผู้ต่อสู้

หลวงปู่เล่าว่า

"ในระยะนั้นเป็นฤดูเดือน 6 ตามทุ่งนาชุ่มไปด้วยน้ำ ชาวนาไถนาหว่านกล้า เมื่อกลับออกมาทุ่งนา มองหาเถียงนาที่ไหนก็ไม่มี มองหาร่มไม้ก็ไม่มี พอดีมีเนินดินอยู่ที่หนึ่งน้ำไม่ขังแต่ดินชุ่ม มีต้นกระทุ่มอยู่ต้นหนึ่ง เขาลิดกิ่งออกหมดเหลือแต่ยอด จะอาศัยแขวนกลดก็ไม่ได้ ฝนก็ตกพรำๆ ที่สุดต้องเอาบริขารเข้าในบาตรปิดฝาบาตรนั่งยองๆ มือจับกลดกันฝนอยู่ทั้งคืน ยุงก็เยอะเหมือนกับหว่านเมล็ดงาใส่ มุ้งกลดก็กางไม่ได้เพราะฝนมันตก จะนั่งให้สบายๆก็ไม่ได้เพราะดินชุ่ม จะนอนก็ไม่ได้ สุดท้ายต้องนั่งยองๆ ตลอดคืน ฝนก็ตกตลอดคืน เดินทางก็เหนื่อยตลอดวัน เลยภาวนาดูทุกข์อยู่ทั้งคืน พอใกล้สว่างนกไก่อูร้องเสียงดังอู้กๆ ดังสนั่นก้องไปหมด จึงรู้ว่าที่เรานั่งทรมานอยู่นั้นใกล้กับหนองน้ำ เขาเรียกว่าหนองสามหมื่น"

พอเวลาใกล้สาง วิดน้ำในทุ่งนาล้างหน้าบ้วนปากแล้ว สะพายบาตรออกเดินทาง พอดีมีผู้ชายคนหนึ่งแบกไถจูงควายออกจากบ้านมาแต่เช้ามืด หลวงปู่จึงถามว่า "พ่อออก บ้านนี้ชื่อบ้านอะไร" เขาบอกว่า "บ้านลาด" หลวงปู่ถามว่า "บ้านเป้าอยู่ไกลไหม" เขาบอกว่า "ไม่ไกลเท่าไร" ถามเขาอีกว่า "ไปบิณฑบาตทันไหม" เขาบอกว่า "ทัน" โยมผู้ชายนั้นเขาจึงพูดขึ้นอีกว่า "มีญาท่านองค์หนึ่งมาอยู่ที่บ้านโนนแห้นี้ชื่อว่าญาท่านคำบง" พอหลวงปู่ได้ยินจึงนึกในใจว่า "จะเป็นคำบงองค์เดียวกันกับที่เราตามหาท่านหรือไม่หนอ"

 

พบพระอาจารย์คำบง

เมื่อได้ความจากโยมแล้ว จึงเดินทางต่อไปถึงสำนักป่าบ้านโนนแห้ พอดีมีสามเณรอยู่ด้วย 2 องค์ กำลังจะออกบิณฑบาต จึงให้เณรคอยด้วย จัดแจงเอาบริขารออกจากบาตร คลุมจีวรซ้อนสังฆาฏิแล้วบิณฑบาตกับสามเณร เวลาเดินบิณฑบาตในหมู่บ้านก็แสนทรมาน ตามทางบิณฑบาตมีแต่หินแห้ (หินลูกรัง) เหยียบไปเท้าก็เจ็บ เนื่องจากเดินทางทั้งวันมาเท้าก็ระบมจึงอดทนเอา กลับมาถึงวัดถามสามเณรว่า "ท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ท่านชื่ออะไร" สามเณรตอบว่า "ชื่อท่านอาจารย์คำบง" ถามเณรอีกว่า "ท่านไปไหน" เณรบอกว่า "ท่านไปกิจนิมนต์ วันสองวันท่านก็กลับมา" พอพักอยู่สองวันท่านอาจารย์คำบงก็กลับมาจึงได้กราบนมัสการและขอนิสัยจากท่านให้เป็นผู้อบรมสั่งสอน

ย้อนกลับ ต่อไป

ู้