กำหนดการพระราชทานเพลิงศพพระครูศาสนูปกรณ์ (หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล) วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
เวลา 7.00 น. พระภิกษุสามเณรที่มาร่วมในงาน รับบิณฑบาตในบริเวณวัด ได้มีญาติโยมทั้งใกล้ทั้งไกลหลั่งไหลมาทำบุญตักบาตรจนเต็มในบริเวณวัด ทั้งตั้งโรงครัวโรงทานอาหารต่างๆ หลังจากทำบุญตักบาตรเสร็จแล้ว ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร
เวลา 9.00 น. หลวงปู่จันทา ถาวโร นำทำพิธีกราบคารวะศพหลวงปู่ เสร็จแล้วเคลื่อนศพจากศาลาการเปรียญไปสู่เมรุ ตั้งบนจิตตกาธาน
เวลา 13.00 น. แสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ โดยพระราชญาณวิสุทธิโสภณ (หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) จบแล้วพระสงฆ์ทั้งหมดที่มาร่วมในงานประมาณ 1000 รูป สวดมาติกาบังสุกุล จบแล้วถวายปัจจัยไทยทาน พระสงฆ์อนุโมทนา
เวลา 16.00 น. นายวิเชียร พัสถาน นายอำเภอไชยวาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่อำเภอไชยวาน นำไฟพระราชทานจากที่ว่าการอำเภอไชยวานมาถึงวัด นำขึ้นไปประดิษฐานบนเมรุ จากนั้นเป็นพิธีทอดผ้าป่ามหาบังสุกุล พระสงฆ์ 10 รูป ชักผ้ามหาบังสุกุล องค์ที่ 10 ได้แก่หลวงปู่มหาบัว เป็นองค์ชักผ้ามหาบังสุกุลสุดท้าย เสร็จแล้วรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เป็ฯประธานวางดอกไม้จันทน์และจุดไฟพระราชทาน เสร็จแล้วต่อด้วยคณะข้าราชการและพ่อค้าประชาชนเป็นจำนวนมากขึ้นวางดอกไม้จันทน์ ขึ้นบันไดทิศตะวันตก ลงบันไดทิศเหนือ องค์หลวงปู่มหาบัวเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ วางดอกไม้จันทน์ต่อด้วยคณะพระเถระและพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนมาก ขึ้นบันไดทางทิศใต้ ลงบันไดทางทิศตะวันออก
เมื่อหลวงปู่มหาบัวเป็นประธานวางดอกไม้จันทน์แล้ว ท่านได้เมตตานั่งคอยในปะรำพิธีจนถึงเวลา 18.00 น. หลังจากประชาชนขึ้นวางดอกไม้จันทน์บนเมรุเบาบางแล้ว จึงได้กราบอาราธนาองค์ท่านเป็นองค์ประธานจุดเพลิงจริง แล้วต่อด้วยคณะศิษยานุศิษย์ที่ยังรอคอยถวายเพลิงจริงแด่สรีระศพของหลวงปู่ พระเพลิงได้ลุกขึ้นเป็นเปลวแดง ส่องแสงสว่างในเวลาพลบค่ำ กำลังทำหน้าที่เผาผลาญสรีระของหลวงปู่ให้ย่อยยับไป ตามสภาพอนัตตา ส่วนองค์หลวงปู่มหาบัวหลังจากท่านจุดเพลิงจริงที่จิตกาธานแล้ว ท่านเดินลงจากเมรุกลับไปที่กุฏิของหลวงปู่ ท่านอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม และผู้เขียน ได้ตามท่านไปขอนิมนต์ให้ท่านสรงน้ำก่อน แต่ท่านไม่สรง ท่านบอกว่าจะกลับเลย คนขับได้เตรียมรถรออยู่หน้ากุฏิหลวงปู่แล้ว ท่านอาจารย์อุ่นหล้าและผู้เขียนพร้อมพระเณรได้นมัสการส่งท่านที่รถ ก่อนท่านจะขึ้นรถ ท่านได้เมตตามอบงานทุกอย่างว่า "เอาละ ทีนี้ให้พากันทำเอานะ" แล้วท่านก็ขึ้นรถพร้อมกับพระติดตามเดินทางกลับวัดป่าบ้านตาด
หลังจากองค์หลวงปู่มหาบัวเดินทางกลับแล้ว ความมืดได้ปกคลุมเข้ามา เหลือแต่แสงไฟเป็นเปลวแดงอยู่ที่เชิงตะกอนศพหลวงปู่ และแสงไฟฟ้าจากนีออนที่ติดอยู่ในบริเวณวัดและรอบเมรุ แสงจันทร์ในวันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 8 สาดแสงจากท้องฟ้าสู่พื้นดิน พอให้คนที่เดินไปมาได้มองเห็นทาง ทำให้เจ้าหน้าที่ไฟฟ้าที่นำรถเครื่องไฟฟ้าสำรองมาคอยช่วยความเรียบร้อยของไฟฟ้าในงานผ่านมาได้สองวันแล้ว เมื่อเห็นว่างานใกล้จะสิ้นสุด และไม่มีความขัดข้องทางไฟฟ้าเกิดขึ้น ช่างผู้เป็นหัวหน้าจึงสั่งให้นำรถเครื่องไฟฟ้ากลับไป พอรถเครื่องไฟฟ้าวิ่งพ้นเขตวัดออกไป เกิดเหตุอัศจรรย์ไฟฟ้าดับหมดทั่วบริเวณวัด เหลือแต่แสงจันทร์สาดแสงผ่านยอดไม้ลงมา และแสงไฟจากเชิงตะกอนบนเมรุเผาศพหลวงปู่ กับแสงตะเกียงน้ำมันที่จุดบูชาอยู่รอบเมรุ แสงไฟเทียนจุดตามโรงทาน และบนศาลาการเปรียญที่กำลังประชุมทำวัตรสวดมนต์ ส่องแสงวอมๆแวมๆ มองดูบรรยากาศในขณะนั้น ช่างเป็นธรรมชาติเสียจริงๆ เหมือนกับว่าหลวงปู่ ท่านจงใจอยากจะให้ลูกศิษย์ทั้งหลายได้รู้ว่า บรรยากาศธรรมชาติในอดีตที่ผ่านมา นับจากนี้ย้อนหลังกลับไป 20 ปี หลวงปู่และพระเณรลูกศิษย์ลูกหาใช้น้ำมันก๊าดและเทียนไขตรารถไฟและผีเสื้อ จุดเดินจงกรมทำความเพียรและกิจอื่น ดูเป็นธรรมชาติที่เยือกเย็น เหมือนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ช่างหัวหน้าไฟฟ้าวิทยุจึงรีบเรียกรถเครื่องไฟฟ้าให้กลับมา พอกลับมาถึงวัด ไฟฟ้าก็ติดเป็นปกติอย่างเดิม
เวลา 20.00 น. ประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่ศาลาการเปรียญ เสร็จแล้วมีแสดงพระธรรมเทศนาอบรมจิตภาวนาโดยหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม จนถึงเวลาอันสมควร
เก็บอัฐิธาตุ
ไฟใกล้จะมอด เวลาประมาณเที่ยงคืน
วันที่ 9 กรกฎาคม 2538 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน
เวลา 02.00 น. สรีระของหลวงปู่ได้ถูกพระเพลิงที่อาศัยถ่านและท่อนไม้จันทน์หอม ซึ่งนำมาจากประเทศลาวและไม้ตระไคร่ต้นไม้แปลกที่นำมาจากอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเชื้อเพลิง ได้เผาไหม้จนเหลือแต่อัฐิธาตุ คณะศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสที่มีหน้าที่ดูแลการเผาสรีระหลวงปู่ โดยมีพระอาจารย์อุ่นหล้าเป็นประธาน ได้มีมติเห็นพร้อมกันว่า ควรจะนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ในเวลา 02.00 น. นั้น เพราะถ้าปล่อยให้สว่างก่อนจึงเก็บจะเกิดความวุ่นวาย เนื่องจากศิษยานุศิษย์ต่างมีความจดจ่อในการที่จะได้อัฐิธาตุของหลวงปู่ไปไว้สักการะบูชา บางคนถึงกับมานั่งเฝ้านอนเฝ้าก็มี แต่ในระยะเวลา 02.00 น. นั้น ได้ถูกความง่วงครอบงำ พากันหลับสบายอยู่บนศาลาก็มี อยู่ตามร่มไม้ข้างๆเมรุก็มี เป็นโอกาสดีที่จะไม่เกิดความวุ่นวาย จึงได้พร้อมกันนำน้ำมาดับไฟ แล้วเก็บอัฐิธาตุในเวลา 02.00 น. ส่วนที่เป็นอัฐิธาตุได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง ส่วนฝุ่นอังคารเถ้าถ่านได้เก็บรวมเป็นส่วนหนึ่ง เมื่อคณะกรรมการได้เก็บอัฐิธาตุและอังคารเถ้าถ่านเสร็จแล้ว พอใกล้สว่างต่างคนต่างทยอยกันมาที่เมรุ คนที่นอนเฝ้าก็ตื่นขึ้นไปดูที่เมรุก็เหลือแต่เตาอิฐ ชุลมุนกันเก็บฝุ่นเถ้าที่เหลือติดเตาอยู่ บ้างก็เอาผ้าเช็ดหน้าเช็ดตามก้อนอิฐในเตา เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เถ้าถ่านอังคารธาตุของหลวงปู่ไปไว้บูชา
พิธีสามหาบเก็บอัฐิหลวงปู่
เวลา 06.00 น. ทำพิธีสามหาบ พระสงฆ์ 4 รูปบังสุกุลอัฐิธาตุ
เวลา 07.00 น. คณะศิษยานุศิษย์ทำบุญตักบาตรรอบวิหารกลางน้ำหลวงปู่ พระสงฆ์รับบิณฑบาต จากนั้นพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ฉลองอัฐิธาตุหลวงปู่ จบแล้วถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธีในการพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่
แจกอัฐิธาตุ
หลังจากเสร็จภัตตกิจ พระภิกษุสามเณรฉันภัตตาหารเสร็จ และญาติโยมที่มาร่วมในงานทั้งใกล้และไกลรับประทานอาหารเสร็จแล้ว พระอาจารย์อุ่นหล้า ฐิตธมฺโม เป็นประธานในการแจกอัฐิธาตุอังคารธาตุของหลวงปู่ ให้แก่ศิษยานุศิษย์ที่มาร่วมในงานได้นำไปไว้สักการะบูชาโดยทั่วถึงกัน อัฐิธาตุอีกส่วนหนึ่งก็ได้เก็บไว้เพื่อบรรจุในเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่ต่อไป เมื่อการแจกอัฐิธาตุอังคารธาตุของหลวงปู่เสร็จสิ้นลง คณะศิษย์ทั้งบรรพชิตและญาติโยม ที่ได้มาร่วมกันช่วยงานพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่ ต่างก็ได้ร่ำลากันด้วยความเอิบอิ่มในบุญกุศลที่ได้ร่วมกันกระทำ เพื่อเป็นการเทิดทูนบูชาพระคุณของหลวงปู่ในคราวครั้งนี้โดยทั่วกัน และก่อนจะเดินทางกลับสู่สถานที่อยู่ของตน ต่างก็พากันไปกราบแสดงความอาลัยและกราบลาหลวงปู่ที่เมรุ แล้วจึงเดินทางกลับสถานที่อยู่ของตน
อนุสรณ์สถานของหลวงปู่
การพระราชทานเพลิงศพของหลวงปู่เสร็จสิ้นผ่านไป คณะศิษย์มีความเห็นว่า ควรจะสร้างอนุสรณ์สถานของหลวงปู่ไว้ เพื่อเป็นมรดกของอนุชนรุ่นหลังต่อไป คุณวิชิต คงประกายวุฒิ จึงรับภาระในการออกแบบเจดีย์ คณะศิษย์ขอให้เป็นแบบคล้ายๆพระธาตุพนม เพราะหลวงปู่ท่านผูกพันกับพระธาตุพนม ท่านได้เดินธุดงค์ไปนมัสการถึง 2 ครั้ง เมื่อคุณวิชิตออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด เพื่อกราบเรียนพ่อแม่ครูบาจารย์หลวงปู่มหาบัวว่า ท่านจะเห็นสมควรให้สร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานของหลวงปู่บุญจันทร์หรือไม่ ซึ่งท่านไม่ขัดข้องให้ทำไปเลย จึงกำหนดการวางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล ในวันที่ 24 พฤศจิกาย พ.ศ. 2538
ครั้นถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2539 ผู้เขียนได้เดินทางไปวัดป่าบ้านตาด กราบเรียนขอนิมนต์องค์หลวงปู่มหาบัวมาเป็นประธานวางศิลามงคล ท่านบอกว่า "เราจะตายเพราะคนแล้วเดี๋ยวนี้ ธาตุขันธ์ไม่อำนวย ขอให้พากันทำเอาเลยนะ" ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดการ จึงได้กราบนิมนต์หลวงปู่ลี ฐิตธมฺโม วัดเหวลึก เป็นองค์วางศิลามงคลสร้างพระธาตุเจดีย์หลวงปู่และทำพิธีเททองหล่อยอดเจดีย์และยอดฉัตรทองคำด้วย คณะศิษยานุศิษย์ได้มาร่วมในพิธีเป็นจำนวน และยังได้หล่อรูปเหมือนยืนขนาดใหญ่กว่าองค์จริงหลวงปู่เพื่อประดิษฐานภายในพระธาตุเจดีย์หลวงปู่ด้วย
หลังจากวางศิลามงคลแล้ว วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2540 ช่างได้ลงมือก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ของหลวงปู่ ตามโครงการจะให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2542 เมื่อก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนส่วนยอด และจะบรรจุอัฐิธาตุของหลวงปู่ไว้ระหว่างกลางองค์เจดีย์ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะบูชาต่อไปชั่วกาลนาน
|
|
อัฐิหลวงปู่บุญจันทร์แปรสภาพเป็นพระธาตุ |
พระธาตุหลวงปู่บุญจันทร์ |
ดอกโกมุทปทุมชาติ ผุดขึ้นจากโคลนตม เจริญขึ้นเหนือน้ำ แย้มกลีบบานส่งกลิ่นหอมทั่วสารทิศ ไม่มีประมาณ ถึงกาลเวลาดอกปทุมชาติร่วงโรยไป คงเหลือไว้แต่กลิ่นหอมฟุ้งขจรในโลกา หลวงปู่ได้อุบัติขึ้นในตระกูลชาวนา ได้ปฏิบัติองค์ตรงตามทางอริยมรรคด้วยความไม่ประมาท ถึงซึ่งความเบิกบานในธรรม ให้ความเมตตาแก่ศิษย์ทั่วทุกทิศ บัดนี้ได้ละสังขารจากไป คงเหลือไว้แต่เกียรติคุณความดี เป็นเครื่องหมายในโลกา
สิริรวมอายุได้ 78 ปี 9 เดือน 3 วัน
บรรพชาเป็นสามเณร 2 พรรษา อุปสมบทเป็นพระภิกษุ 59 พรรษา |
ย้อนกลับ
|