พ.ศ. 2514 พรรษาที่ 36 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

พรรษาที่ 36

ในพรรษาปีพ.ศ. 2514 นี้ หลวงปู่เริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวา แต่อาการไม่รุนแรง ในพรรษานี้ หลวงปู่ได้ตั้งใจแสดงธรรม ให้พระเณรและญาติโยมฟังเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง คือ ตอนเย็น หลังจากทำข้อวัตรกิจวัตรเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 5 โมงเย็น ท่านจะลงศาลานำทำวัตรเย็น แล้วก็ขึ้นแสดงธรรม ตอนเช้าหลังจากกลับบิณฑบาต จัดเตรียมอาหารลงในบาตรเสร็จแล้ว ท่านก็ขึ้นแสดงธรรม จบแล้วจึงพาฉันอาหารบิณฑบาต ธรรมะที่ท่านแสดงนั้น ท่านแสดงในเรื่องมงคล 38 ประการ หรือที่เรียก มงคลทีปนี คือ การไม่คบค้าสมาคมกับคนพาลเป็นเบื้องต้น การไม่มีความเศร้าโศกเสียใจเป็นปริโยสาน ถือว่าเป็นอุดมมงคลอันสูงสุด

หลวงปู่ท่านได้แสดงอยู่จนตลอดไตรมาส 3 เดือน จึงจบ และการปฏิบัติทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ได้เข้มงวดกวดขัน ตักเตือนพระเณรไม่ให้ประมาท เมื่อออกพรรษาแล้วท่านก็ยังแสดงธรรมต่อไปอีกระยะหนึ่งท่านจึงหยุด การแสดงธรรมในพรรษานี้ เหมือนกับว่าท่านจงใจที่จะแสดงเป็นครั้งสุดท้าย แล้วท่านจะได้จากลูกศิษย์ลูกหาไปฉะนั้น อาการอาพาธด้วยโรคปวดข้อสะโพกข้างขวาของท่านก็ได้แสดงอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ หลวงปู่ท่านมีความอดทนมาก ท่านทำเหมือนไม่มีอะไร คือไม่ได้สนใจต่อโรคที่แสดงตัวกำเริบขึ้นทุกวันทุกวัน

 

การก่อสร้างศาลานิยมสุวรรณสิทธิ์สามัคคีอุปถัมภ์

เมื่อถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่ให้รื้อศาลาหลังที่ 2 ของวัดป่าสันติกาวาส ที่หลวงปู่พาสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2495 ซึ่งชำรุดเพราะเป็นศาลาไม้ เมื่อรื้อเสร็จแล้วก็ให้ช่างอ้วย นายแก้ว เป็นช่างก่อสร้างหลังใหม่ ตกลงค่าแรงช่างยกโครงมุงหลังคาใส่ขางวางตงเสร็จราคา 8,000 บาท ช่างวางผังขุดหลุมเสาศาลา พวกชาวบ้านก็ช่วยกัน ทั้งแก่เฒ่าหนุ่มสาว บริจาคกำลังแรง ขุดหลุมเสาศาลาทั้งห้าสิบเอ็ดหลุม เสร็จแล้วก็อัดก้นหลุม กันทรุดด้วยหินแม่รัง และเทคอนกรีตทับอีกครั้งหนึ่ง

 

อาพาธครั้งที่ 3 เริ่มเดินไม่ได้

ปลายเดือนมกราคม 2515 ในขณะที่ขุดหลุมเสาศาลา หลวงปู่ท่านเดินดูงาน ท่านใช้เท้าขวาของท่านกวาดดินที่ขรุขระอยู่ปากหลุม ทำให้ท่านปวดที่สะโพก เดินไม่ได้ ต้องใช้รถสำหรับเข็นปี๊บน้ำใส่ตุ่ม เอาเสื่อปูแล้วให้หลวงปู่นั่ง แล้วเข็นท่านกลับกุฎิกลางน้ำ นับแต่วันนั้นต้องเอารถเข็นหลวงปู่จากกุฎิ ลงมาฉันเช้าที่เพิงซึ่งใช้แทนศาลาชั่วคราว ฉันเสร็จก็ให้ท่านนั่งรถเข็นกลับกุฎิกลางน้ำ ท่านจะดูงานอะไรก็ให้เอารถเข็นน้ำนั้นแหละเข็นไป

 

เป็นประธานในการทำวุฏฐานวิธียกเสาศาลา

หลวงปู่กำหนดให้ญาติโยมชาวบ้านมาช่วยกันยกเสาศาลา ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2515 แต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2515 หลวงปู่พาทำวุฏฐานวิธียกเสาแรกก่อน ซึ่งมีคนไม่มากนักประมาณ 10 กว่าคน พอถึงวันเพ็ญเดือน 3 ที่นัดหมาย มีชาวบ้านหญิงชายมาช่วยกันดึงเสาศาลายาว 10 เมตรขึ้นตั้ง มีประมาณ 300 คน เสา 51 ต้น ตั้งวันเดียวไม่เสร็จ วันที่สองครึ่งวันก็ตั้งเสาศาลาเสร็จ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของช่างดำเนินต่อไป จนถึงเดือนพฤษภาคมจึงได้มุงหลังคาด้วยสังกะส

 

ไม่ยอมไปหาหมอ

อาการป่วยหลวงปู่ทรุดลงเรื่อยๆ จากปวดที่สะโพก เดินไม่ได้ มีไข้แทรก คณะศิษย์กราบนิมนต์ไปให้หมอที่โรงพยาบาลตรวจ ท่านก็ไม่ยอมไป คณะศิษย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ หายาพื้นบ้านมาถวายการรักษา ท่านก็เมตตาฉันให้นิดๆหน่อยๆ เพราะตัวท่านเองก็เก่งในด้านสมุนไพรอยู่แล้ว อาการทรุดลงเรื่อยๆ หลวงปู่เดินไม่ได้ 3 เดือนผ่านไป พอเข้าเดือนที่ 4 จากที่เอารถเข็นท่านจากกุฎิลงไปฉันเช้าที่ศาลาชั่วคราวได้ ท่านก็ลงไม่ได้ ฉันเช้าอยู่บนกุฎิ พอปลายเดือนพฤษภาคม มีไข้สูงและปวดขาขวาตลอด ตอนกลางคืนอากาศเย็นยิ่งปวดมาก จะสังเกตเห็นจากที่ท่านพลิกขาบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่ได้บ่นว่าอะไร หลวงปู่ท่านเป็นผู้มีสติและขันติเพียบพร้อม ในระหว่างนี้ ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่เคยจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ที่อุบลฯ ขณะนั้น ท่านมาจำพรรษาที่บ้านคำเลาะ ไชยวาน ท่านได้มาเยี่ยม และสอนคาถาระงับการปวดแก่ผู้เขียน เพื่อใช้เป่าถวายหลวงปู่ ซึ่งเมื่อลองทำดูแล้ว ก็ดูเหมือนจะใช้ได้ สังเกตท่านนานๆพลิกขาทีหนึ่ง แต่ดูอาการท่านแล้ว เหมือนกับท่านไม่ห่วงใยในสังขารที่กำลังแปรปรวนอยู่ ต่อมาอาการอาพาธกำเริบมากขึ้น จากที่ท่านนั่งได้ ก็กลายเป็นท่านต้องนอนโทรม และฉันข้าวต้มได้วันละช้อนสองช้อนเท่านั้น

ย่างเข้าเดือนที่ 5 เดือนมิถุนายน 2515 เมื่อท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล ได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ป่วยหนัก จนฉันข้าวแค่วันละช้อนสองช้อน ท่านจึงเดินทางจากวัดป่าแก้วชุมพลมาเยี่ยมหลวงปู่ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2515 พอท่านอาจารย์สิงห์ทองขึ้นไปถึงหลวงปู่ที่กุฏิ ท่านก็พูดเป็นเชิงเย้าเล่นกับหลวงปู่ตามนิสัยของท่านว่า "เอ้า! ป่วยมานอนตายอยู่ที่นี้ทำไม" หลวงปู่ตอบ "ไม่นอนตายยังไง คนเดินไม่ได้" ท่านอาจารย์สิงห์ทองพูดต่อ "ทำไมไม่ไปหาหมอ" หลวงปู่เงียบ แล้วท่านอาจารย์สิงห์ทองก็ถามอาการป่วยของหลวงปู่ว่าเป็นอย่างไรต่ออย่างไรบ้าง หลวงปู่เล่าให้ฟัง แล้วท่านอาจารย์สิงห์ทองจึงกราบขอนิมนต์หลวงปู่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเพื่อให้หมอตรวจรักษา หลวงปู่ตอบท่านอาจารย์สิงห์ทองว่า "ถ้าจะให้ไปหาหมอ ให้ไปกราบเรียนพ่อแม่ครูจารย์บ้านตาดเสียก่อน ว่าท่านจะเห็นสมควรอย่างไร จึงค่อยปฏิบัติตาม"

เมื่อท่านอาจารย์สิงห์ทองได้โอกาสอย่างนั้น จึงให้โยมขับรถสองแถวเล็กพาไปวัดป่าบ้านตาดในวันนั้น กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เล่าเรื่องป่วยของหลวงปู่ให้ท่านฟัง ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านอาจารย์สิงห์ทองว่า "ให้ไปบอกท่านบุญจันทร์ว่าเดี๋ยวนี้หมอเขามี ไปให้หมอเขาตรวจดูก่อน ถ้าเขารักษาได้ก็ให้หมอเขารักษา ถ้าเขารักษาไม่ได้ค่อยกลับมาคอยวันตายที่วัด" แล้วท่านพระอาจารย์มหาบัวก็พาท่านอาจารย์สิงห์ทองเข้ามาในเมืองอุดร ไปที่สนามบินจองตั๋วเครื่องบิน 3 ที่นั่ง ให้หลวงปู่เดินทางไปหาหมอที่โรงพยาบาลศิริราช สั่งให้ท่านอาจารย์สิงห์ทองเป็นผู้ติดตามไปที่โรงพยาบาลศิริราชด้วย และโยมผู้ชายอุปัฏฐากอีกหนึ่งคน ได้ที่นั่งเครื่องบินและวันเดินทางแน่นอนแล้ว ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงสั่งท่านอาจารย์สิงห์ทองว่า จะให้รถไปรับวันที่ 12 มิถุนายน 2515 มาค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด เช้าวันที่ 13 ฉันเช้าเสร็จไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอุดร เครื่องออกเวลา 11.00 น.

 

หลวงปู่มีความเคารพในท่านพระอาจารย์มหาบัวเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อท่านอาจารย์สิงห์ทองรับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มหาบัวแล้ว ก็กลับมากราบเรียนให้หลวงปู่ทราบในเย็นวันนั้น แล้วท่านก็กลับไปวัดป่าแก้วชุมพล เมื่อหลวงปู่ได้ทราบคำสั่งของครูบาอาจารย์ก็ยอมปฏิบัติตาม

 

เหตุที่ผู้เขียนจะได้ติดตามไปปฏิบัติหลวงปู่ที่โรงพยาบาลศิริราช

คุณบวร จันทรขันตี เป็นโยมอุปัฏฐากที่ถูกกำหนดตัวให้เป็นผู้ติดตามหลวงปู่ไปโรงพยาบาลศิริราชด้วย คุณบวรไม่ค่อยสันทัดในการอุปัฏฐากหลวงปู่จึงพูดกับผู้เขียนว่า "ในวันเดินทาง ให้ครูบาไปส่งหลวงปู่ที่สนามบินด้วย ถ้าเครื่องบินว่างทีที่นั่ง ผมจะเป็นผู้ออกค่าตั๋วเครื่องบินให้" ในขณะนั้นผู้เขียนพึ่งบวชเป็นพระได้หนึ่งพรรษา

 

เดินทางไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 12 มิถุนายน 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เตรียมบริขารของหลวงปู่และของผู้เขียนไว้เรียบร้อย ญาติโยมเมื่อทราบว่าหลวงปู่จะจากไปรักษาการอาพาธที่กรุงเทพฯ ก็มาชุมนุมกันที่วัดเป็นจำนวนมาก ต่างมีความเป็นห่วงอาลัยในตัวหลวงปู่ ที่ท่านได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ที่พึ่งพาอาศัย มาเป็นเวลานาน จะจากไปในที่อื่น บางคนก็โศกเศร้าเหงาหงอย กลัวว่าหลวงปู่จะไม่หายจากอาพาธ

บ่ายของวันที่ 12 มิถุนายน 2515 รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิม ร้านขายยาชวลิต เมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของวัดป่าบ้านตาด ซึ่งมีนายบุญเป็นผู้ขับ ได้วิ่งเข้ามาจอดที่ศาลาวัดป่าสันติกาวาส โดยมีท่านอาจารย์สิงห์ทอง และพระอาจารย์เชอรี่ (พระฝรั่ง) นั่งมาด้วย ท่านอาจารย์สิงห์ทองลงไปหาหลวงปู่ที่กุฏิกลางน้ำ ผู้เขียนและคุณบวรนำบริขารที่เตรียมไว้ขึ้นรถ นำรถเข็นไปรับหลวงปู่จากกุฏิ มาขึ้นรถที่ศาลา ญาติโยมพากันกราบส่งหลวงปู่ขึ้นรถ พวกโยมทั้งหญิงชายหนุ่มแก่เฒ่าชรา พากันกล่าวอวยพรขอให้หลวงปู่หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ได้กลับมาเป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ลูกหาอีกต่อไป ผู้เขียนนั่งใกล้ๆคอยประคองหลวงปู่ไปในรถ รถถึงวัดป่าบ้านตาดเป็นเวลาเย็น

เมื่อหลวงปู่ลงจากรถแลนต์แล้ว ได้นำรถเข็นน้ำของวัดป่าบ้านตาดมารับให้หลวงปู่ขึ้นนั่ง ในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์มหาบัวท่านอยู่บนศาลา หลวงปู่บอกว่าจะไปกราบท่านเสียก่อน เมื่อท่านทราบ ท่านจึงบอกว่า "ไม่ต้องมากราบหรอก รู้จักกันอยู่แล้ว ให้ไปที่พักเลย" ท่านจัดให้พักที่กุฎิใกล้ๆประตูทางเข้าวัด เข็นรถเข็นหลวงปู่ไปที่กุฎิ พยุงหลวงปู่ขึ้นพักที่กุฎิ ผู้เขียนก็พักอยู่กับหลวงปู่ โยมที่ติดตามไปท่านให้พักที่ศาลา

เป็นครั้งแรกและเป็นคืนเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนได้ค้างคืนที่วัดป่าบ้านตาด ตอนกลางคืนมีแต่เสียงจิ้งหรีดและแมลงอีร้องตามประสาของมัน ผู้เขียนมีความกลัวในท่านอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างมาก ไม่รู้เป็นอะไร กลัวท่านแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยชินชาเลย แต่ก็มีความเคารพในองค์ท่านอย่างซาบซึ้ง

 

ออกจากวัดป่าบ้านตาดไปขึ้นเครื่องบินสนามบินอุดรธานี


หลวงปู่ซามา อจุตฺโต
ภาพจาก http://www.kusol.com/apra/linktodata/poosama.htm

วันที่ 13 มิถุนายน 2515 ท่านพระอาจารย์มหาบัวให้จัดอาหารมาถวายหลวงปู่ที่กุฏิ โดยไม่ต้องลงไปตอนเช้าที่ศาลา คุณหญิงส่งศรี เกตุสิงห์ ได้นำสำรับอาหารมาถวาย หลวงปู่ฉันเสร็จ รถแลนต์ของคุณแม่กุ๋ยกิมเข้ามารับที่วัดป่าบ้านตาด ไปส่งที่สนามบินอุดร คุณบวรติดต่อดู ที่นั่งมีว่างอยู่ จึงซื้อตั๋วให้ผู้เขียนติดตามหลวงปู่ไปกรุงเทพฯด้วย เมื่อเช็คตั๋วเครื่องบินเรียบร้อยแล้วรออยู่ไม่นาน เครื่องบินแอฟโร่ 22 ที่นั่งบินมาจากจังหวัดเลย มาลงสนามบินอุดร พอเครื่องบินจอด เห็นหลวงปู่ซามา อจุตฺโต วัดป่าบ้านไร่ม่วง เมืองเลย เดินลงจากเครื่องบินมา ถามท่าน ท่านบอกว่าจะไปกรุงเทพฯด้วยกัน แล้วท่านจะไปเยี่ยมหลวงปู่ชอบ ฐานสโม ที่โรงพยาบาลศิริราช

เมื่อได้เวลาเครื่องบินออก ผู้เขียนกับท่านอาจารย์สิงห์ทองพยุงหลวงปู่ขึ้นเครื่องบิน มีคุณบวร จันทรขันตี ติดตามไปด้วย ให้หลวงปู่นั่งเรียบร้อยแล้ว ผู้เขียนนั่งติดกับหลวงปู่ ขณะนั้นหลวงปู่ได้ถูกทุกขเวทนาเบียดเบียนเป็นกำลัง ท่านมีอาการสั่นไปทั้งตัว เพราะความเจ็บปวดที่ต้นขา และความเหนื่อยเป็นกำลัง หลวงปู่ท่านมีสติและขันติกล้า ท่านไม่พูดว่าอะไร นั่งเงียบ ผู้เขียนมองดูอาการของท่านแล้ว มีความสงสารท่านเป็นกำลัง พอดีนึกได้ว่าในย่ามมียากูลอนซานอยู่ 1 หลอด จึงถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่จะฉันหรือไม่ ท่านบอกว่า เอามาลองดู จึงได้เอาถวายให้ท่านฉัน ไม่นานอาการท่านก็ดีขึ้น

พอดีถึงเวลาเครื่องบินออกจากสนามบินอุดร ทะยานขึ้นสู่อากาศเมื่อเวลา 11.00 น. ไปลงพักรับผู้โดยสารที่ขอนแก่นอีก 30 นาที ขึ้นจากขอนแก่นถึงท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เวลา 13.30 น. ตอนลงจากเครื่องบินที่ดอนเมืองผู้เขียนและท่านอาจารย์สิงห์ทองพยุงหลวงปู่ลงจากเครื่องอย่างทุลักทุเล เพราะหลวงปู่นั่งทรมานอยู่ในเครื่องบินเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง พยุงหลวงปู่เดินเข้าที่พักผู้โดยสารขาเข้า คุณหมอเจริญ วัฒนะสุชาติ มาคอยรับที่ดอนเมือง เพราะท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านเมตตาเป็นธุระทุกอย่าง ทั้งเรื่องรถรับและเรื่องหมอที่โรงพยาบาลศิริราช

หลวงปู่และผู้ติดตาม คือท่านอาจารย์สิงห์ทอง, ผู้เขียน และคุณบวร ขึ้นรถคุณหมอเจริญ วัฒนสุชาติ เรียบร้อยแล้ว คุณหมอขับรถพาไปแวะที่บ้าน ที่ถนนสุโขทัยก่อน เพราะคุณหมอยังไม่ได้ทานอาหารเที่ยง เมื่อคุณหมอทานอาหารเสร็จแล้ว จึงได้พาไปที่โรงพยาบาลศิริราช

 

ถึงโรงพยาบาลศิริราช

เมื่อรถถึงโรงพยาบาลศิริราช จอดที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ได้มี ศ.นพ. อุดม โปษะกฤษณะ และศ.นพ.โรจน์ สุวรรณสุทธิ มาคอยรับ ท่านอาจารย์สิงห์ทองได้ยื่นจดหมายให้อาจารย์หมอทั้งสอง ซึ่งเป็นจดหมายของท่านพระอาจารย์มหาบัว ฝากให้พระอาจารย์บุญจันทร์ที่อาพาธอยู่ในความดูแลของอาจารย์หมอทั้งสองด้วย อาจารย์หมอโรจน์ให้รถเข็นผู้ป่วยรับหลวงปู่แล้วนำไปที่ตึก 72 ปี ชั้น 6

 

พบกับหลวงปู่ชอบ ฐานสโม


หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
ภาพจาก http://www.luangpumun.org/klu.html

หลวงปู่ชอบท่านได้พักรักษาโรคอัมพาตอยู่ตึก 72 ปีชั้น 6 นี้ก่อนแล้ว อาจารย์หมอโรจน์ได้จัดให้หลวงปู่พักห้องติดกับหลวงปู่ชอบ เมื่อหลวงปู่ชอบได้ทราบว่า พระอาจารย์บุญจันทร์อาพาธมาพักห้องติดกับท่าน ท่านได้เมตตาให้พระอาจารย์ขันตี ญาณวโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์อุปัฏฐากท่าน เอารถเข็นท่านเข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง เป็นภาพที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจไม่มีวันลืม หลวงปู่ได้รู้จักกับหลวงปู่ชอบแต่วันนั้นมาจนตลอด ท่านมีความเคารพในหลวงปู่ชอบเป็นอันมาก

 

ยอมโง่จึงไม่โง่

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์มาส่งหลวงปู่เข้าห้องพักแล้ว อาจารย์หมอกลับออกไปให้พยาบาลเข้ามาแนะนำวิธีใช้อุปกรณ์ในห้องผู้ป่วย พยาบาลแนะนำไปว่า ตรงนี้เปิดไฟ ตรงนี้เปิดแอร์ ตรงนี้กดกริ่ง พอเข้าไปในห้องน้ำ ผู้เขียนซึ่งเป็นคนบ้านนอกในชนบท ไม่เคยเห็นห้องน้ำมีอ่างล้างหน้า และโถส้วมแบบนั่ง พอเข้าไปเห็นทำให้งงๆ เหมือนกัน คุณพยาบาลก็แนะนำว่า ที่นี้สำหรับล้างหน้า ที่เปิดน้ำ

พอมาถึงตรงหัวส้วม คุณพยาบาลก็บอกว่า ที่นี้สำหรับชักโครก พอผู้เขียนได้ยินอย่างนั้นก็นึกว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรืออย่างไร เพราะไม่เคยได้ยินคำว่า "ชักโครก" นึกไปนึกมาจึงถามพยาบาลว่าเป็นที่สำหรับซักผ้าหรือ พยาบาลบอกว่าไม่ใช่ เป็นที่สำหรับถ่าย ผู้เขียนจึงนึกในใจว่า "ถ้าเราไม่ยอมโง่ เราคงเอาผ้าลงซักในโถส้วมแน่ๆ เมื่อเรายอมโง่ก่อน เราจึงเป็นผู้ไม่โง่" ผู้เขียนอยู่เฝ้าไข้หลวงปู่กับคุณบวร ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ทอง เมื่อท่านดูว่าทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงแยกไปพักที่วัดบวรนิเวศ

 

เป็นคนไข้ของอาจารย์หมอนที

เมื่อหมอตรวจอาการของหลวงปู่ จึงทราบว่าหลวงปู่ป่วยเป็นโรควัณโรคในกระดูก (วัณโรคกินกระดูก ทำให้กระดูกข้อสะโพกผุ) หมอบอกว่าโรคนี้เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ แต่ถ้ามาหาหมอช้ากว่านี้อีกสองเดือน กระดูกจะขาด ต้องตัดขาข้างขวาทิ้ง เมื่อทราบว่าโรคหลวงปู่เป็นโรคที่รักษาให้หายได้ ลูกศิษย์ที่คอยฟังข่าวต่างก็พากันดีใจ หมอรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ยาฉัน และใช้ลูกตุ้มเหล็กถ่วงขา อาการไม่ดีขึ้น

วันที่ 19 มิถุนายน หมอย้ายหลวงปู่จากตึก 72 ปี ชั้น 6 ไปตึกมหิดลวรานุสรณ์ ชั้น 1 ห้อง 3

วันที่ 23 มิถุนายน หลวงปู่มีอาการสะอึกแทรกซ้อน ทำให้หลวงปู่ได้รับทุกขเวทนาเป็นอันมาก แต่ท่านก็ต่อสู้กับทุกขเวทนาได้อย่างอาจหาญ

วันที่ 24 มิถุนายน หลวงปู่สะอึกมากจนหายใจไม่ได้ หยุดหายใจไปครู่หนึ่ง ผู้เขียนซึ่งเฝ้าอยู่ ต้องวิ่งไปเรียกหมอมาช่วย หลวงปู่สะอึกอยู่ทั้งวันทั้งคืน หมอให้น้ำเกลือ ให้เลือด

วันที่ 26 มิถุนายน หลวงปู่อาการดีขึ้น มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และอาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ ได้ช่วยดูแลหลวงปู่อย่างใกล้ชิด

 

หมอเตรียมผ่าตัด

เมื่อรักษาหลวงปู่ด้วยการให้ฉันยาไม่ได้ผล อาจารย์หมอนทีจึงเรียนให้อาจารย์หมอโรจน์ทราบว่า จะต้องผ่าตัดเอากระดูกที่เสียออก เอากระดูกเข้าไปชนกัน แต่เมื่อหายแล้วท่านจะนั่งราบไม่ได้ จะต้องนั่งเก้าอี้ห้อยขา อาจารย์หมอโรจน์ขอร้องอาจารย์หมอนทีว่า "ท่านอาจารย์ท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน ท่านจะต้องนั่งไหว้พระสวดมนต์ และนั่งขัดสมาธิภาวนา ขอให้ทำวิธีที่หายแล้วนั่งขัดสมาธิได้" อาจารย์หมอนทีบอกว่า "ยังไม่เคยทำ จะลองทำดูเป็นรายแรก ถ้าไม่ได้ผล จะต้องผ่าตัดใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกันตามวิธีเดิม"

วันที่ 3 กรกฎาคม หมอเตรียมผ่าตัดแต่ผ่าไม่ได้เพราะหลวงปู่มีอาการไข้อยู่

วันที่ 10 กรกฎาคม หมอได้ผ่าตัดที่ต้นขาของหลวงปู่เรียบร้อย หลังจากผ่าตัดแล้ว ระยะเจ็ดวัน หลวงปู่ไม่กระดุกกระดิกเลย ข้าวก็ไม่ฉัน นอนนิ่ง พอวันที่เจ็ด ท่านบอกว่า รู้สึกแสบที่ก้น พอดีอาจารย์หมอโรจน์เข้ามาดู จึงรู้ว่าเป็นแผลที่ก้น เพราะท่านไม่ได้กระดุกกระดิก ไม่เปลี่ยนท่านอน จึงเป็นแผลกดทับ ต้องรักษาทั้งแผลผ่าตัดทั้งแผลกดทับทั้งสะอึกก็กำเริบขึ้นอีก ทีละเจ็ดวัน ทีละสิบห้าวันจึงหยุด ทั้งหมอตรวจพบมีเชื้อมาลาเรียด้วย ทุกขเวทนาได้โหมกำลังเข้าเหยียบย่ำรูปขันธ์ของหลวงปู่อย่างหนักหน่วง แต่ท่านก็สู้ด้วยกำลังสติสมาธิปัญญาที่ท่านได้ฝึกฝนอบรมมาเป็นอย่างดี

วันที่ 20 กรกฎาคม 2515 หมอเข้าเฝือกรอบตัวหลวงปู่ ข้างบนถึงหน้าอก ข้างล่างถึงเข่าทั้งสอง ซึ่งทำให้ท่านอึดอัดหายใจไม่สะดวก วันที่ 20 นี้ หมอได้ย้ายหลวงปู่จากห้อง 3 ชั้น 1 ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 16

 

ย้อนกลับ ต่อไป