พ.ศ. 2515 พรรรษาที่ 37 จำพรรษาที่ตึกมหิดลวรานุสรณ์ ชั้น 2 ห้อง 16 โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ

พรรษาที่ 37


หลวงปู่กับผู้เขียนในห้องพักที่จำพรรษา รพ.ศิริราช พ.ศ. 2515

เมื่อหลวงปู่ย้ายมาอยู่ชั้น 2 ห้อง 16 อาการของหลวงปู่ดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ยังมีสะอึก ขาก็ยังถ่วงด้วยลูกตุ้มทั้งสองข้าง หนักข้างละ 10 กก. หลวงปู่ต้องนอนถ่ายนอนฉัน อยู่บนเตียง เพราะลุกนั่งยังไม่ได้ เมื่อถึงวันเข้าพรรษา หลวงปู่เป็นพระอาพาธ ผู้เขียนเป็นพระอุปัฏฐาก ได้อธิษฐานจำพรรษา กำหนดเอาในบริเวณห้องผู้ป่วยนั้นเองเป็นเขตจำพรรษา อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้ปวารณาให้ผู้เขียนผู้เป็นพระเฝ้าไข้หลวงปู่ไปรับบิณฑบาตที่บ้านของท่านที่วังหลัง นับแต่วันแรกที่หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลจนถึงวันกลับจากโรงพยาบาล นับว่าท่านเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้า พร้อมทั้งครอบครัวของท่าน

ในพรรษานี้ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม พร้อมทั้งพระลูกศิษย์ที่อุปัฏฐากท่าน ก็ได้จำพรรษาที่โรงพยาบาลศิริราชเหมือนกัน แต่หลวงปู่ชอบอยู่ตึก 72 ปี ตอนเช้าพระอุปัฏฐากท่านก็ไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์เหมือนกัน หลวงปู่ชอบท่านมีอุปัฏฐากอยู่ 3 องค์ คือ ท่านอาจารย์บัวคำ มหาวีโร (มรณภาพแล้ว), ท่านอาจารย์ขันตี ญาณวโร และสามเณรนงคาร ส่วนหลวงปู่บุญจันทร์ มีผู้เขียนองค์เดียวเป็นพระอุปัฏฐาก และมีโยม 1 คน คือ พ่อมูล ทัพพิลา ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงปู่

เนื่องจากหลวงปู่ไม่ให้หมอผู้หญิง พยาบาลผู้หญิง ฉีดยา และจับชีพจร ในขณะนั้นคุณหมอโรจน์รุ่ง สุวรรณสุทธิ ซึ่งเป็นลูกชายของอาจารย์หมอโรจน์ ยังเป็นนักศึกษาแพทย์ อาจารย์หมอโรจน์จึงให้มาช่วยวัดปรอท จับชีพจรให้หลวงปู่อยู่เรื่อยๆ

 

การเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่

ตีห้าใกล้สว่าง ถวายการเช็ดหน้าเช็ดตัวให้หลวงปู่ หกโมงเช้าให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนไปรับบิณฑบาตที่บ้านอาจารย์หมอโรจน์ แล้วกลับมา บางวันผู้ป่วยตามห้องต่างๆอยากจะใส่บาตร มีญาติคอยนิมนต์ให้เข้าไปรับบิณฑบาตในห้องผู้ป่วยด้วย ก็เข้าไปรับให้ผู้ป่วยได้ทำบุญใส่บาตร พอกลับมาถึงห้อง ได้เวลาฉัน จัดอาหารที่หลวงปู่ฉันได้ เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊กถวาย หลวงปู่ฉันเองไม่ได้ หมุนเตียงขึ้นนิดหน่อยแล้วก็ตักอาหารป้อนท่าน เมื่ออิ่มพอท่านก็บอกให้หยุด นำน้ำถวายให้ดูด เสร็จแล้วนำไม้ถูฟันชำระฟันให้ท่าน ถวายน้ำบ้วนปาก แล้วก็นำยาที่พยาบาลเอามาให้ ถวายให้ท่านฉัน บางวันท่านก็ไม่อยากฉัน เพราะยารักษาหลายโรครวมกันแล้วเยอะ ต้องคอยคะยั้นคะยอให้ท่านฉัน

เสร็จแล้วให้โยมนั่งเฝ้าท่าน ตัวเองจัดอาหารฉัน ฉันเสร็จมานั่งเฝ้าหลวงปู่ ให้โยมทานข้าว เก็บสัมภาระ กลางคืนกลางวันต้องสับเปลี่ยนกันเฝ้าอยู่อย่างนั้น ถึงวันปาฏิโมกข์ ให้โยมเฝ้าหลวงปู่ ผู้เขียนก็ไปลงปาฏิโมกข์ที่วัดบุรณะศิริ ซึ่งอยู่ติดกับกระทรวงยุติธรรม สนามหลวง กลับมาถึงห้องพัก ก็ให้หลวงปู่ท่านบอกบริสุทธิ์ในท่านอนอยู่บนเตียงนั้นเอง ถึงวันโกนก็ถวายการโกนผมท่านในท่านอนอยู่บนเตียง

 

ไม่ยอมให้ผ่าตัดครั้งที่ 2

หลังจากหมอผ่าตัดหลวงปู่แล้ว ถวายการรักษาด้วยการให้ยาฉันและฉีดยาเพื่อจะให้กระดูกงอกขึ้นมาแทนกระดูกที่เสีย เมื่อหายแล้วหลวงปู่จะนั่งพับขาได้

การรักษาผ่านไปได้หนึ่งเดือน หมอนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกข้อโคนขาไม่งอกตามที่ต้องการ อาจารย์หมอนทีจึงให้อาจารย์หมอชวดี รัตพงษ์ กราบเรียนหลวงปู่ว่า จะต้องผ่าใหม่ แล้วเอากระดูกเข้าชนกัน เมื่อหายแล้ว หลวงปู่จะเดินได้ แต่นั่งพับขาไม่ได้ พออาจารย์หมอชวดีกราบเรียน หลวงปู่จึงบอกว่า "เอาละ คุณหมอ แต่แค่นี้ก็เต็มทีแล้ว ถ้าจะผ่าอีกครั้งที่สอง อาตมาไม่เอาด้วยแหละ มันจะเป็นอย่างไรก็ให้มันเป็นไปตามเรื่องของสังขารเสีย" อาจารย์หมอนทีบอกว่า "ถ้าอย่างนั้น ลองเพิ่มยาฉีดดูสัก 7 วัน ถ้ากระดูกไม่งอกจะต้องผ่าตัดแน่ๆ ถ้าไม่ทำใหม่ท่านก็จะเดินไม่ได้" หมอให้เพิ่มยาฉีดครบเจ็ดวันแล้วนำหลวงปู่ไปเอกซเรย์ ผลปรากฏว่ากระดูกได้งอกตามความต้องการ หมอดีใจมาก จึงกราบเรียนว่า "ท่านอาจารย์ไม่ได้ผ่าตัดอีกหรอก เพราะกระดูกงอกแล้ว"

 

ศ.นพ. อุดม โปษะกฤษณะ เรียนถามหลวงปู่

อาจารย์หมออุดมได้เข้ามาเยี่ยมหลวงปู่ในห้อง และเรียนถามหลวงปู่ว่า "ท่านอาจารย์ไม่สบาย มีทุกขเวทนามากอย่างนี้ ท่านอาจารย์อยู่อย่างไร" หลวงปู่ตอบว่า "เวทนาก็ต่างหาก จิตก็ต่างหาก จิตไม่มีในเวทนา เวทนาไม่มีในจิต" เมื่ออาจารย์หมออุดมได้ฟังอย่างนั้นจึงปวารณาตัวรับใช้หลวงปู่ ถ้าหลวงปู่มีขาดอะไรก็ให้บอกได้ แล้วจึงลาหลวงปู่กลับไป

 

แม่ชีเข้ามาเยี่ยม

ได้มีพวกแม่ชีที่อยู่วัดในกรุงเทพฯ เข้ามาเยี่ยมอาการอาพาธหลวงปู่ และเรียนถามหลวงปู่ว่า "ท่านอาจารย์ไม่สบายอย่างนี้ ท่านดูอะไร" หลวงปู่ตอบว่า "ทุกข์มันแสดงอยู่อย่างนี้จะไปดูอะไร ก็ดูทุกข์นั้นแหละ"

 

อาการดีขึ้นเรื่อยๆ

นับแต่หมอได้ตรวจพบว่า กระดูกสะโพกหลวงปู่งอกตามความต้องการของหมอ หลวงปู่ดีขึ้นเรื่อยๆ อาการสะอึกก็หาย ไข้ก็ไม่มี ฉันอาหารก็ได้ แต่ยังป้อนอยู่ เพราะมือหลวงปู่ไม่มีแรง หมอได้ให้หลวงปู่ฝึกออกแรง โดยเอากระสอบทรายเล็กๆให้ฝึกยก โดยเอากระสอบทรายวางที่ข้อเท้าแล้วให้ยกขาขึ้นลง และให้เอามือจับถุงทรายแล้วยกขึ้นลง ในที่สุดก็มีกำลังขึ้น หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งได้ และจับช้อนตักอาหารเองได้

เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 29 กันยายน 2515 หลวงปู่เริ่มใช้ไม้เท้าค้ำรักแร้หัดเดิน มีกำลังแข็งแรงขึ้นทุกวัน

 

มีอาการแทรกซ้อนทางตาซ้าย

ในขณะที่โรคที่มีในกระดูกดีขึ้น แต่หลวงปู่มีอาการทางตา หลวงปู่บอกให้หมอทราบว่า มีอาการปวดศีรษะข้างซ้าย และตาข้างซ้ายมองไปมีสีแดงสีเขียว มีหลายสีเหมือนกับรุ้ง หมอบอกว่า คงจะเป็นเพราะฉันยารักษาวัณโรคกระดูก โรคตากำเริบขึ้นเรื่อยๆ แต่หมอก็ไม่ได้ให้จักษุแพทย์ตรวจหลวงปู่

 

ปวารณาออกพรรษาในห้องผู้ป่วย

ถึงวันปวารณาออกพรรษา หลวงปู่กับผู้เขียนได้ทำพิธีปวารณาออกพรรษาตามพระวินัยบัญญัติ ในห้องผู้ป่วยที่ได้อธิษฐานจำพรรษานั้นเอง

เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงปู่ชอบ ฐานสโม และลูกศิษย์ก็เดินทางกลับ จ.เลย ขณะที่พระอาจารย์คำผอง กุสลธโร ซึ่งเป็นลูกศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่ชอบ และได้สัตตาหะมาเยี่ยมอาการอาพาธระหว่างพรรษาบ่อยๆ ได้เดินทางจากวัดป่าผาแด่น อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ลงมาเยี่ยมหลวงปู่ชอบ แต่มาไม่ทัน ท่านกลับไปก่อนแล้ว กลายเป็นว่าพระอาจารย์คำผองเกิดอาพาธปอดบวม ต้องนอนโรงพยาบาลแทนหลวงปู่ชอบล

 

หมออนุญาตให้เดินทางกลับ

หมอให้หลวงปู่พักฟื้นอยู่จนถึงเดือนธันวาคม 2515 เมื่อเห็นว่าหลวงปู่แข็งแรงขึ้น แผลผ่าตัดก็หาย หมอจึงอนุญาตให้หลวงปู่กลับได้ในวันที่ 23 ธันวาคม 2515

 

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยม

เมื่อท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบว่าหลวงปู่ดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้ ท่านจึงไปเยี่ยมหลวงปู่ในห้องผู้ป่วย และท่านได้ปรารภว่า "เราเป็นผู้ส่งท่านบุญจันทร์มารักษา และได้มอบให้หมอเป็นผู้ดูแลรักษา เราคอยฟังช่าวจากหมอเป็นระยะๆอยู่ เราจึงไม่มารบกวน เมื่อทราบว่าอาการป่วยดีขึ้น และหมออนุญาตให้กลับได้แล้ว เราจึงมาเยี่ยมดู เราเป็นผู้ส่งท่านมา เราจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด ทั้งค่าห้อง ค่ายา ให้ทางโรงพยาบาลคิดรวบรวมดูซิเป็นราคาเท่าไร อาจารย์จะเป็นผู้จ่ายให้" ในขณะนั้นอาจารย์หมอชวดีก็อยู่ที่นั้นด้วย จึงได้ติดต่อเคาน์เตอร์พยาบาล

ในระยะที่รอฟังผลค่าใช้จ่ายอยู่นั้น ได้มีพวกญาติโยมที่มาถวายอาหารตอนเช้ายังไม่กลับอยู่หลายคน ได้พากันกราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า "จะร่วมทำบุญช่วยค่าใช้จ่ายในการรักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ด้วย" ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงปรารภธรรมะ ให้เป็นเครื่องรื่นเริงแก่พวกโยมว่า "พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดอยากปฏิบัติเราตถาคต ก็๗งปฏิบัติภิกษุไข้เถิด ผู้ใดปฏิบัติพยาบาลภิกษุไข้ ผู้นั้นเท่ากับว่าได้ปฏิบัติอุปัฏฐากเราตถาคต ดังนี้" ธรรมะได้ชะโลมจิตใจของผู้ฟังอยู่ขณะนั้น ทำให้เกิดปีติ พวกญาติโยมถึงกับน้ำตาไหล รวมทั้งผู้เขียนด้วย ไม่รู้จะบรรยายอย่างไร ในขณะนั้นมันหากเป็นธรรมชาติของมัน ในจิตนี้มันนิ่มนวล มันอ่อนโยน มันอิ่ม มันซาบซึ้งในเมตตาธรรมของครูบาอาจารย์ที่ท่านมีต่อหลวงปู่ และมีความอิ่มเอิบในการที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากหลวงปู่

คุณหมอชวดีกลับมากราบเรียนให้ท่านพระอาจารย์มหาบัวทราบว่า "สำหรับค่าหมอที่รักษาท่านอาจารย์บุญจันทร์ อาจารย์หมอนทีขอยกถวายทั้งหมด ไม่คิดค่ารักษา สำหรับค่าห้องค่าอาหารของโรงพยาบาล ที่ท่านอาจารย์บุญจันทร์เข้ารับการรักษาเป็นเวลา 6 เดือน ทางโรงพยาบาลไม่คิด ขอยกถวายทั้งหมด" ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงกล่าวขออนุโมทนาในส่วนกุศลในครั้งนี้ด้วย เมื่อท่านทราบว่าทุกอย่างเรียบร้อยไปด้วยดีแล้ว ท่านจึงกลับไปพักที่วัดบวรนิเวศ

 

ไปบรรยายธรรมที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี

อาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ ได้กราบนิมนต์ให้หลวงปู่บรรยายธรรม ที่ห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะถึงวันเดินทางกลับ หลวงปู่ได้บรรยายธรรมในเรื่องการพิจารณากาย มีความโดยย่อว่า "คณะแพทย์ได้ศึกษาเรื่องกายภายนอกจนชำนาญอยู่แล้วเฃ่นการผ่าตัด การรักษาคนป่วยคนไข้ เห็นอยู่ทุกวัน ดูอยู่ทุกวัน แต่ยังขาดการน้อมเข้ามาดูกายของตน ทีนี้ให้น้อมเข้ามาดูกายของตน ในร่างกายนี้ประกอบด้วยอาการ 32 มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ประชุมกันอยู่ กายคนอื่นก็เหมือนกัน กายของเราก็เหมือนกัน ส่วนที่เป็นธาตุดิน ก็นับแต่ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก, ตับ, ไต, ปอด, ไส้น้อย, ไส้ใหญ่, อาหารใหม่, อาหารเก่า นี้เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำได้แก่ น้ำดี, น้ำเสลด, น้ำเหลือง, น้ำเลือด จนถึงน้ำมูก, น้ำมูตร นี้เป็นธาตุน้ำ พิจารณาให้เห็นเป็นของเน่าเปื่อย ไม่สวยไม่งาม เห็นภายนอกให้น้อมเข้ามาพิจารณาในกายของเรา เมื่อเห็นในกายของเราตามเป็นจริงแล้ว ใจก็จะไม่หลงยึดหลงติด จึงจะไม่วุ่นวายเดือดร้อนเพราะหลงกาย" นี้เป็นธรรมที่หลวงปู่ได้บรรยายในห้องประชุมแพทย์ ตึก 72 ปี โรงพยาบาลศิริราช

 

เดินทางกลับจากโรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 23 ธันวาคม 2515 หลังจากฉันเช้าเสร็จ ได้เก็บสัมภาระสิ่งของ ร่ำลาพยาบาลที่ให้การดูแลหลวงปู่ หลวงปู่ได้มอบปัจจัยที่ญาติโยมได้ถวายไว้เวลามาเยี่ยมป่วย ให้สำหรับซื้อเครื่องมือแพทย์ เป็นจำนวนเงิน 25,000 บาท หลวงปู่นั่งรถเข็นของโรงพยาบาล มีอาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ และภรรยาอาจารย์หมอนที และญาติโยมที่มีความเลื่อมใสในหลวงปู่ ได้ตามส่งหลวงปู่ถึงประตูเข้าตึกผู้ป่วย คุณธเนศ (กิมก่าย) เอียสกุล รับภาระในการส่งหลวงปู่กลับวัด ได้ให้คนขับรถนำรถมาคอยรับที่ประตูเข้าตึกผู้ป่วย ด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลวงปู่ขึ้นนั่งรถ มีผู้เขียนกับพ่อมูล ทัพพิลา นั่งข้างหลัง ญาติโยมที่ตามส่งหลวงปู่กราบลา รถออกจากโรงพยาบาลศิริราชเวลา 9.30 น. ถึงวัดป่าสันติกาวาส เวลา 17.00 น. หลวงปู่จากวัดไปเป็นเวลา 6 เดือน พวกญาติโยมทราบว่าหลวงปู่จะกลับวัด ได้มาชุมนุมคอยรับหลวงปู่ที่วัดเป็นจำนวนมาก

 

พึ่งบุญญาบารมีของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

การที่หลวงปู่อาพาธในครั้งนี้ นับว่าเป็นการอาพาธครั้งใหญ่หลวง เกือบจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ว่าได้ แต่ด้วยบารมีแห่งเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ คือท่านพระอาจารย์มหาบัว ท่านได้ช่วยเหลือทั้งภายนอกและภายใน ภายนอก ท่านได้ช่วยเรื่องการติดต่อฝากฝังกับหมอให้ดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ ทั้งการเดินทางไปและกลับ และค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งญาติโยมที่ให้ความอุปการะในปัจจัยสี่ ก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านทั้งนั้น ภายใน คือเรื่องธรรมที่หลวงปู่มีความเคารพในองค์ท่านเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ยอมไปรักษาตามคำสั่งของท่าน เพราะหลวงปู่ได้เล่าให้ฟัง หลังจากกลับจากโรงพยาบาลมาถึงวัดแล้วว่า "การป่วยครั้งนี้ เราได้เตรียมปล่อยวางทั้งหมดแล้ว ถ้าไม่ใช่พ่อแม่ครูจารย์บ้านตาดสั่งแล้ว เราไม่ไปเลย" หลวงปู่ได้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ให้ศิษย์ได้พึ่งพาอาศัยต่อมาอีกเป็นเวลาถึง 23 ปี จึงได้ละขันธ์ไป

ในคราวที่ผู้เขียนเฝ้าไข้หลวงปู่อยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชนั้น เดือนที่ 1 ผ่านไป พอเดือนที่ 2 ผู้เขียนเกิดความคิดวุ่นวายเร่าร้อนในใจว่า "เราเคยอยู่ป่าอยู่ในที่สงบ พอไปอยู่ในที่วุ่นวาย เกิดไม่สบายตา มองเห็นคนเดินวุ่นวายไปมาในโรงพยาบาลก็เร่าร้อนในใจ หูได้ยินเสียงทั้งคืนทั้งวันก็เร่าร้อน จะทำอย่างไร ถ้าเราจะหนีกลับวัดก็ไม่มีใครเปลี่ยน ถ้าอยู่อุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปก็เร่าร้อน" อยู่มาวันหนึ่งขณะที่เคลิ้มหลับไป จึงนิมิตฝันว่า ขึ้นไปกราบท่านพระอาจารย์มหาบัวที่ศาลาวัดป่าบ้านตาด พอกราบเสร็จท่านก็ชี้นิ้วมือมาที่หน้าผู้เขียน พร้อมกับพูดว่า "สติกับจิตให้มันห่างกันทำไม" พอได้ยินอย่างนั้น ปรากฏว่าในใจของเราเบาเย็นสบายไปหมด พอรู้สึกตัวขึ้น ความเร่าร้อนกระวนกระวายในใจได้หายไปหมด จึงได้ความว่า "เราเผลอสติ เมื่อตาเห็นก็ส่งจิตไปสำคัญมั่นหมาย หูได้ยินก็ส่งไป จึงวุ่นวายเร่าร้อน เมื่อมีสติเป็นคู่ของจิตอยู่ ความเราร้อนจึงหายไป เพราะจิตไม่ส่งไปตามสิ่งที่กระทบนั้น"

อีกครั้งหนึ่งผู้เขียนมีความกลัวในท่านพระอาจารย์มหาบัวมาก กลัวท่านจนเป็นทุกข์ กลัวว่าบางทีท่านมาเยี่ยมหลวงปู่ เราจะทำอย่างไรจึงจะถูก จึงจะไม่ผิด แล้วก็กลัวอยู่นั้นแหละ จนเป็นความทุกข์เร่าร้อนในใจ พออยู่มาวันหนึ่งขณะเคลิ้มหลับไป ก็นิมิตฝันว่า เข้าไปกราบท่านอีก ท่านเอามือชี้หน้าพร้อมกับพูดว่า "เข้าใจว่าครูบาอาจารย์เป็นเสือหรือ กลัวอะไรไม่มีเหตุผล" พอได้ยินอย่างนั้นจึงโล่งในใจ และรู้สึกตัวขึ้น จึงเข้าใจว่า เราไม่มีเหตุมีผล จากนั้นมาจึงหายเป็นทุกข์เร่าร้อน ผู้เขียนซาบซึ้งในบารมีธรรมและเมตตาธรรมของพ่อแม่ครูบาอาจารย์เป็นล้นพ้นหาประมาณมิได้

 

ท่านพระอาจารย์มหาบัวมาเยี่ยมที่วัด

หลังจากหลวงปู่กลับมาพักฟื้นอยู่ที่วัดไม่นาน ท่านพระอาจารย์มหาบัวได้มาเยี่ยมที่วัดอีก ในขณะนั้นหลวงปู่ยังนั่งเก้าอี้อยู่ เพราะนั่งราบธรรมดายังไม่สะดวก เมื่อหลวงปู่เห็นท่านพระอาจารย์ใหญ่เข้ามาในกุฏิ จึงพยายามจะลงจากเก้าอี้ ท่านจึงบอกว่า "ไม่ต้องลงหรอก ให้นั่งตามสบายคนป่วย" หลวงปู่กราบเรียนท่านพระอาจารย์มหาบัวว่า "ในขณะที่ป่วยอยู่โรงพยาบาลศิริราช พวกหมอผู้หญิงและพยาบาลผู้หญิงจะมาเจาะเลือดมาฉีดยา เกล้ากระผมไม่ยอมให้เจาะเลือดฉีดยา ขอให้หาหมอหรือพยาบาลผู้ชายมาทำให้ บางทีเขาก็แสดงกิริยาอาการไม่พอใจ" ท่านพระอาจารย์มหาบัวจึงพูดว่า "ที่ไหนมันถูกมันตรง ให้ยิงเข้าไปที่นั้นเลย ถ้ามันไม่ทะลุ เอาสิ่วเอาขวานช่วยเจาะช่วยฟันเข้าไป จนมันทะลุไปเลย ไม่ต้องหวั่นไหว" ท่านเยี่ยมหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านพูดว่า "จะกลับแล้วนะ ไม่ทรมานคนป่วยหรอก" แล้วท่านก็กลับไป

 

ศ.นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ ตามมาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด

ต้นเดือนมีนาคม 2516 อาจารย์หมอโรจน์มาเยี่ยมหลวงปู่ที่วัด ขณะนั้นตาข้างซ้ายของหลวงปู่ไม่สามารถมองเห็นอะไรแล้ว อาจารย์หมอจึงนิมนต์หลวงปู่ไปตรวจที่โรงพยาบาลอุดรธานี ปรากฏว่าตาหลวงปู่เป็นต้อหิน อาจารย์หมอจึงนิมนต์ให้หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ไปรักษาตาที่โรงพยาบาลศิริราช

วันที่ 17 มีนาคม 2516 หลวงปู่เดินทางโดยรถไฟลงกรุงเทพฯ ผู้เขียนติดตามไปด้วย หลวงปู่เข้าพักที่ตึกพลอย จาตุรจินดา โรงพยาบาลศิริราช อาจารย์หมอบรรจงศักดิ์เป็นผู้รักษาตาของหลวงปู่ พักรักษาอยู่ 22 วัน จึงได้เดินทางกลับวัด การรักษาตาซ้ายไม่สามารถทำอะไรได้ เป็นอันว่าตาซ้ายหลวงปู่เสียมองไม่เห็น รักษาไว้ได้เฉพาะตาข้างขวา ยังมองเห็นข้างเดียว

หลวงปู่แสดงเรื่องบุพกรรมให้ฟังว่า "นี้แหละกรรมที่เคยได้นิมิตว่าไปดูเขาชนไก่ เมื่อไก่ตัวที่เขาสับตาแตกแล้วมองมาหาเรา เหมือนเราเป็นเจ้าของมัน กรรมที่มีความยินดีไปดูกับเขานั้นแหละตามให้ผล ทำให้ตาของเราเสียมองไม่เห็น เป็นกรรมในอดีตชาติตามให้ผล ส่วนกรรมที่ถูกผ่าตัดที่ขาขวานั้น เป็นกรรมในปัจจุบัน คือ ตอนเป็นเด็กเลี้ยงวัวมีวัวตัวเมียตัวหนึ่ง เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก เวลามาถึงบ้านมันไม่เข้าคอก มันวิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนชาวบ้านเขา เขาก็ว่าให้ อยู่มาวันหนึ่งในขณะที่ไปเลี้ยงวัว ได้ถือเสียมไปด้วย เวลาต้อนวัวกลับเข้าคอก วัวตัวนั้นก็วิ่งเลยไปเข้าสวนหม่อนเขาอีก ด้วยความโกรธจึงซัดเสียมใส่ขาวัวถูกเส้นเลือดมันขาด ได้รับทุกขเวทนาอยู่นาน นี้แหละ กรรมอันนั้นตามให้ผลจึงได้รับทุกข์ทรมานเช่นเดียวกัน"

 

อกตํ ทุกฺขตํ เสยฺโย ความชั่วไม่ทำเสียเลยดีกว่า

หลวงปู่สอนว่า การทำสิ่งที่เป็นบาปเรียกว่า กรรมชั่ว การโกรธกัน ชังกัน เบียดเบียนกัน เป็นสิ่งไม่ดีเลย ให้รักกันดีกว่าชังกัน ทำความดีดีกว่าทำความชั่ว เมื่อเราทำกรรมดีหรือกรรมชั่ว เราจะเป็นผู้ได้รับผลของกรรมนั้นไม่ต้องสงสัย

 

พระอาจารย์คำ สุมงฺคโล มรณภาพ

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2516 ท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ซึ่งเคยเป็นสหธรรมิก จำพรรษาร่วมกันกับหลวงปู่ ในคราวที่อยู่จังหวัดอุบลราชธานี ได้ถึงแก่มรณภาพในขณะที่ท่านมีอายุเพียง 59 ปี หลวงปู่ไม่สามารถที่จะไปร่วมในงานถวายเพลิงศพได้ เพราะหลวงปู่ก็ยังไม่แข็งแรง ท่านจึงให้ผู้เขียนเป็นตัวแทนไปร่วมในงานถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์คำ สุมงฺคโล ที่บ้านเศรษฐี อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

 

ย้อนกลับ ต่อไป