พ.ศ. 2516 พรรษาที่ 38 จำพรรษาที่วัดป่าสันติกาวาส

พรรษาที่ 38

ในพรรษานี้หลวงปู่เดินไปบิณฑบาตที่สำนักชีได้แล้ว และนั่งขัดสมาธิ นั่งไหว้พระสวดมนต์ได้แล้ว แต่การอบรมญาติโยม การนำพานั่งสมาธิภาวนานั้น รู้สึกว่าจะผ่อนลง เพราะท่านก็มีกำลังอ่อนลงมาก ถ้านั่งนานเดินนานจะมีปฏิกิริยาที่ขาที่ผ่าตัด เพราะฉะนั้น การเดินจงกรมของท่านก็จะไม่ได้นาน จะรู้สึกเสียวที่โคนขาที่ผ่าตัด

 

ศ.นพ. โรจน์ สุวรรณสุทธิ นิมนต์ลงกรุงเทพฯ เพื่อตรวจตาและขา


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2517 หลวงปู่ลงกรุงเทพฯ ตามคำนิมนต์ของอาจารย์หมอโรจน์ เพื่อให้หมอตรวจอาการของตาและขาที่ผ่าตัดอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนได้ติดตามหลวงปู่ไปด้วย เดินทางโดยรถไฟถึงกรุงเทพฯ แล้วพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู หลวงปู่เข้ากราบนมัสการสมเด็จพระญาณสังวร (สมณศักดิ์ในขณะนั้น ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ที่ตำหนักคอยท่าปราโมช พอหลวงปู่จะกราบ สมเด็จฯท่านถามว่า "ท่านอาจารย์ได้กี่พรรษา" หลวงปู่กราบเรียนว่า "ได้ 38 พรรษา" สมเด็จฯท่านมีพรรษาแก่กว่าหลวงปู่ ท่านจึงยอมให้หลวงปู่กราบ เสร็จแล้วสมเด็จฯถามว่า "ท่านอาจารย์อยู่วัดไหน" หลวงปู่กราบเรียนว่า "อยู่วัดป่าสันติกาวาส อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี" (ในขณะนั้นไชยวานยังไม่ตั้งเป็นอำเภอ) สมเด็จฯท่านก็ไม่ค่อยพูด หลวงปู่ก็ไม่ค่อยพูด ท่านนั่งอยู่ด้วยกันครู่หนึ่ง แล้วหลวงปู่จึงกราบลากลับที่พัก

 

หลวงปู่เดินทางไปจันทบุรีครั้งที่ 2

เมื่ออาจารย์หมอโรจน์ สุวรรณสุทธิ นิมนต์หลวงปู่ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลศิริราช รู้ว่าอาการทุกส่วนดีขึ้น ไม่มีโรคแทรกซ้อน จึงกราบนิมนต์หลวงปู่ไปพักที่เขาสระบาป บริษัทสวนบ้านอ่าง อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี หลวงปู่รับไปตามที่อาจารย์หมอนิมนต์ หลังจากฉันภัตตาหารเช้าเสร็จที่วัดบวรฯ อาจารย์หมอได้นำรถมารับหลวงปู่และผู้เขียน เดินทางไปจันทบุรี ถึงบางละมุง อาจารย์หมอได้พาแวะพักที่บ้านทรายหาด บางละมุง ถวายน้ำฉันพอหายเหนื่อย แล้วเดินทางต่อผ่านสัตหีบ ระยอง ผ่านจังหวัดจันทบุรี เลยไปอำเภอมะขาม เข้าบริษัทสวนบ้านอ่าง

อาจารย์หมอได้ให้คนงานที่สวน ทำที่สำหรับให้หลวงปู่พักบนเขาสระบาป ใกล้กับธารน้ำที่ไหลออกจากเขา มีน้ำใสเย็นดี ที่สำหรับให้หลวงปู่พักนั้น ยกเป็นร้านปูไม้กระดานชนกับก้อนหิน ข้างบนใช้ผ้ายางมุงเป็นหลังคาชนกับก้อนหิน แขวนกลดมุ้งใต้หลังคาผ้ายาง ที่สำหรับผู้เขียนและอาจารย์หมอ ใช้เตียงตั้ง แล้วแขวนกลดมุ้งเลย ไม่มีหลังคา ที่เขาสระบาปนี้เป็นป่าดงดิบ เต็มไปด้วยสัตว์ป่า มีทั้งทากและเห็บ ต้องคอยระวังไม่ให้ทากและเห็บกัด ถ้ามันกัดแล้วจะเป็นไข้ เมื่อเดินทางถึงสวนบ้านอ่างแล้ว หลวงปู่จะเดินขึ้นเขาไม่ได้ เพราะขาของท่านยังไม่แข็งแรง อาจารย์หมอจึงให้คนงานเอาเก้าอี้หวายผูกไม้ขนาบสองข้างให้หลวงปู่นั่ง แล้วหามขึ้นไปที่พักบนเขา ทางขึ้นเขาก็เป็นทางพอคนเดินได้

 

โปรดหนุ่มตาบอดผู้ชายสองพี่น้อง

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่บนเขานั้น ตอนกลางคืนจะมีพวกโยมที่สนใจในธรรมะ ซึ่งบ้านอยู่ตามสวนใกล้ๆนั้น ขึ้นไปฟังธรรมะจากหลวงปู่ และมีผู้ชายสองพี่น้อง ซึ่งตาบอดทั้งสองคน ให้ญาติจูงขึ้นไปฟังธรรมจากหลวงปู่ด้วย หลวงปู่นำพาเข้าที่นั่งสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย แล้วประนมมืออธิษฐานจิตต่อพระรัตนตรัยว่า "บัดนี้ข้าพเจ้าจะตั้งใจปฏิบัติ เพื่อเป็นปฏิบัติบูชา ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับทั้งพระธรรม และพระอริยสงฆ์สาวก ขอให้น้ำใจของข้าพเจ้าจงสงบระงับตั้งมั่นเป็นสมาธิ มีปัญญาเฉลียวฉลาด สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกประการเทอญ" พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนแล้ว วางมือลง เอามือขวาวางทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง เอาสติความระลึกรู้ ระลึกพุท-หายใจเข้า ระลึกโธ-หายใจออก ไม่ให้พลั้งเผลอ ให้สติกับคำบริกรรมกลมกลืนกันอยู่ ไม่ต้องสนใจอย่างอื่น ให้ปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นลงในใจว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ใจ พระธรรมอยู่ที่ใจ พระอริยสงฆ์อยู่ที่ใจ ให้สังเกตดูว่า ใจของเราเชื่อมั่นลงจริงๆ แล้วก็บริกรรมพุท-หายใจเข้า โธ-หายใจออก เรื่อยไป จนกว่าจิตของเรารวมอยู่กับคำบริกรรมจริงๆ เรียกว่าจิตสงบจากสัญญาอารมณ์ภายนอก จะเกิดความเบากายเบาจิต มีความตั้งมั่นแน่วแน่ เด่นอยู่ในคำบริกรรมอันเดียว เรียกว่าจิตเป็นสมาธิ เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว เราจะหยุดให้ทบทวนดูเสียก่อน ว่าเราตั้งสติอย่างไร เรากำหนดอย่างไร แล้วยกมือขึ้นประนมนึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 หนเสียก่อนจึงออกจากที่นั่งภาวนา เมื่อออกจากที่นั่งภาวนาแล้วก็ให้ทำสติระลึกรู้ในอิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ให้ปล่อยจิตใจไปตามยถากรรม ให้เป็นผู้ฝึกจิตตั้งจิตอยู่เสมอ เมื่อเราเข้าที่ภาวนาทีหลังจิตจึงสงบได้ง่าย เมื่อจิตออกจากการพักในความสงบแล้ว ก็ให้พิจารณากาย และพิจารณาในจิต ให้เห็นเป็นสัจธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

เมื่อหลวงปู่หยุดนำนั่งสมาธิแล้ว ท่านจึงสอนหนุ่มตาบอดสองพี่น้อง ให้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เร่งประกอบคุณงามความดี ด้วยความเป็นผู้มีศีลและเจริญเมตตาภาวนา ผลของกรรมที่ทำให้เสียจักษุ ถือว่าเป็นกรรมเก่าที่ไม่ดีที่เราทำมาแล้ว ให้ยอมรับว่าเป็นผลกรรมที่เกิดจากเราทำมาแล้ว ต่อแต่นี้ไปให้ตั้งใจทำแต่กรรมดี ทำตนให้มีศีลห้าประจำ ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่เคารพและนับถือ หมั่นทำสมาธิภาวนาทำใจให้สงบขาดจากสัญญาอารมณ์ภายนอก เพ่งพิจารณาธาตุ 4 ขันธ์ 5 ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง แตกดับทำลาย ให้มันมืดแต่ตานอก ตาในให้มันสว่างจ้าอยู่อย่างนั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท ก็จะเป็นผู้พ้นจากกรรม เมื่อหลวงปู่หยุดการอบรมแล้ว พวกญาติโยมก็ลากลับ

 

พูดกับปลวกรู้ภาษากัน

ในขณะที่หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาปเป็นวันที่ 3 ตอนกลางวันฝนได้ตกลงมาอย่างหนัก ผู้เขียนต้องไปหลบฝนอยู่ที่ที่พักของหลวงปู่ เพราะมีผ้ายางมุง เมื่อฝนหยุดจึงกลับที่พักของตัวเอง พอถึงเวลาค่ำมืดแล้ว พวกโยมก็มาฟังธรรมหลวงปู่ตามเคยเหมือนทุกวัน ผู้เขียนก็นั่งอยู่เป็นเพื่อนหลวงปู่คอยปฏิบัติท่านอยู่ข้างๆ ในขณะที่หลวงปู่อบรมธรรมะญาติโยมอยู่นั้น ได้มีกองทัพปลวกยกขบวนมา คงจะหนีน้ำเพราะฝนตกตอนกลางวัน ขึ้นมาตามเสาร้านที่พักหลวงปู่ เข้าไปจนถึงเสื่อที่หลวงปู่นั่งอยู่ หลวงปู่จึงพูดกับปลวกว่า "อ้าว พากันขึ้นมาทำไป ที่นี่เป็นที่อยู่ของพระ ไป พากันกลับลงไปที่อื่น" หลวงปู่พูดจบลง ปลวกที่เป็นหัวหน้าขบวนก็หันกลับพาขบวนพวกปลวกทั้งหลายกลับลงไปจากร้านที่พักหลวงปู่หมด ทำให้ผู้เขียนซึ่งนั่งดูอยู่ข้างๆหลวงปู่ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง จำเหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่ลืม และนึกอยู่ในใจว่า "หลวงปู่ช่างพูดกับปลวกรู้เรื่องรู้ภาษากัน"

หลวงปู่พักอยู่เขาสระบาป 4 วัน ศ.นพ. โรจน์ ก็รับหลวงปู่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ พักที่กรุงเทพฯหนึ่งวัน แล้วก็เดินทางกลับวัดป่าสันติกาวาส อุดรธานี

 

ย้อนกลับ ต่อไป