โยม |
หลวงปู่คะ เวลาอยู่คนเดียวอยากจะทำใจสงบ แต่มันมีเสียงเหมือนอย่างคนเดิน จะทำอย่างไรคะ |
หลวงปู่ |
เราสมมติขึ้นมาว่าเราได้ยินเสียง สมมติขึ้นมาว่า ผีหลอกๆ เราสมมติขึ้นมาหลอกตัวเอง เราเป็นผู้สมมติขึ้นมาหลอกเราเอง |
โยม |
ไม่ทราบว่าลางดีไหมคะ พออยู่คนเดียว หลับตาได้ยินเสียงจากใจทุกที |
หลวงปู่ |
เราต้องทำความรู้เท่า อันนี้เป็นเรื่องจิตเจตสิก มันสมมติมาหลอกเราให้เรากลัว คิดปรุงขึ้นมาเอง เรียกว่าจิตเจตสิก ไม่จำเป็นต้องไปเรียนอภิธรรม จิตเจตสิกอยู่ในนี้ ท่านบัญญัติไว้เป็นปริยัติธรรม เราไปท่องจำเอาเฉยๆ เอามาจากที่ไหน ก็จากนี่ ฉปัญญัติ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขันธปัญญัติ ฉปัญญัติ อายตนปัญญัติ มีอยู่ที่กายที่ตัวของเรานี้ เราจะไปมองดูข้างนอก มันก็ไม่เห็นสักที เราต้องมองดูข้างในจึงจะรู้ จึงจะเห็น เจ้าผี 2 ตัว มันอยู่ปากถ้ำ มันกระทบกันอยู่ทุกวันๆ ผีตัวหนึ่งมันอยู่นี่ มันสมมติขึ้นมา มันอยู่ปากถ้ำ เมื่อเวลาเราสมมติขึ้นมาก็กลัวมัน |
โยม |
แต่ผีมีจริงนี่คะ |
หลวงปู่ |
มันก็เรื่องของผีต่างหาก เรื่องมันก็เป็นไปตามเรื่องของเขา เราอยู่เฉพาะตัวเรา ผีก็อยู่ตามเรื่องของผี |
โยม |
แล้วเราจะต้องทำยังไงคะ |
หลวงปู่ |
ไม่ต้องไปรับรู้ อะไรมากระทบมันก็มีเสียงขึ้นมา ไม่ต้องไปกลัวเสียง |
โยม |
เลยไม่กล้าหลับตาค่ะ |
หลวงปู่ |
ต้องรู้เท่าทัน อันนี้มันไม่ใช่ของดี เราจะไปกลัวตายทำไม เราเกิดมาเพื่อตาย เราจะไปกลัวตายทำไม มันจะตายอยู่แล้ว เราจะไปกลัวทำไม ไม่พ้นจากความตายแล้ว มันจะตายก็ปล่อยให้มันตาย ขอแต่ว่าให้เรามีสติ เราเคยพิจารณาอะไร หรือเคยบริกรรมอะไร เคยบริกรรมว่า พุทโธ หรือธัมโม หรือว่าสังโฆ ก็ว่าไปเลย ให้สติของเรา ใจของเราแน่ เราอย่าเพิ่งไปส่งออกข้างนอก
เราสมมติขึ้นมา เราก็เป็นคนกลัวเอง เราสมมติขึ้นมาแล้วก็กลัวเอง จะว่าคนโง่หรือฉลาด เพราะฉะนั้นใจของเราไม่อยู่เป็นปกตินัก ไม่อยู่เป็นสมาธินัก...ฝึกอบรมสติของเราได้เรียกว่า สติสัมปชัญญะ รู้ตัวอยู่นั้น ไม่ต้องไปสมมติ ดูที่ใจของเรานี้ กายของเรามันสมมติขึ้นมาเป็นรูปร่างขึ้นมา มันเป็นยังไง |
โยม |
หลวงปู่อธิบายเรื่องพิจารณากายด้วยครับ |
หลวงปู่ |
การพิจารณากาย เราจะตั้งสติในฐานที่ไหน มีหลายแห่ง ฐานที่ตั้งสตินั้น อยู่บนกระหม่อมแห่งหนึ่ง ที่ระหว่างคิ้วของเราอีกแห่งหนึ่ง ปลายจมูกนี้แห่งหนึ่ง ที่คอหอย ที่ลิ้นปี่ แล้วแต่เราแต่ท่าน เมื่อเวลาเราตั้งอยู่ในฐานไหน ให้กำหนดรู้เฉพาะในฐานนั้นก่อน นี้สำหรับเราเป็นผู้ฝึกจนกว่ามันจะชำนิชำนาญ หรือสติของเรามันกล้าพอ เมื่อเวลาตั้งในฐานนั้นมีการเกิดขึ้นมา เห็นมันมีอาการแปรปรวน เป็นต้นว่ามีการเปื่อยเน่าลงไปอย่างนี้ ถ้าปรากฏขึ้นอย่างนี้ เราก็เอาฐานที่นั้นเป็นหลักตลอดไป พิจารณาอยู่อย่างนั้นเมื่อเวลาเห็นความแปรปรวนอย่างนั้นก็ตั้งสติ กำหนดดูอยู่ ถ้าหากว่า ร่างคลี่คลายออก เราจะต้องรู้เองเห็นเอง ไม่มีใครบอก เราเห็นเองรู้เอง ถ้ามันคลี่คลายออก เราต้องเลือกเองให้ถูกต้องตามจริตนิสัยของเรา เมื่อเวลาพิจารณาไป มันขยายไปทั่วทางกายทั้งหมดของเราเอง มันเปื่อยเน่าลงไปเหลือแต่ร่างโครงกระดูก เมื่อเวลาเหลือแต่ร่างโครงกระดูก เรากำหนดละลายกระดูกลงไปอีก ให้มันกลายเป็นดินเป็นธาตุก็ดี นี่เป็นการพิจารณา พอเมื่อเวลากลายไปเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เรากำหนดสลายออกไปอีกก็ยังดี ส่วนธาตุเหล่านี้มันกระจายออกไปหมดแล้ว มันจะเหลืออะไรอีก เหลือแต่อมตธรรมเท่านั้น อมตธรรม คือ สิ่งที่ไม่ตาย ก็คือ ใจ นั่นแหละ มีแต่ใจล้วนๆ ใจบริสุทธิ์ เมื่อเวลาใจมันไม่มีอะไรมาเจือปนแล้ว มันจะผ่องใสแจ้งสว่าง มันก็ปรากฏอยู่ที่นั้น นี้เป็นการพิจารณา
แต่ว่าส่วนอื่นนั้นมันจะคลี่คลาย ตัวของปัญญามันจะเกิดขึ้นมาเอง เราคอยระมัดระวังติดตามอยู่ตลอด มันจะเกิดอะไรขึ้นมา นี้เรียกว่าวิจยะ ความสอดส่องในธรรม แต่ว่าคนเรามันกลัวเวทนา เช่น นั่งสมาธิ คอยแต่จะขยับ ไม่เกินความเจ็บเลย ปล่อยให้ความเจ็บทับถมอยู่อย่างนั้น ไม่เคยเขยื้อนอยู่อย่างนั้น ผลสุดท้ายก็เลยกลายเป็นนิสัย กลายเป็นนิสัยก็เลยไม่เป็นเลยที่นี้ กลายเป็นหมัน มันก็ไม่มีอะไรอยู่ หมายความว่า มันมีปัญญา แต่มันติดภพอยู่อย่างนั้น เมื่อเรานั่งเราเกิดเวทนา เกิดปวดเมื่อยขึ้นมา จะให้ผ่านจุดนี้ไปได้อย่างไร ต้องอาศัยความอดทน ขันติ-ความอดทน ต่อสู้ มันไม่เลยตายไปหรอก ให้นึกอย่างนี้ อย่างมากแค่ตายเท่านั้นแหละ ตั้งสติให้ดีๆ แล้วนั่งสงบอยู่เฉพาะจิต ไม่ต้องยึดว่ามันเจ็บที่นั้นปวดที่นี่ ใจไม่มีเวทนา เวทนาไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่เวทนา ความเจ็บไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ความเจ็บ แยกออกเป็นส่วนๆไป ต้องแก้วิธีนี้ เมื่อใดจิตเรารวมก็หายไปเลย เวทนามันก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะใจมันปล่อยวางอุปาทานขันธ์ เมื่อเวลามันปล่อยวางมันก็ไม่มีเจ็บ ใจของเรามันถอนจากสมาธิ จึงจะปรากฏความเจ็บขึ้นมา นี้อุปาทานขันธ์เกิดขึ้นอีกแล้ว มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าจะให้มันหายไปเลย นั้นก็ไม่ได้ มันมีอยู่อย่างนี้ เพราะว่าเรามีธาตุขันธ์อยู่แล้ว มันก็ต้องปรากฏอยู่อย่างนั้น เรียกว่า ธรรมแสดงอยู่ทุกเวลา อกาลิโก ไม่มีกาลไม่มีเวลา แต่ว่าผู้ที่จะใช้ ผู้ที่จะเอานั้นก็เอาได้ ถ้าไม่เอาก็เฉยๆอยู่ได้ |
โยม |
หลวงปู่คะ ก่อนนั่งจะทำยังไง หนูยังไม่เคยทำค่ะ |
หลวงปู่ |
ก่อนนั่งเราต้องไหว้พระ เสร็จแล้วเจริญเมตตา เสร็จแล้วเราก็นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ตั้งสติกำหนดบริกรรมว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ 3 จบ แล้วก็นึกเอาคำเดียว นึกพุทโธๆ หรือว่าเอาธัมโมๆ คำเดียว แต่ว่าไม่ให้ว่าหลายคำ ถ้าว่าหลายคำ เรียกว่า สาธยาย ตั้งคำบริกรรมภาวนา นึกคำบริกรรมภาวนาอยู่อย่างนั้น คอยระมัดระวัง มีสติรอบอยู่เสมอ ไม่ต้องส่งจิตออกไปข้างนอกไปตามสัญญาอารมณ์ อันนี้สติกับใจเท่านั้นครอบคลุมอยู่ เมื่อเวลาบริกรรมอย่างนั้นก็เอาจนตลอด เมื่อเวลาทำไปเราต้องสังเกตให้ดี ถ้าหากว่าจิตของเราสงบได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นขณิกกะก็ตาม อุปจาระ อัปปนา อย่างนี้เป็นต้น ถ้ารวมได้ในขณะนั้น ถ้าเป็นสมาธิอยู่ได้นาน หรือถ้ารวมเป็นขณะๆไปก็ตาม ถือว่าสิ่งนั้นถูกต้องกับจริตนิสัยของตน เราเคยบริกรรมภาวนาอะไร เมื่อเวลาจิตของเราถอนออกจากสมาธิแล้ว ต้องคอยเฝ้าดู เบื้องต้น เราเคยบริกรรมอะไร จิตของเรามันจึงรวมได้อย่างนี้ ให้รู้จักเบื้องต้น เมื่อรู้จักเบื้องต้นในอาการที่เราทำแล้ว เราต้องจำไว้แล้ว เราไม่ต้องเอาอย่างอื่นอีก เพราะมันเหมือนอย่างที่เราเคยทำแล้ว ถ้าเอาอย่างอื่นๆอีก ก็เขวไปอีก ลบเลือนไปอีก ถ้าเป็นโน้นถ้าเป็นนี้ ว่าภาวนาอย่างโน้นดี ว่าภาวนาอย่างนี้ดี นี้กระเสือกกระสน อยากจะทำตามท่านองค์โน้นองค์นี้ มันก็ลบเลือน แต่ความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะทำตามทำนองไหนก็ตาม เราต้องเอาที่นี้เป็นหลัก ขอแต่ว่าเราได้เบื้องต้นว่า เราทำอย่างไรจิตของเราจึงสงบได้ เราต้องเอาที่นี้เป็นหลัก เดี๋ยวก็เรียนบริกรรมเดี๋ยวก็เรียนโน้น เดี๋ยวก็เรียนนี้ ในอันที่สุดนี้เลยกลายเป็นคนขี้โลภไปอีก ก็เลยไม่เป็นอะไรสักอย่าง |
โยม |
หลวงปู่คะ เวลามันปวดขึ้นมา ทำอย่างไรจะหายเองคะ |
หลวงปู่ |
เราจะหายเองถ้าจิตของเรามันวางแล้ว วางจากสัญญาอารมณ์แล้ว คลายจากความยึดถือแล้วก็หายไปเอง ถ้าไม่วางก็ปวดอยู่อย่างนั้น อุปาทานขันธ์ ความยึดมั่นถือมั่น ในการเจ็บมันก็เป็นอยู่อย่างนั้น จิตไม่สงบ เราไม่จำเป็นที่จะไปบังคับให้มันหาย ขอแต่ว่าใจของเรามันขาดจากอุปาทานขันธ์ มันก็ปล่อยวางเอง ไม่ต้องบังคับ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการบังคับ แต่ว่าบังคับก็ได้ เพราะว่าเราอดทน มีขันติบารมี คือมีความอดทนอันนั้น |
โยม |
ทีนี้ถ้าเกิดมันลืมนึกถึงพุทโธล่ะคะ มันกลับมาปวดอีก |
หลวงปู่ |
นั่นสติไม่พอ สติยังไม่กล้า เมื่อเวลามันปวดขึ้นมา สติมันก็ไม่มี เรียกว่าสติอ่อน ถึงอย่างไรก็ตามมันเกิดขึ้นมาก็ตาม เราก็ไม่หยุดอย่างไรก็ตาม เราจะต้องอยู่อย่างนี้ เราจะอดทนอยู่อย่างนี้ จี้อยู่อย่างนั้นแหละ คล้ายๆกับว่าเราตอกไม้ จับจนตลอด จนทะลุไปเลย ถ้าเราจับแล้วยังไม่ทะลุก็ไปหยุดเสีย มันก็ไม่ทะลุเสียที เดี๋ยวก็ไปจับโน้น เดี๋ยวก็ไปจับนี่ มันก็ไม่มีทางที่จะทะลุได้ นี้ก็เหมือนกัน การภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าทำกันไป แล้วไม่ทะลุปรุโปร่งก็เลยหยุด มันก็เลยกลายเป็นนิสัยไปอีก เคยทำแค่นี้ มันก็มาถึงแค่นี้ ก็เลยหยุด อย่างนี้มันก็ไม่เป็นอะไรได้ซักคำ
|
โยม |
ถ้าเราตั้งใจใหม่ล่ะคะ |
หลวงปู่ |
ตั้งใจใหม่ก็เหมือนเก่า...ถ้าเราสติอ่อน เมื่อเวลาเวทนาบีบบังคับ เราก็ถอยอีก เพราะฉะนั้นต้องอาศัยขันติบารมีบังคับ อย่าไปปล่อยมัน เรามามอบกายถวายชีวิตแด่พระรัตนตรัย ถึงอย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ตายในสมาธิ ขอบูชาระลึกอย่างนั้น เพราะว่า ความดีอันนี้ ธรรมะอันนี้ เป็นของมีคุณค่ามากเหลือเกิน ต้องเอาชีวิตแลกเปลี่ยนจึงได้ ถ้าไม่เอาชีวิตแลกเปลี่ยนจะไม่ได้ ลองคิดดูซิ ตัวอย่างคือพระพุทธเจ้าของเรานี้ ทรงทรมานบำเพ็ญทุกรกิริยา อดข้าวอดปลา 49 วัน เราเคยทำไหม พระพุทธเจ้าพระองค์ทำถึงขนาดนั้น ถ้าพูดถึงความเพียรของท่าน อุตส่าห์พยายามทำจึงได้บรรลุธรรม ท่านเอาชีวิตแลกเปลี่ยน ร่างกายมันจะซูบซีดยังไงก็ตาม ก็ไม่สนใจ ขอแต่ว่าให้เห็นธรรมเท่านั้นก็พอ นี่พระพุทธเจ้าของเรา เป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นตัวอย่าง ต่อจากนั้น ก็มีสาวกเจ้าทั้งหลายเป็นครูเป็นอาจารย์ต่อมาอีก ก็มีครูบาอาจารย์ของเราที่มาประพฤติปฏิบัติ ในสมัยปัจจุบันนี้มีหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ เป็นต้น ต่อมาก็มีครูบาอาจารย์ หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่ขาว หลวงปู่คำดี หลวงปู่แหวน เป็นทอดๆมา ล้วนแล้วแต่ท่านฝ่าฟันอุปสรรคมาทั้งนั้น ท่านสู้อดทนมา เสือช้างมันจะทำลายก็ไม่กลัว มอบกายถวายตัว ขอแต่ว่าเราจะปฏิบัติธรรม เสือจะกินก็มา ท่านมอบกายถวายตัวถึงขนาดนั้น ต่อมาในระยะนี้ก็รู้สึกว่าครูบาอาจารย์ก็รู้สึกว่าดีแล้ว ต่อไปเราจะไม่มีครูบาอาจารย์ จะมีใครมาแนะนำสั่งสอนอีก เดี๋ยวท่านก็ล่วงลับไปหมดแล้ว เราจะไปหาที่ไหนทีนี้ นอกจากว่าจะอาศัยตนของตนเอง พึ่งตนเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน เราต้องพี่งเราเอง ปฏิบัติไปอย่างนี้ อย่าไปกลัวตายเท่านั้น ถ้าพูดถึงความตายแล้วมันก็กลัว |
โยม |
ไม่กลัวตายเจ้าค่ะ แต่ห่วงภาระเรื่องลูก |
หลวงปู่ |
ถ้าเรายังมีห่วงอาลัย ก็ชื่อว่าเรายังมีอุปาทาน ยังยึดถือว่าลูกหลานของเรา บ้านช่องของเรา เดี๋ยวก็จะเป็นนกกะทุงนา เขาว่าอะไรก็ของกู อะไรก็ของกู ลูกก็ลูกกู หลานก็หลานกู บ้านก็บ้านกู เมื่อเวลาหมดลมหายใจเอาไปได้ไหมล่ะ เคยเห็นใครหาบหิ้วเอาไปไหม บ้านช่องของใครเอาไปด้วย ผืนแผ่นดินน่ะมีใครเอาไปด้วย ผลสุดท้ายผืนแผ่นดินก็เอาเราไปกินอีก เราอย่าไปห่วง ให้ถือว่าเป็นธรรมดา เราอาศัยอยู่ชั่วระยะเท่านี้ก็พอ บุตรของเราเกิดขึ้นมา เขาเป็นหน้าที่ของเขาต่างหาก ถ้ามีวาสนาของเขาเอง เขาก็ทำตัวของเขาให้ดีได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปปรุงไปแต่งให้เขาดี เขาทำเขาเอง ด้วยบุญกุศลของเขาที่ได้บำเพ็ญมา ถ้าหากว่าบุญกุศลของเขา ไม่เคยได้บำเพ็ญมาแล้ว เราจะไปปรุงไปแต่งเราจะไปทำอย่างไร มันก็ไม่เป็นไปได้ |