โยม การที่นั่งสมาธิ แล้วตัดกิเลส ตัดอะไรมันตัดไม่ได้ คือเราเพียงแต่พยายามข่ม แต่ถ้าหากว่าเมื่อไหร่เรารู้จริง หมายถึงพอเรามองไปปุ๊บ บอกว่านี่เป็นปูนเป็นบ้าน แต่ถ้าเรามองออกไปแล้วเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่บ้าน แต่จริงๆแล้วมันเป็นธาตุเป็นอะไรอย่างนี้ คือเห็นทุกสิ่งให้มันเป็นจริง อันนี้อยากจะให้มันเห็น ทีนี้เรามองอะไรเนี่ยตั้งแต่เล็กโตขึ้นมาเนี่ย สิ่งแวดล้อมมันสอนเราว่า อ้อ แบบนี้มันเป็นแบบนี้ มันเป็นเหมือนละครไปหมดค่ะ แต่เมื่อไหร่ที่เห็นสิ่งเหล่านั้นให้เป็นจริง ไม่ใช่อย่างที่เราถูกฝึกมา มันก็คงจะดี มันก็คงจะไปเร็ว ทีนี้ทำอย่างไร วิธีของท่านทำอย่างไรจึงจะแลเห็นให้เห็นจริงๆ อันนี้แหละที่อยากทราบ ให้ท่านช่วยสอนวิธี เมื่อกี้ท่านบอกอันนึงแล้วว่าให้ใช้เวทนา ถ้าเลยเวทนานั่นไปแล้วถึงจะพบ แต่มันก็จะเป็นแบบสมถะ คือพอนั่นแล้วมันก็เพียงแต่ว่า ที่ท่านบอกว่าเย็นๆสบายๆ ทีนี้มันก็ไม่เห็นจริงๆ คืออยากให้เห็นของที่มันแท้ๆ
หลวงปู่

ก่อนที่จะเห็นก่อนที่จะรู้ ต้องทำจิตของตนให้สงบได้เสียก่อน ต้องถามใจตัวเองว่าทำจิตของเราให้สงบได้หรือเปล่า ถามเราดู หลวงปู่ก็เป็นแต่เพียงแนะแนวทางให้ฟัง ส่วนผู้ที่จะปฏิบัตินั้นก็เป็นหน้าที่ของเรา แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ไปดลดาลจิตใจของใคร ให้รู้ให้เห็นเองให้เห็นได้ ก็ทุกคนผู้ปฏิบัติจะพึงรู้ได้ พึงเห็นเอง สันทิฏฐิโก เป็นผู้รู้เองเห็นเอง เป็นหน้าที่ของผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจึงว่าให้ทำจิตของเราให้สงบได้ ถ้าจิตของเราไม่สงบแล้วมันก็ไม่เห็นไม่รู้อะไร มันก็มืดอยู่อย่างนั้น "ตโม โลโก" โลกอยู่ที่หัวใจมันมืด มันมืดอยู่ที่นั่น ลองเมื่อใครกำจัดความมืดนั้นออกจากใจแล้วจึงจะแจ้งจึงจะใส เปรียบอุปมาเหมือนพระอาทิตย์ เป็นสิ่งที่ใสบริสุทธิ์ ถ้ามีเมฆเข้ามาปิดบังแล้วแสงพระอาทิตย์จะส่องลงมาได้ไหม? ไม่ได้ แต่ส่วนพระอาทิตย์มันยังส่องสว่างไสวเฉพาะดวงพระอาทิตย์ ฉันใดก็ดี จิตของเราอันบริสุทธิ์นั้นก็มีความแจ้งความสว่างอยู่เฉพาะ ต่อเมื่อมีอวิชชาตัณหา หรือโลภ โกรธ หลง เข้ามาปิดบังแล้ว มันก็มืดเหมือนมีเมฆเข้ามาปิดบังพระอาทิตย์ ไม่สามารถที่จะส่องหรือแจ้งให้สว่างได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้อาศัยขันติ ขันติ-ความอดทน วิริยะ-ความเพียร ให้ทำ สู้อดสู้ทนไป นี่แหละจะทำให้คนแจ้ง ก่อนที่คนจะทำให้พระนิพพานให้แจ้งก็ต้องให้มันกำจัดความมืดออกจากใจเสียก่อน จึงจะแจ้ง จึงจะเห็นของจริง มีแต่เราอยากรู้อยากเห็นเฉยๆ อันนี้มันพูดกันยาก

คิดดูความเพียรของพระพุทธเจ้าก็ดี พระอริยเจ้าก็ดี เช่นตัวอย่าง พระเดินจนเท้าแตก พระจักขุบาล โน่นความเพียรของท่านทั้งอดหลับทั้งอดนอนด้วย อันนี้จะแสดงให้เห็นได้ว่า ความเพียรของท่านนั้นแหละเป็นสายกลางของท่าน เมื่อเวลาตาของท่านแตกออกแล้วนั่น ก็พร้อมกันนั้นนั่นแหละ เห็นธรรมรู้ธรรมได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์โน่น นี่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา พวกเราเนี่ยนั่งเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นแลหะ จะเป็นมัชฌิมาปฏิปทาที่ไหนได้ เพียง 5 นาทีเท่านั้นแหละ เห็นมั้ยล่ะจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา เป็นสายกลางได้ไหม นี่ให้เราเข้าใจอย่างนั้น ความจริงถ้าเป็นผู้มีความปรารถนาดี เร่งเอาเองปฏิบัติเอาเอง เราจะรู้เองเห็นเอง ไม่ต้องสงสัย สันทิฏฐิโก นั้นก็จะเกิดก็จะมีขึ้นแก่ใจของเราได้ ต้องเกิดได้ทุกคนไปสำหรับผู้ปฏิบัติ สันทิฏฐิโกเนี่ยเห็นด้วยตนเอง รู้ด้วยตนเองแจ่มแจ้ง ความสิ้นไปหมดไปแห่งกิเลสหรือตัณหาเราก็รู้จัก ไม่ต้องถามคนอื่น ไม่ต้องสงสัย เรารู้เองเห็นเอง ถ้ายังถามคนอื่นอยู่นั้น ท่านจัดได้ชื่อว่ายังไม่หมดยังไม่สิ้น เอาอย่างนั้น ถ้าอยากพ้นทุกข์กันจริงๆ ไม่เห็นว่าโลกอันนี้มันงามวิจิตรพิสดารอยู่ อยากหนีจากโลก จริงๆมันติดอยู่ในโลก เอาอย่างนั้น สำหรับโลกนั้นแหละผูกมัดสัตว์ไว้ไม่ให้หนีจากทุกข์ได้ วนเวียนอยู่อย่างนี้ ก็ยังสำคัญมั่นหมายว่าเรายังมีความสุขความสบายอยู่

ให้เข้าใจอย่างนั้น ทีนี้ต้องอดทน เอา 2 อย่างเท่านั้นแหละขันติ - ความอดทน วิริยะ - ความเพียร ข้าพเจ้าจะนั่งจนตลอดสว่างนั่นแหละ เอาอย่างนั้น ตั้งสัตย์ลงไปให้มันเป็นความสัตย์ความจริง ลองดู ถ้าหากว่ายังไม่เป็นยังไม่สงบได้ ข้าพเจ้าจะไม่ถอนจากสมาธิ พอตั้งสัตย์แล้วก็ทำจริงๆ ให้มันได้ตามความตั้งสัตย์เอาไว้ นี่รับรองเลยทีเดียว ถ้าไม่สงบเพียงคืนเดียวเท่านั้นไม่ต้องพูดถึง 7 วัน 7 คืน ถ้าหากว่าทำไม่ได้เช่นนั้นแล้วไม่รับรอง หรือจะนั่งอยู่คนเดียวแล้วก็พลิกโน่นพลิกนี่ ก็ยังไม่ยอมรับเหมือนกันนะ ไม่ยอมรับรอง

โยม ต้องไม่ขยับเลยหรือคะ
หลวงปู่ ต้องไม่ขยับเลย อยู่ท่าเดียวเลย
โยม ทั้งคืนเลยหรือคะ
หลวงปู่ ทั้งคืนนั่นแหละ
โยม เอาแค่ทีละชั่วโมงก่อนไม่ได้หรือคะ
หลวงปู่ ก็ได้ แต่เดี๋ยวเขาจะหลอกเรานะ กิเลสหลอก ย่อลงมาเพียงครึ่งชั่วโมงเสียก่อน ถอยลงมาจนไม่ทำเสียเลย
โยม ตัวอย่างเดียวใช่ไหมคะ หมายถึงเดินก็ไม่ได้ต้องนั่งอย่างเดียว
หลวงปู่ อย่างเดียวนั่นแหละ เอาท่าเดียวนั่นแหละ
โยม ถ้ายืนก็ยืนอย่างเดียว สงสัยจะโดนท่านอน
หลวงปู่ นั่นต้องกำจัดออกให้ได้
โยม ขั้นแรกบอกว่านอนท่าเดียวตลอดทั้งคืน
หลวงปู่ นอนท่าเดียวไม่พลิกก็ได้ ถ้าพลิกอย่างนี้ก็ต้องให้รู้สึกให้รู้ตัว มันอยากพลิกไปข้างโน้นข้างนี้ก็ให้มีสติ ไม่ต้องพลิก พอระลึกขึ้นมาก็ให้รู้ว่าเรานอนท่านี้มันปวดมันเจ็บ เราอยากจะพลิกไปข้างโน้น ไม่ยอมพลิกเนี่ย เอาท่าเดียวเอาอย่างนั้น
โยม อย่างนั้นท่านี้คงจะต้องเริ่มก่อนแล้วค่อยเขยิบไปท่าอื่น เอาท่านอนก่อน
หลวงปู่ เอาท่านอนก็รู้สึกว่ามันสบายหน่อย เดี๋ยวมันก็หลับไปเลยนะ
โยม มันก็ยังค่อยมีกำลังใจค่ะ
หลวงปู่ เราจะฝึกอย่างนั้นก่อนก็ได้ สำหรับเราฝึก ลองทดลองดูว่ามันจะเป็นอย่างไร เรื่องจิตใจของเรามันจะกล้าหาญเพียงแค่ไหน หรือเรื่องสติของเรามันจะเข้มแข็งขนาดไหน เราต้องทดสอบดูเสียก่อนก็ได้ แต่ว่าการทำอย่างนี้น่ะ โดยมากชอบอยากจะลดละลงไป ถูกเขาหลอกลวงแล้วก็เชื่อเขาไปเลย เชื่ออะไร เชื่อกิเลส ไม่เชื่อธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เชื่อกิเลสเป็นส่วนมาก เขาว่าอย่างไรก็ตามเขานั่น ตามกิเลส พระพุทธเจ้าว่า "สัจจัง เว อมตะวาจา" เราได้กล่าววาจาไว้แล้ว เราจะไม่ให้คลาดเคลื่อน ไม่ยอมเอาเลย โน่นมันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงว่าไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อกิเลส เอากิเลสเป็นศาสดา
โยม ขอไปทดลองค่ะ
หลวงปู่ ทดลองก็ทดลองได้ ไม่เป็นไร
โยม ท่านบอกพอรู้สึกตัวไม่ให้ขยับไม่ให้เปลี่ยนท่า
หลวงปู่

คุณ.....ภรรยาของทนาย..... ว่าจะอดนอนตลอดคืนว่าอย่างนั้น ไม่หลับเลยว่าอย่างนั้น พอค่อนคืนค่อนไปสักหน่อย เอาแล้ว มันรบกวน แหม! ทนไม่ไหวก็ลงเลยทีเดียว หลับไม่รู้ตัวทีเดียว หลับมันทั้งนั่งทั้งยืนนี่แหละ มันเป็นอย่างนั้น เรื่องเหล่านี้มันเป็นเพราะอะไร? เพราะสติของเรามันไม่กล้าพอ สติของเรามันไม่เข้มแข็งมันก็เลยเป็นอย่างนั้น

พากันตั้งอกตั้งใจทำจึงจะเป็นสมบัติของตัวอันแท้จริง ถ้าใครมีความอดทนได้ สู้อดสู้ทนได้ นั้นแหละเราจะเห็นอานิสงส์ หรือจะเห็นผลเกิดขึ้นเฉพาะตัวเรา ถ้าใครไม่มีความอดทน ขี้เกียจขี้คร้าน ไม่มีหวังไม่มีทาง เพราะฉะนั้นท่านจึงว่า "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" คนเราจะล่วงทุกข์ไปได้เพราะความเพียร อดเอาทนเอา เราเกิดมาต่อสู้ความทุกข์ความยากแล้วต้องสู้ ไม่ต้องกลัว ไหนๆก็ต้องแตกสลายทำลายแล้ว สังขารร่างกายอันนี้แหละ ไม่มีเหลือ แต่คนเรามาหลง มาหลงว่าเราจะไม่แตกไม่ดับทำลายง่าย นึกว่าจะอยู่เป็นกัปเป็นกัลป์โน่น ก็เลยลืมเนื้อลืมตัวไปเสีย ลืมจิตลืมใจไปเสีย นี้แหละคนเราจึงนิ่งนอนใจอยู่ เอาความสุขที่เจือปนด้วยอามิสนั่นแหละมา อยากนอนก็นอน อยากทานให้อิ่มก็ทาน อยากไปที่ไหนตามความต้องการ ก็ไปอยู่อย่างนั้น มันก็เลยเคยตัว ทีนี้ก็เลยลอยนวลอยู่ในโลกนี้ ลอยนวลอยู่ในอารมณ์นี้ ไม่รู้ตัว ไม่รู้ว่าคุณงามความดีเป็นยังไง ความชั่วเป็นยังไงไม่รู้จัก บางครั้งบางคราวก็เกิดอิดหนาระอาใจขึ้นมา ก็เบื่อหน่ายในการประพฤติปฏิบัติก็มี ถึงแม้ว่าเราทำไปก็ไม่เห็นผลอะไร เกิดอิดหนาระอาใจขึ้นมาก็เลยไม่ทำเลยก็มี เราทำมาพอแล้วไม่เห็นอะไรไม่เห็นผลอะไร เลยโทษอย่างนั้นก็มี มันเหมือนกับรู ท่านว่า รู้มันจะลึกเท่าไหน เราต้องแขนหรือว่าเอามือของเราสอดเข้าไป ก็เลยถือว่ารูนั้นมันลึกโน่น มันลึกเหลือที่สุด แขนของเราก็สอดเข้าไปก็ไม่ถึงก็เลยเลิกเสีย ก็เลยไม่ทำ ถอนตัวออก แต่ความจริงแล้วรู้นั้นมันก็ไม่ลึกเท่าไหร่ ถ้าเรามีความเพียรแล้ว มีขันติความอดทนแล้ว เดี๋ยวมันก็ถึง ไม่ว่ามันจะลึกแค่ไหน เรามันไปตีตนตายก่อนไข้ ท่านว่า ตนของตนปฏิบัติไม่ถึงแล้วก็เลยถือว่ามันเหลือวิสัย นี้เลยหยุด นี้ได้ชื่อว่าตีตนตายก่อนไข้ ย่อท้อไม่ทำต่อไปอีก ตั้งใจให้ดี อยากรู้อยากเป็นไม่เหลือวิสัย สิ่งที่เหลือวิสัยพระพุทธเจ้าของเราไม่เอามาสอนพุทธบริษัท สิ่งที่พอที่จะประพฤติปฏิบัติได้นั้น พระพุทธเจ้าจึงนำมาทรงสั่งสอนแก่พุทธบริษัทหรือเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

เอ้า จะทดสอบตัวเองก็ลองดู ใครจะทดสอบก็เอา ต้องฝึกฝนอบรมตน สู้อดสู้ทน คุณงามความดีไม่ได้อยู่นอกเหนือจากกายวาจาใจของเรา อยู่ที่นี่ทั้งนั้น เราจะมองข้ามตัวของเราไปไม่ได้ เราทำลงเมื่อไร จะเป็นผลเป็นประโยชน์กับตัวเราทั้งนั้น เราไม่ทำเมื่อไรก็ขาดผลประโยชน์จากเราทั้งนั้น เราจะไปเอาที่ไหน เอาชาตินี้หรือชาติหน้า อันนี้มันไกล เดี๋ยวก็อ้างว่าเอาชาติหน้าเถอะ อย่างนั้นอย่างนี้ หรือบางทีก็อวดอ้างว่าให้เราแก่เสียก่อน เราจึงจะประพฤติปฏิบัติศีลธรรม จึงจะรักษาศีลโน่น เมื่อเวลาแก่มาแล้วก็ถือว่าตนแก่ ปวดหลังปวดเอว ตาก็ไม่เห็นหน ไปที่ไหนก็ลำบาก ผลสุดท้ายก็เลยไม่ไปเลย โน่น เลยเสียเวลาไป เดี๋ยวก็หมดลมหายใจเท่านั้นเอง หมดสิ้นเลยลมหายใจ เปล่าประโยชน์ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

 

1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12